ขยะทะเล : วาระชาติที่ต้องไม่ละเลยชุมชน

ขยะทะเล : วาระชาติที่ต้องไม่ละเลยชุมชน

ขยะทะเลลอยตามกระแสน้ำข้ามประเทศข้ามทวีป ซึ่งหลายประเทศเริ่มตระหนักและหามาตรการเพื่อลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน

                   วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี คือ วันมหาสมุทรโลก หรือ World Ocean Day ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านมองประเด็นปัญหาขยะทะเลที่นอกเหนือจากมิติสิ่งแวดล้อม ยังมีมิติทางสังคมร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลของประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

A Plastic Ocean หรือ "มหาสมุทรแห่งพลาสติก" คือ หนึ่งในสารคดีที่นำเสนอสภาพความเปราะบางของแหล่งน้ำทั้งหลาย และเผยให้เห็นต้นตอปัญหาบางส่วนของขยะทะเล เกิดจากการไม่มีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคัดแยก และการทิ้งขยะตั้งแต่ต้นทางในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีชุมชนริมแม่น้ำ และชุมชนริมชายฝั่งทะเลตั้งอยู่หนาแน่น ส่งผลทำให้ขยะเหล่านี้กลายเป็นมลภาวะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร สิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศในน้ำ และยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย

จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะทะเลมากเป็นลำดับที่ 10 ของโลก (2563) จำแนกได้เป็นปริมาณขยะพลาสติกที่มีการจัดการไม่ถูกต้องรวม 1.03 ล้านตัน/ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลประมาณ 0.41 ล้านตัน/ปี ขยะส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกคิดเป็น 12% กล่องโฟม 10% ห่ออาหาร 8% ถุงก๊อบแก๊บ 8% ขวดแก้ว 7% ขวดพลาสติก 7% และหลอดดูด 5%

ขยะทะเลที่เกิดขึ้นส่วนมากมาจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ อีกทั้งยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับขยะมูลฝอยในประเทศไทย อ้างอิงจากข้อมูลขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล ปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย จำนวน 27.8 ล้านตัน/ปี โดยปริมาณขยะเกือบ 2 ล้านตัน หรือ 7.19 % ของปริมาณขยะทั้งหมด มาจากขยะชุมชนที่หมายความรวมถึงขยะที่มาจากชุมชนในเขตพื้นที่ริมปากแม่น้ำ และริมชายฝั่งทะเลรวมอยู่ด้วย

ประเด็นที่ผู้เขียนอยากชวนตั้งคำถาม คือ ทำไมขยะชุมชนที่ถือเป็นประเด็นปัญหาที่อยู่กับเรามานานกลับถูกละเลย ไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอมาโดยตลอด ซึ่งหากมีการจัดการให้ชุมชนคัดแยกและกำจัดขยะได้อย่างเป็นระบบและทั่วถึงจะไม่เพียงแก้ปัญหาขยะทั่วไปได้ แต่จะช่วยแก้ปัญหาขยะทะเลได้ด้วย  

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ผู้เขียนพบว่ามีสาเหตุ 3 ประการ คือ 1) ความเหลื่อมล้ำและการละทิ้งชุมชนไว้ข้างหลัง ส่งผลให้ชุมชนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่เปราะบางห่างไกลบางส่วนกลายเป็นกลุ่มชุมชนชายขอบ ประสบกับปัญหาความยากจน ไม่มีศักยภาพและความพร้อมในการจัดการขยะด้วยตนเอง 2) การขาดโครงสร้างพื้นฐานในระดับชุมชน เช่น การไม่มีถังขยะในชุมชน หรือการไม่มีรถเก็บขยะเข้าถึงในชุมชน เป็นต้น ซึ่งมีส่วนทำให้ สาเหตุที่ คือ 3) พฤติกรรมและรูปแบบวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชนริมชายฝั่งอาจมีความคุ้นชินทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลองหรือทะเล ไม่ได้รับการส่งเสริมแก้ไข

จาก 3 สาเหตุข้างต้น เห็นได้ว่าประเด็นปัญหาสำคัญที่สุด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง การละเลยกลุ่มชุมชนริมคลอง ปากแม่น้ำ และชุมชนชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลกระทบลุกลามมากยิ่งขึ้นจนนำมาสู่ปัญหาขยะทะเลในที่สุด

ดังนั้นการจัดการปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย ควรต้องส่งเสริมความร่วมมือ และให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำและชุมชนชายฝั่งทะเลทั่วประเทศซึ่งมีอยู่นับพันชุมชน ควบคู่ไปกับการอาศัยเวทีความร่วมมือทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ในการแก้ไขปัญหา     ดังเช่นที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการจัดทำ “ปฏิญญากรุงเทพ” เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาปริมาณขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาคร่วมกัน เป็นต้น

ที่ผ่านมานอกจากรัฐบาลได้มีส่วนผลักดันให้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ แล้ว ยังกำหนดให้ปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งเป้าหมายลดขยะทะเลให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีความพยายามใช้หลากหลายมาตรการทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เช่น การผลักดันการทดลองเก็บค่าใช้ถุงพลาสติก ในราคาเริ่มต้น 1.50-2 บาท การออกมาตรการลดปริมาณขยะที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย การผลักดันการวิจัยและสำรวจข้อมูลขยะทะเล การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลขยะทะเล การสนับสนุนโครงการอาสาสมัครเก็บขยะใต้ทะเล ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาต้นทาง คือ การไม่สร้างขยะใหม่เพิ่ม ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ต้องการลดการผลิตขยะต้นทางแทนการสร้างเตาเผาหรือบ่อฝังกลบกำจัดขยะนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการจัดหามาตรการส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนชายฝั่งทะเลในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และปลอดภัย ควบคู่ไปกับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถังขยะ และตำแหน่งจัดทิ้งขยะในชุมชน ตลอดจนต้องมีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะที่ถูกสุขลักษณะให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะทั้งในพื้นที่ชุมชน รวมถึงขยะทะเล อีกทั้งยังสามารถช่วยให้เป้าหมายการลดการสร้างขยะทะเลจากต้นทางภายในปี พ.ศ. 2570 ของรัฐบาลมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

วลี ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐบาลไทย ที่สะท้อนแนวคิด Inclusive Development แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องไม่ลืม ชุมชนริมคลองและชุมชนชายฝั่งทะเลเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมไทย รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับชุมชนเหล่านี้โดยการกระจายการบริการของรัฐให้ทั่วถึงเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน   ริมคลองและชุมชนชายฝั่งทะเล สามารถเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องรักษาทะเลไทยต่อไป

(บทความโดย เยาวลักษณ์ จันทมาศ, อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา)