“เงินกู้”-“กู้เงิน”การบริหาร  ที่ไม่ใช่“บาปทางการคลัง”

“เงินกู้”-“กู้เงิน”การบริหาร   ที่ไม่ใช่“บาปทางการคลัง”

  หลังรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ซีซั่น 2 และ บางโครงการเหมือนจะเป็นซีซั่น 3 แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้บังเกิดความ “ปัง(ปูลิเย่ต์)”

   หลังรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ซีซั่น 2 และ บางโครงการเหมือนจะเป็นซีซั่น 3 แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้บังเกิดความ “ปัง(ปูลิเย่ต์)” ทั้งในเชิงอารมณ์จากประชาชน และผลเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมุมมองนักเศรษฐศาสตร์

เศรษฐกิจโคม่า แต่จ่ายยาสามัญประจำบ้าน? ต้องมาสำรวจตรวจกระเป๋าซ้าย-ขวาของรัฐบาลว่า มีหน้าตักอยู่เท่าไหร่

“เงินกู้ตาม พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาทปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท +งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท(ใช้จริงได้แค่ 4-5หมื่นล้านต้องเก็บไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินอื่น เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ) และงบกลางสำหรับโควิด-19 ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเศษ +เงินกู้โควิดที่อนุมัติไปแล้วแต่ใช้ไม่ได้ตามเป้าที่อาจเรียกคืนมาอีก”

ตอนนี้มีเงินอยู่ตรงหน้าที่เอามาใช้เยียวยาได้เกือบ 3 แสนล้านบาทหละแต่เรื่องคงไม่จบสวยและสั้นกระชับอย่างนี้

เพราะถ้าสถานการณ์จบได้ภายใน พ.ค.นี้ และไม่เกิดระลอกใหญ่อีก ก็ประเมินว่า งบประมาณ 2564 ที่ได้มีการตั้งงบกลางฯ

โควิด-19 ไว้ เช่นเดียวกับในการตั้งงบประมาณปี 2565 ที่หน่วยงานต่างๆก็ได้มีการปรับปรุงงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์แล้วก็น่าจะเพียงพอดูแลกันไปได้จนกว่าประเทศไทยจะพ้นวิบากกรรมโควิด

สิ่งที่คิด อาจไม่ใช่ สิ่งที่ใช่ หากคุมโควิดไม่อยู่หละ "ความจำเป็นในการที่จะกู้เงิน“ ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจทั้ง 4 หน่วยงานสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการหารือกันตลอด” ควรเป็นตัวเลือกใหม่ หรือไม่ 

หากจะกู้เพิ่มมีเงื่อนไขเดียวคือต้องมีแผนการใช้ที่ชัดเจน และคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคตของประเทศเพราะเงินที่กู้มาแล้วตอนนี้ ภาระเกิดขึ้นแล้วโดย ปี 2565 มีการตั้งงบประมาณใช้คืนเงินต้นไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท และตั้งคืนดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ภาระในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่การอยู่ให้รอดในวันนี้ก็สำคัญ หากจำเป็นต้องกู้เงินจริงๆ สามารถที่จะดำเนินการได้โดยจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานเศรษฐกิจทั้ง 4 หน่วยงาน ก็จะให้ความเห็นประกอบถึงความจำเป็นที่จะต้องขยับเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ในระดับ 60%

หากรวมการกู้เงินตาม พ.ร.ก.สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 58% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับไปก่อนหน้านี้ระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 80 – 90% ของจีดีพี

ดังนั้น การกู้เงินเพิ่มจึงอยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการได้ แต่ในทางปฎิบัติจริงพบว่า ต้องมีการประเมินการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ในรอบที่ผ่านมาก่อนด้วยซึ่งขั้นตอนการประเมินนั้นทำโดยหลายหน่วยงาน และมีคณะกรรมการและกรรมาธิการ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ที่ทำงานในด้านนี้อยู่ด้วย ตรงนี้แหละเป็นของแสลงใจรัฐบาลที่ต้องนำปัจจัยทางการเมืองมาชั่งน้ำหนักว่า“เงินกู้”ที่ได้มา จะคุ้มกับการถูกตราหน้าว่าเป็นรัฐบาลดีแต่“กู้เงิน” หรือไม่ 

การมีตราบาปทางการคลังของประเทศไปอีกหลายสิบปี ไม่ดีต่อการขยับขับเคลื่อนทางการเมืองแน่ แต่แนวทางบริหารการเงินการคลังแบบเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านเช่นนี้ ไม่น่าจะสามารถกอบกู้สถานการณ์เศรษฐกิจกลับคืนมาได้

 ยังไม่รวมต้นทุนแฝงจากแผนบริหารวัคซีนที่ผิดพลาด จึงขอตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลว่า อย่ามัวแต่มาระแวดระวังทางการเมือง หรือ ทำงานแบบกลัวเจ็บตัว แต่ต้องทำงานเชิงบริหารในภาวะวิกฤติให้ได้เพราะการกู้เงินเพื่อนำเงินกู้มาใช้ฟื้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องตราบาปทางการคลังแต่มันคือการพาเศรษฐกิจและประชาชนให้รอดจากวิกฤติครั้งนี้