ผู้ตรวจการแผ่นดิน มหาดไทย อปท.กับวัคซีนโควิด

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มหาดไทย อปท.กับวัคซีนโควิด

จากผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้สร้างความสงสัยให้แก่ผมและองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วไป

จากการที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นั้น ได้สร้างความสงสัยให้แก่ผมและองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วไปในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินและมองว่าเป็นการฉวยโอกาสของส่วนกลางในการที่จะเข้าไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรปกครองท้องถิ่นหรือไม่ มิหนำซ้ำนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตอกย้ำอีกว่าท้องถิ่นซื้อวัคซีนเองไม่ได้โดยอ้างหนังสือดังกล่าวอีกด้วย

ซึ่งรายละเอียดหนังสือฯได้ระบุว่า ด้วยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เรียนเชิญปลัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในกรณีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนัดชุมชน ซึ่งได้ให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ในการออกคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่เตรียมอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีปริมาณจำกัด ประกอบกับเพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

รวมทั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนและกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ตามหนังสือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย

อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2560 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

          (1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

          (2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น

 

          (3) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

          ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดําเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม (1) หรือ (2) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรต่อไป

          ในการดําเนินการตาม (1) หรือ (2) หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดําเนินการต่อไป

มาตรา 231 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณี ดังต่อไปนี้

          (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่อง พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

          (2) กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหา เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง

จะเห็นได้ว่าในกรณีวัคซีนโควิดนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เพียงเสนอแนะเท่านั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่มีอำนาจในการสั่งห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแต่อย่างใด และไม่มีกฎหมายใด ที่จะยกมาอ้างเพื่อบอกว่าท้องถิ่นไม่มีอำนาจเพราะในระดับ พรบ.ที่เป็นกฎหมายจัดตั้ง อปท.ทุกประเภท บัญญัติให้อำนาจเกี่ยวกับการป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในเขตท้องถิ่นของเขาไว้อย่างชัดเจน ถ้ากระทรวงมหาดไทยไม่ประสงค์จะให้ อบต.เทศบาล อบจ.ทั่วประเทศนี้  มีอำนาจหน้าที่ ป้องกันโรค  ก็ต้องไปแก้กฎหมาย ระดับ พรบ.เพื่อยกเลิกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวของ อบต.เทศบาล อบจ.รวมทั้งท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเสียก่อน แต่ ณ เวลานี้ กฎหมายระดับ พรบ.ยังกำหนดให้ อปท.ทำได้  

ดังนั้น  หาก นายก อปท.เห็นว่าส่วนกลางจัดหาล่าช้า  ไร้ความสามารถ  ประชาชนในเขต อปท.ของเขามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  ผมขอยืนยันว่า นายก อปท.สามารถจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนในเขต อปท.ของเขาได้เอง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อเอง อาจจะส่วนกลางซื้อแล้วท้องถิ่นมาดำเนินการแจกจ่ายก็ได้ ฯลฯ แต่จะมาบอกว่า อปท.ไม่มีอำนาจไม่ได้

การที่จะระงับยับยั้งอำนาจหน้าที่ของ อปท.  ที่กฎหมายระดับ พรบ.ให้อำนาจไว้  ไม่อาจกระทำโดยวิธีการสั่งระงับโดยปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี แม้เป็นมติ ครม.ก็ยังทำไม่ได้  แต่จะต้องเสนอต่อรัฐสภา แก้ไข พรบ.เพื่อยกเลิกเรื่องการป้องกันโรคออกไปจากอำนาจหน้าที่ของ อปท.เท่านั้น จะมาอ้างเอาเฉพาะคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นเพียงความเห็น มิใช่คำสั่งหรือกฎหมายไม่ได้

แต่ปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้แก้ พรบ.ดังนั้น อปท.ทุกแห่ง ทุกประเภท ย่อมมีอำนาจจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดได้เอง  หรือกลัวว่า อปท.จะจัดซื้อได้ราคาถูกกว่าส่วนกลาง แม้ อปท.ก็เช่นกัน ถ้าอาจจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดได้แต่ไม่ดำเนินการ ประชาชนในเขต อปท.สามารถฟ้องนายก อปท.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน

บ้านเมืองเราที่มันยุ่งๆทุกวันนี้ก็เพราะการกระทำที่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ หรือการทำหน้าที่ที่ไม่มีกฎหมายรองรับเช่นกรณีนี้น่ะครับ.