NPL ท่วมเมือง จะทำอย่างไรดี.......

NPL ท่วมเมือง จะทำอย่างไรดี.......

มาตรการปรกติธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ การโอนทรัพย์ชำระหนี้อาจได้ผล

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนยอดสะสม ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 148,106 คน ยื่นรายการหนี้ 314,405 รายการ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าข่ายจะต้องมี 3 ประการ ดังนี้ 1.ลูกหนี้ยังไม่เป็น NPL แต่เริ่มติดขัดหรือมีปัญหาในการชำระหนี้คืน 2.เป็นหนี้ NPL ยังไม่ถูกฟ้องและอยู่ระหว่างฟ้องร้อง และ 3.เป็นหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษารวมถึงกลุ่มที่บังคับคดีแล้ว โดยมีการปรับปรุงและยกระดับกระบวนการไกล่เกลี่ยผ่อนปรนเงื่อนไขการผ่อนหนี้รายเดือนให้ยืดหยุ่นกว่าเดิมมาก

'สุรพล โอภาสเสถียร' ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (ครดิตบูโร) แจงหนี้ ในระบบมีลูกหนี้ 30 ล้านคน ยอดหนี้ 12 ล้านล้านบาท ขณะนี้เป็นยอดเสียรวม 9 แสนล้านบาท ส่วนหนี้นิติบุคคล 4 แสนบริษัท เป็นหนี้เสีย 5% โควิดระบาดรอบ 2 ซ้ำเติมทุกหย่อมหญ้า หวั่นกิจการขนาดใหญ่จะเข้าสู่ Red Zone ตามรายย่อย ภาครัฐต้องวางยุทธศาสตร์รับมือโควิดลากยาวถึงปี 2565 ภายใต้คอนเซ็ปท์ 'อยู่ให้รอด' เหตุวงล้อแห่งปัญหาหมุนกลับไปที่เดิม ติดแหง็กยักแย่ยักยันเหมือนปี 2563 

ฝากถึงแบงก์อย่าแค่คิดรักษาตัวรอดและอยู่ใน Safe Zone ต้องเป็นเหมือนเรือที่ต้องออกจากฝั่ง ไปช่วยลูกค้าที่ลอยคอเท้งเต้งอยู่กลางทะเล การระบาดรอบนี้เราเรียกว่า ซอฟต์ล็อกดาวน์ คือล็อกไม่เต็มเหนี่ยวแต่สร้างกติกาให้เป็นเงื่อนไขว่าต้องเป็นอย่างนั้นต้องอย่างนี้ในบางพื้นที่ แบงก์ชาติสั่งการให้แบงก์รัฐและแบงก์เอกชนแบ่งลูกค้าออกเป็น เขียว เหลือง แดง แล้วรักษาตามอาการ แบงก์รัฐจะปฏิบัติตามมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 แบงก์เอกชนก็จะอิงกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาในวันเดียวกัน เงื่อนไขในการช่วยเหลือลูกหนี้จะกำหนดตามกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนักเบาแตกต่างกัน

ลูกหนี้ที่เป็น NPL ในระบบตามข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) เป็นลูกหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทำการแก้ไขผ่อนปรนเพื่อให้จำนวน NPL ลดลงให้มากที่สุด ทั้งสภาวิชาชีพบัญชีได้ออกมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้กำหนดแนวทางปฎิบัติฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 ผ่อนปรนทางบัญชีจัดชั้นลูกหนี้ตามหลักการของ TFRS 9 

การคำนวณหนี้สงสัยจะสูญด้วยวิธีอย่างง่าย ๆ ให้สามารถใช้ข้อมูลในอดีตโดยไม่ต้องนำข้อมูลคาดการณ์ในอนาคตมาคำนวณ ระยะเวลาผ่อนปรนเริ่มตั้งแต่ 1 มค 2563 ถึง 31 ธค 2564 ผลกระทบจากโควิด-19 ไม่สามารถคาดเดาได้ ถ้ามีการทำ Stress Test จากสภาพที่แท้จริงคาดว่าจะมีลูกหนี้ NPL เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

มาตรการปรกติที่ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้ การโอนทรัพย์ชำระหนี้อาจได้ผลเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่มสีเขียว และสีเหลือง ลูกหนี้ในกลุ่มสีแดงที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงลูกหนี้ในกลุ่มสีดำเช่นธุรกิจโรงแรมที่ปิดกิจการไปแล้ว จะต้องมีวิธีการพิเศษที่ใช้เครื่องมือแก้ไขหนี้ เช่น การสร้าง Ware House รับฝากหนี้ มีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลสินค้า ประคับประคองอีก 2 ปี มีเงินกู้ที่เรียกว่า Helicopter Loan สำหรับหนี้ที่สามารถฟื้นกิจการได้ 

ผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งรอบที่ 1 และ รอบที่ 2 รุนแรงมาก แต่ผมก็เชื่อว่าเราจะผ่านพ้นไปได้และประเทศไทยมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาได้ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่งมาก

จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เราสู้ได้แน่...