สยามกับการรับมือลัทธิล่าอาณานิคม (2)

สยามกับการรับมือลัทธิล่าอาณานิคม (2)

ไขปริศนา 2 คำถามกี่ยวกับพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่สี่ ที่ส่งไปยังผู้ว่าการเกาะปีนังในปี 2394 ช่วยให้สยามรอดจากภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม

ตอบคำถามเกี่ยวกับพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่สี่ที่มีไปยังผู้ว่าการเกาะปีนัง

ในบทความของผู้เขียนเรื่อง “สยามกับการรับมือลัทธิล่าอาณานิคม” (กรุงเทพธุรกิจวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564) ผู้เขียนได้เล่าว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จสวรรคต ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯกำลังจะเสด็จจึ้นครองราชย์  พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงพันโทดับบลิว. เจ. บัตเตอร์วอร์ท (W. J. Butterworth) ผู้ว่าการเกาะปีนังหรือเกาะปรินซ์ ออฟ เวล (Prince of Wales Island) ในปี พ.ศ. 2394 เพื่อแจ้งข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นนน และพระองค์ได้ทรงใช้คำลงท้ายใต้พระปรมาภิไธยว่า “newly elect President or Acting King of Siam”    

ผู้เขียนได้ทิ้งคำถามสองข้อให้ผู้อ่านลองคิดวิเคราะห์  ได้แก่                                                           

คำถามแรก   ทำไมพระองค์ทรง เลือกที่จะมีพระราชหัตถเลขาไปยังพันโทดับบลิว. เจ. บัตเตอร์วอร์ท (W. J. Butterworth) ผู้ว่าการเกาะปีนัง ? 

คำถามที่สอง การที่พระองค์ทรงใช้คำลงท้ายพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าวว่า “newly elect President or Acting King of Siam”  มีนัยอย่างไรต่อผู้รับสารดังกล่าว ?                                                                      

มาคราวนี้ ผู้เขียนจะขอตอบคำถามทั้งสองข้อนี้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะของอาณานิคมของอังกฤษ ในบรรดาอาณานิคมของอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมทั้งที่อื่นๆ แบ่งออกเป็นสองประเภท นั่นคือ อาณานิคมธรรมดาที่ใช้คำว่า “colony” กับ อาณานิคมในพระองค์ที่เรียกว่า “crown or royal colony” ในกรณีของอาณานิคมในพระองค์ จะมีการบริหารราชการอาณานิคมในพระองค์โดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลในพระมหากษัตริย์ มีผู้ว่าการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์บริหารราชการอาณานิคมตามคำแนะนำของรัฐบาลแตกต่างจากอาณานิคมธรรมดาที่ปกครองดูแลโดยบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company)                                                                                                                                                         

บริเวณที่เรียกว่า นิคมช่องแคบ (Straits Settlements) ถือเป็น อาณานิคมในพระองค์ นิคมช่องแคบประกอบไปด้วยปีนัง มะละกาและสิงคโปร์ โดยมีปีนังเป็นเมืองหลวงของนิคมช่องแคบ   มีนายพันโทดับบลิว. เจ. บัตเตอร์วอร์ท (W. J. Butterworth) เป็นผู้ว่าการที่ได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ถือเป็นผู้แทนโดยตรงของพระมหากษัตริย์อังกฤษ  ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงเลือกที่จะมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้ว่าการเกาะปีนังในฐานะที่เป็นผู้ว่าการที่ได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์อังกฤษ เพื่อให้ผู้ว่าการรายงานไปยังองค์พระมหากษัตริย์อังกฤษ หรือเท่ากับต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษได้รับทราบเกี่ยวกับการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์

และการเลือกที่จะติดต่อกับผู้ว่าผู้ว่าการเกาะปีนังในฐานะที่เป็น “อาณานิคมในพระองค์นี้ สามารถเชื่อมโยงกลับไปที่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงตั้งพระราชปุจฉากับร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นีย์เกี่ยวกับระเบียบประเพณีการปกครอง อันได้แก่ อำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ รัฐสภาและบริษัทอินเดียตะวันออก และบริษัทอินเดียฯได้ถวายรายได้หรือบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์อังกฤษหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจากการรับรู้ดังกล่าวอาจจะตกทอดมาถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ หรือพระองค์อาจจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสถานะของอาณานิคมในพระองค์ที่แตกต่างจากสถานะของบริษัทอินเดียตะวันออก ทำให้พระองค์ทรงเลือกที่จะติดต่อกับผู้ว่าการเกาะปีนังเพื่อให้พระราชหัตถเลขาของพระองค์ถูกรายงานไปยังพระมหากษัตริย์อังกฤษ                                                                                                           

ส่วนการลงท้ายด้วยข้อความว่า “newly elect President or Acting King of Siam”   นั้นย่อมมีความหมายต่อผู้รับสารว่า แม้ว่าพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศที่อังกฤษอาจจะเห็นว่าล้าหลัง แต่พระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐทรงมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองของตะวันตก โดยเฉพาะการปกครองของสหรัฐอเมริกา

และแม้ว่าพระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ตามราชประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์ทางสายโลหิต แต่พระองค์ก็ได้รับการยอมรับโดยผ่านการเลือกด้วย  และการที่พระองค์ทรงเลือกที่จะแสดงให้พระมหากษัตริย์อังกฤษเห็นว่าพระองค์ทรงรู้จักเข้าใจการปกครองของสหรัฐอเมริกานั้น

สามารถตีความได้อีกว่า พระองค์กำลังทรงสื่อให้พระมหากษัตริย์อังกฤษทราบว่า พระองค์ทรงทราบว่า ก่อนหน้าที่เกิดประเทศสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันเคยเป็นคนในอาณานิคมปกครองของอังกฤษมาก่อน และต่อสู้ประกาศอิสรภาพและปฏิเสธการปกครองราชาธิปไตย และสร้างรูปแบบการปกครองที่ผู้นำสูงสุดหรือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง 

อาจเป็นนัยว่า เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้นำสูงสุดที่ได้รับการยอมรับผ่านการเลือก แม้ว่าจะไม่ได้เลือกโดยประชาชนทั่วไป แต่ก็มีความชอบธรรมมากกว่าจะเสด็จขึ้นครองราชย์ลำพังตามสายโลหิตเท่านั้น และการอ้างตัวแบบการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหมายถึงการยืนยันที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นเอกราช ไม่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ                            

การเลือกดังกล่าวของพระองค์ถือเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพิธีการทางการทูตของชาติตะวันตก อันส่งผลให้พันโทบัตเตอร์เวิธกราบบังคมทูลถวายรายงานไปยังสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย และพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งให้เซอร์จอห์น เบาว์ริ่งเป็นอัครราชทูตเข้ามาเจริญพะราชไมตรีและเจรจาทำสนธิสัญญากับราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2398    ถือเป็นการยอมรับสถานะความเท่าเทียมกันของสยามในฐานะประเทศที่มีเอกราชและอำนาจอธิปไตยในสายตาของอังกฤษ  ซึ่งแต่เดิมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ครั้งที่จอห์น ครอว์ฟอร์ดเป็นทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสยามในปี พ.ศ. 2365  ครอว์ฟอร์ดไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แต่ได้รับแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการของอังกฤษในอินเดีย และเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้ฯที่อังกฤษได้ส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีเป็นทูตเข้ามาเจรจากับสยามในปี พ.ศ. 2368   ก็ได้รับการแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการของอังกฤษในอินเดียเช่นกัน                                                                                                                                                 

แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นครั้งแรกที่ทูตได้รับแต่งตั้งโดยจรงจากสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียให้เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับพระมหากษัตริย์สยามอย่างเท่าเทียมและสมพระเกียรติ  ถือเป็นการดำเนินพระราชวิเทโศบายที่ชาญฉลาดและเท่าทันการเมืองระหว่างประเทศของชาติตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการตั้งแต่ยังไม่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ 

น่าจะเป็นผลจากการที่พระองค์ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศและศึกษหาความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองและความเป็นไปของชาติตะวันตกตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ทรงผนวชเพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามในช่วงเวลาอันวิกฤตจากภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม.