ความเฉลียวฉลาดทางสังคม

ความเฉลียวฉลาดทางสังคม

SQ เป็นตัวบ่งชี้ทักษะในการเข้าสังคมโดยตรง

นับเป็นเวลากว่าร้อยปีที่ความสำเร็จของมนุษย์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเฉลียวฉลาดหรือ IQ (Intelligence Quotient) ดังจะเห็นได้จากผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ล้วนเป็นผู้มีความฉลาดหลักแหลมนั่นคือมี IQ สูงด้วยกันทั้งสิ้น

ยุคก่อนปี 2000 เราจึงเห็นการยกย่องคนที่เรียนเก่ง จนสอบเข้าในสาขาวิชายาก ๆ เช่นแพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ได้ เพราะความฉลาดเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้เติบโตและมีโอกาสสร้างความสำเร็จได้มากกว่าคนทั่วไป จนกระทั่ง 15-20 ปีที่ผ่านเราเริ่มรู้จักคำว่าความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Quotient) ซึ่งหมายถึงคนที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตัวเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จึงทำให้สื่อสารและประสานงานกับผู้อื่นได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งนั่นกลายเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในชีวิตไม่น้อยไปกว่า IQ เลย

เพราะ EQ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคน ๆ นั้นมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้มากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เข้าใจตนเอง รวมถึงเข้าใจผู้คนรอบข้างก็ย่อมสร้างความพึงพอใจให้กับคนที่ทำงานด้วยจนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ทั้ง IQ และ EQ ก็ยังดูเหมือนไม่เพียงพอเมื่อสังคมโลกเปลี่ยนไปและโลกถูกเชื่อมโยงกันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน SQ (Social Quotient) หรือความเฉลียวฉลาดทางสังคมจึงถูกบัญญัติขึ้นและได้รับความนิยมแพร่หลายในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา

SQ เป็นตัวบ่งชี้ทักษะในการเข้าสังคมโดยตรง แตกต่างจาก IQ และ EQ ที่เน้นตัวบุคคลเป็นหลัก นั่นจึงหมายถึงทักษะในการเข้ากับผู้อื่น รวมถึงการปรับตัวเข้ากับผู้คนรอบข้าง บ่มเพาะให้กลายเป็นผู้นำได้ในอนาคต สอดคล้องกับการทำงานในทุกวันนี้ที่ความสำเร็จไม่อาจเกิดได้จากผลงานของคน ๆ เดียว หรือบางแผนกที่เก่งโดดเด่นอยู่แผนกเดียว แต่ต้องเป็นผลงานของคนทั้งองค์กรร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้ทำงานใหญ่ได้สำเร็จ

รวมไปถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งจะเติบโตไม่ได้หากมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จอยู่เพียงบริษัทเดียว แต่ต้องเป็นแทบทุกบริษัทที่ร่วมกันผลักดันให้ตลาดขยายตัวและสร้างความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งเมื่อทุกอุตสาหกรรมเติบโต ก็ย่อมผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง

การจะทำเช่นนั้นได้คนที่เป็นผู้นำจะต้องเป็นคนที่มี SQ หรือความเฉลียวฉลาดทางสังคมสูงกว่าคนทั่วไป เพราะเขาจะต้องสร้างให้คนทั้งบริษัทหรือทั้งอุตสาหกรรมมีความเชื่อเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อความสำเร็จร่วมกัน การจะทำเช่นนั้นได้จะต้องอาศัยองค์ประกอบแรกนั่นคือการทำงานเป็นทีม ซึ่งการวางแผน การวางกลยุทธ์ และการลงมือปฏิบัติจะต้องเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เปรียบเสมือนนาฬิกาจักรกลที่ฟันเฟืองแต่ละชิ้นส่วนล้วนมีความสำคัญ

หากฟันเฟืองตัวใดมีปัญหาก็ทำให้นาฬิกาหยุดเดินทันที คนทำงานแต่ละคนจึงมีความหมาย และเขาก็ต้องรับรู้คุณค่าของตัวเองในองค์กรว่าขาดเขาไปไม่ได้เลย เพราะหากใครคนใดคนหนึ่งทำงานผิดพลาดย่อมส่งผลถึงองค์กรโดยรวม ไม่ต่างอะไรกับนาฬิกาที่เดินช้าผิดปกติเพราะฟันเฟืองบิ่นไปเพียงเล็กน้อย