ก้าวไปด้วยกัน เพื่ออนาคตที่ไกลกว่า

ก้าวไปด้วยกัน เพื่ออนาคตที่ไกลกว่า

สวัสดีครับ เราทราบกันดีว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความเปราะบางทางการเงินอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

 และแน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่พยายามดำเนินการเพื่อให้บรรลุ เป้าหมายที่ 1 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติใน “การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่” ต้องห่างไกลเป้าหมายออกไปอีก

มีรายงานที่น่าสนใจจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ว่าในปี 2563 ผู้คนกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในสภาวะยากจนอย่างรุนแรง (Extreme Poverty)  ขณะที่องค์การสหประชาชาติยังได้มีคำเตือนว่าจำนวนประชากรผู้ยากจนในบางภูมิภาคอาจทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี นอกจากนี้วิกฤตการณ์โรคระบาดในปัจจุบันได้ฉุดรั้งประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ให้ก้าวหน้ามากนักในแง่ของการดำเนินการตามแผนการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการใช้งบประมาณเพื่อปกป้องชีวิตของคนในประเทศ กับการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานด้านการสาธารณสุขและการศึกษา ตลอดจนความต้องการเร่งด่วนในด้านอื่นๆ

สิ่งที่น่ากังวลคือเศรษฐกิจโลกได้ก้าวเข้าสู่สภาวะถดถอยอีกครั้งและภัยโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศที่มีรายได้น้อยกับประเทศที่มั่งคั่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ มีการรายงานว่าประชากรกว่าร้อยละ 50 หรือคิดเป็นกว่า 1.7 พันล้านคนทั่วโลกต้องขาดรายได้ในช่วงที่เกิดการระบาดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และเป็นที่น่าสนใจว่าประชากรหญิงจะได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้มากกว่าประชากรชาย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการค้าปลีก การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหาร

ความรุนแรงของผลกระทบจากโรคระบาดยังสะท้อนให้เห็นได้จากตัวเลขการให้กู้ของ IMF ซึ่งได้ดำเนินการจัดหาเงินทุนฉุกเฉินไปแล้วเป็นมูลค่าสูงถึง 110,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ประเทศผู้กู้จำนวน 86 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 52 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ นอกจากนี้ IMF ยังได้ตั้งเป้าในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมกว่า 280,000 ล้านดอลลาร์ และเงินทุนภายใต้สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights หรือ SDR) กว่า 650,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนโดยที่ไม่ส่งผลกระทบกับการชำระหนี้ของแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

คำถามที่สำคัญคือโลกจะสามารถหลุดออกจากหลุมดำทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดนี้ได้อย่างไร  IMF ได้ประเมินว่าการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะยาวต่อทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจจะต้องใช้เงินทุนและทรัพยากรจำนวนมาก โดยแต่ละประเทศจำเป็นที่จะต้องสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.7 ของ GDP ต่อปีเพื่อใช้ในเยียวยาผ่านการพัฒนาประเทศต่อไป

คำถามถัดมาคือจะมีกลไกใดบ้างที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลังการระบาดครั้งใหญ่นี้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการหาจุดกึ่งกลางระหว่างพัฒนาการด้านการเงินและอัตราการชำระหนี้ การพัฒนาในระยะยาวและการระงับการใช้จ่ายบางรายการในระยะสั้น ตลอดจนการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ นี่ยังไม่นับรวมการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้รายงานจาก IMF ได้เสนอว่า ทางออกอาจเริ่มได้จากการส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจซึ่งจะช่วยจุดชนวนการเริ่มต้นของวงจรแห่งความรุ่งเรือง (Virtuous Circle) ทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้มีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตในภายภาคหน้า ประการที่สองคือการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดเก็บภาษีสำหรับการจ่ายค่าบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าในระยะกลางควรมีการเพิ่มอัตราส่วนภาษีต่อ GDP โดยเฉลี่ยร้อยละ 5 ผ่านนโยบายภาษีที่ครอบคลุมรวมไปถึงการปฏิรูปการบริหารซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็ยังถือว่าเป็นไปได้สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา  

 ถัดมาคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่าย การใช้จ่ายในการลงทุนภาครัฐประมาณครึ่งหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนานั้นจัดได้ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ความโปร่งใสและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยให้ภาครัฐสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยใช้งบประมาณที่น้อยลง และท้ายสุดคือ การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างการกำกับดูแลที่ดีและสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น

และหากประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งหันมาร่วมมือกันช่วยเหลือประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการเงินโดยเพิ่มการช่วยเหลือจากเดิมร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.7  ของรายได้รวมประชาชาติ (Gross National Income) จะช่วยให้ประเทศที่กำลังพัฒนาบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2573 หรืออาจจะช้ากว่านั้นเล็กน้อย Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2001 ได้กล่าวว่า “ความมั่งคั่งที่แท้จริงและยั่งยืนมีเพียงประการเดียวคือความมั่งคั่งที่ทุกคนมีร่วมกัน” และจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละประเทศต้องช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ครับ