The great debate : เงินเฟ้อกลับมาจริงหรือไม่?

The great debate : เงินเฟ้อกลับมาจริงหรือไม่?

การกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดำเนินการกันอย่างพร้อมเพรียงทั่วโลก

 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้ นำพาความต้องการของสินค้าที่หดหายไปในปีที่แล้วกลับมาอีกครั้งหนึ่ง การกลับมาของความต้องการปริมาณสินค้ามหาศาลในสินค้าอุตสาหกรรม การเกษตร และ พลังงาน ส่งผลให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ทั่วโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแทบทุกหมวดหมู่

ผลกระทบต่อเนื่องที่สำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ อันเป็นผลมาจากราคาสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเด็นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อนี้ ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ตลาดการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เนื่องจากทิศทางการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ มีส่วนต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายด้านสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ข้อมูลการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา แสดงถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากข้อมูลที่ชี้วัดการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index หรือ CPI) และดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure หรือ PCE) ในเดือนเมษายน 2564  ล้วนมีรายงานการเติบโตของเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบมากกว่าสิบปี

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2564 มีการเติบโต 4.2% เมื่อเทียบกับปี 2563  ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในขณะที่ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ที่เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ติดตามเพื่อศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 0.7% เมื่อเทียบกับเดือน กุมภาพันธ์ 2564 และเติบโต 3.1% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 ที่เคยเติบโตในระดับเกิน 3 %

ไม่เพียงเท่านั้น การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) อันเป็นปัจจัยที่สำคัญในทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลต่อการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยข้อมูลการสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้า มีการเติบโตในอัตรา 3.4% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี

จากข้อมูลที่กล่าวไปเบื้องต้น ทำให้ประเด็นสำคัญของเงินเฟ้อต่อจากนี้ไป อาจไม่ได้อยู่ที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ แต่อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มขึ้นแค่เพียงชั่วคราว หรือ เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในระยะยาวกันแน่

ทั้งสองแนวคิดต่างมีเหตุผลมาสนับสนุนที่น่าสนใจ โดยในฝั่งที่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแค่เพียงระยะชั่วคราว ให้เหตุผลสำคัญว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมานั้น มีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานและการเดินทางที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ สาเหตุที่ราคาพลังงานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ มาจากราคาน้ำมันปี 2563 มีการหดตัวในระดับสูงในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ฐานที่ต่ำในปี 2563  ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวพุ่งสูงในปี 2564 นี้ ซึ่งจากสาเหตุนี้ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจึงควรเกิดขึ้นในระยะสั้น เพียงช่วงไตรมาสที่ 2  เท่านั้น และภายหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อควรมีการปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง

ในทางตรงกันข้าม นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้ จะเป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในระยะยาว ทั้งเม็ดเงินการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตหลากหลายชนิด ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ทั้งนี้ในอนาคต ภาคธุรกิจอาจมีความจำเป็นต้องผลักภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภคผ่านการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นสำหรับแรงงานในภาคบริการที่ในขณะนี้เกิดการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากในร้านอาหารฟู้ดเชนต่าง ๆ ในสหรัฐฯ

ด้วยข้อมูลเบื้องต้น เชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง เกินกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้จากการเติบโตของ Core PCE ที่ 2 % จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านการเดินทาง ในปัจจุบันที่ถือเป็นช่วงต้นของการฟื้นตัวด้านการเดินทาง พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของการเดินทางจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในทุก ๆ ด้าน ทั้งรถยนต์ รถโดยสารและการเดินทางโดยเครื่องบิน มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในระยะถัดไป ราคาของสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง เมื่อความต้องการปรับตัวลดลง

แม้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในระดับสูงอาจเกิดแค่ชั่วคราวในปีนี้ แต่สิ่งที่น่าติดตามกันต่อไป คือ ผลกระทบของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่ช่วยให้สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองมีการฟื้นตัวที่รวดเร็ว จะส่งผลอย่างไรต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะยาว ซึ่งนั่นจะส่งผลสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้างไปยังตลาดการเงินทั่วโลก