วัคซีนโควิดหนุน ส่งออกไทยดันจีดีพีโต

วัคซีนโควิดหนุน  ส่งออกไทยดันจีดีพีโต

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษถือว่ารุนแรงและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อและการตายสูงขึ้น

 การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษถือว่ารุนแรงและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อและการตายสูงขึ้น จนทำให้หลายจังหวัดต้องงัดมาตรการคุมเข้มในระดับสูง ทั้งปิดสถานที่ การใส่หน้าการอนามัย และการห้ามออกจากเคหะสถานหรือเคอร์ฟิวในหลายจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะนี้ที่รัฐบาลยังไม่กล้าพอที่จะประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่ยังคงบอบช้ำจากโควิด-19 รอบ1 และรอบ 2 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่รายได้หายไปกว่าหลายแสนล้านบาท

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจหลังเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ไว้ที่ 2-3 แสนล้านบาท โดยอยู่ในกรอบระยะเวลา 2-3 เดือนภายใต้การควบคุมการแพร่ระบาดได้ และประเมินว่า หากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆก็จะสามารถประคองให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีอยู่ในกรอบ 2.5-3 % 

ล่าสุดพล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เตรียมงบประมาณกว่า 3.8 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งต้องรอเคาะมาตรการต่างๆว่าจะออกมาอย่างไร พร้อมทั้งเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนต้านโควิด 3 แสนรายต่อวันให้ครอบคลุมประชาชน 70%ทั่วประเทศในสิ้นปีนี้

นอกเหนือจากเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยแล้ว การส่งออกของไทยยังเป็นตัวจักรและแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แม้ในยามที่เราต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด และชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่หายไป จากตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 2.27 % มูลค่า 64,148 ล้านดอลลาร์ แค่เฉพาะเดือนมี.ค.การส่งออกของไทยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24,222 ล้านดอลลาร์และสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย.2561 โดยมีอัตราการขยายตัว 8.47 % และคาดหมายว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้การส่งออกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขการส่งออกของไทยที่ดีขึ้นได้รับอานิสงค์จากที่ทั่วโลกเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากแรงสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกทำให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ยางพารา และเหล็ก

ไม่เพียงการส่งออกของไทยที่ขยายตัวดีขึ้น แต่การส่งออกของภูมิภาคเอเชียก็ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียการส่งออกขยายตัวถึง 60.31 % ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากความมั่นใจในเรื่องของการกระจายการฉีดวัคซีนไปทั่วโลก

จากสัญญาณการส่งออกที่แรงขึ้น สร้างความหวังว่า การส่งออกในปีนี้ของไทยน่าจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ 4 % โดยอาจเติบโตได้ถึง 7-8 % โดยมีปัจจัยเสริมจากมาตรการส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกกิจกรรมเร่งปั้มยอดการส่งออกจากกิจกรรมการค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดการเจรจาการค้ากับคู่ค้าต่างประเทศ ในรูปแบบไฮบริด เวอร์ชวล เทรดเอ็กซ์ซิบิชั่น หรือรูปแบบการจับคู่เจรจาธุรกิจ การเดินหน้าส่งออกของภาคเอกชน ซึ่งหากว่า เป็นไปตามคาด 

ยอดตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะเป็นฟันเฟืองสำคัญช่วยประคองเศรษฐกิจไทยโตได้ หลังเศรษฐกิจไทยโดนโควิด-19 เล่นงานอย่างบอบช้ำที่สุด