ปีที่อยากลืม…แต่ลืมไม่ได้

ปีที่อยากลืม…แต่ลืมไม่ได้

อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์สุดท้ายของปี 2020 เป็นปีที่หลายคนอยากลืมเพราะชีวิตคนทั้งโลกลำบากและมีการสูญเสียมากในปีนี้

ทั้งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โรคระบาดที่มาจากไวรัสโควิด-19 พูดได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ยอดผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่า 1.7 ล้านคน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกถึงขณะนี้มีมากกว่า 79 ล้านคน ซึ่งสูงมาก ในแง่เศรษฐกิจผลกระทบที่เกิดจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่จำเป็นต่อการหยุดการระบาดก็รุนแรง ประมาณว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวกว่าร้อยละ 4 ในปีนี้ เกิดปัญหาการว่างงานและความยากจนเพิ่มสูงขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

แม้ 1 ปีกำลังจะผ่านไปแต่การระบาดก็ยังไม่หยุด ยังมีการระบาดรอบ 2 รอบ 3 ในหลายประเทศรวมถึงไทย ขณะที่ความหวังที่จะมีวัคซีนหยุดการระบาดก็ยังดูเลือนลาง เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตขึ้นมามีความไม่แน่นอน นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นปีที่หลายคนอยากลืม และรอวันที่โลกจะกลับไปสู่ความปกติเหมือนที่เคยมีก่อนปี 2020

ในกรณีของเรา การสูญเสียชีวิตจากการระบาดมีน้อยโดยเปรียบเทียบ เพราะความสามารถในการควบคุมการระบาดทำได้ดีมากในช่วงต้น ทำให้ประเทศปลอดการระบาดในประเทศนานกว่า 5 เดือนช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมก่อนปี 2020 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤติคราวนี้จึงรุนแรง หลายสำนักประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวกว่าร้อยละ 6 และจะส่งผลกระทบไม่เท่ากันต่อคนในประเทศ ที่ถูกกระทบมากคือ คนส่วนล่างที่มีรายได้หลักจากภาคบริการและท่องเที่ยว ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการขนาดเล็กและย่อยที่ตกงาน ปิดกิจการ ขาดรายได้และต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นหลักในการประคองชีวิต

สิ่งเหล่านี้ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นเป็นแบบตัวอักษร K คือเศรษฐกิจของคนส่วนบนที่มีงานทำมีธุรกิจก็ฟื้นตัวจากการใช้จ่ายที่เริ่มมีมากขึ้น เป็นส่วนบนของตัวอักษร K ชี้ไปทางขวา ขณะที่คนส่วนใหญ่ การฟื้นตัวช้า เพราะตกงาน ขาดรายได้และยังต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นส่วนล่างของตัว K ที่เศรษฐกิจยังเป็นขาลง นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกลำบากในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้

แต่สิ่งที่วิกฤติครั้งนี้ได้เปิดให้เห็นและลืมไม่ได้ ก็คือ ความอ่อนแอหลายด้านที่ซ่อนอยู่ในเศรษฐกิจของเราที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว วิกฤติคราวนี้จึง “เปิดหูเปิดตา” ให้เราเห็นถึงความอ่อนแอที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งหมายถึงการเติบโตของรายได้ของคนในประเทศที่สูงขึ้นกว่าเดิม

ความอ่อนแอแรก คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี ซึ่งก่อนโควิดความเหลื่อมล้ำที่เศรษฐกิจเรามีก็รุนแรงอยู่แล้วจนติดอันดับโลก ขณะที่ความยากจนเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่สิ่งเหล่านี้ดูเป็นนามธรรม คือ มองไม่เห็นความรุนแรงของปัญหาในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัว แต่พอโควิดเกิดขึ้น ความรุนแรงของปัญหาก็ชัดเจนเมื่อคนในประเทศเกือบ 40 ล้านคนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในประเทศที่มีประชากร 67 ล้านคน นี่คือข้อเท็จจริง ที่สำคัญวิกฤติโควิดจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงมากขึ้น พร้อมจำนวนคนจนในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศเราได้มาถึงจุดที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะถ้ารุนแรงกว่านี้ปัญหาก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่มีการเติบโตของรายได้มากพอที่จะเป็นกำลังซื้อให้กับระบบเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงจำเป็น เป็นสิ่งสำคัญและลืมไม่ได้

ความอ่อนแอที่สอง คือ ประสิทธิภาพและความสามารถของระบบราชการที่จะสนับสนุนการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงที่ระบบเศรษฐกิจต้องมี เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันอยู่ได้ในโลกธุรกิจหลังโควิด ที่จะเป็นโลกที่แข่งขันกันด้วยความรู้ เทคโนโลยีและคุณภาพของบุคลากรทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ก่อนโควิด ความไม่มีประสิทธิภาพและการทุจริตคอรัปชั่นในระบบราชการก็เป็นข้อจำกัดสำคัญของการทำธุรกิจในบ้านเราอยู่แล้ว

แต่ที่เราเห็นจากวิกฤติคราวนี้คือ ความกระตือรือร้นและความสามารถที่จะตอบสนองต่อนโยบายที่ต้องการการแก้ไขโดยเร็วกลับขาดหายไป เห็นได้จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างทันเวลา ทำให้การแก้ไขเศรษฐกิจอ่อนแรงและต้องพึ่งพามาตรการแจกเงินเป็นส่วนใหญ่ ผลคือความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจมีมากกว่าที่ควรเป็นจากความล่าช้าของการผลักดันนโยบาย นี่คือสิ่งที่ลืมไม่ได้และต้องแก้ไข นั่นคือการปฏิรูปการทำงานของระบบราชการ

ความอ่อนแอที่สาม คือ ช่องว่างระหว่างสิ่งที่ภาคเอกชนควรทำเพื่อเตรียมให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในโลกธุรกิจหลังโควิดในแง่การลงทุนและนวัตกรรมกับสิ่งที่ภาคธุรกิจทำอยู่คือ ขยายธุรกิจผ่านการควบรวมซื้อกิจการที่ไม่ได้เป็นการลงทุนใหม่ คือ เศรษฐกิจมีกำลังการผลิตเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนความเป็นเจ้าของ ไม่มีนวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ๆ ที่จะแข่งขันกับตลาดโลกในอนาคต

ช่องว่างนี้เกิดจากระบบแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ที่เป็นผลจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไม่มีการพัฒนา ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการลงทุนใหม่ ไม่มีสินค้าใหม่ๆ ที่จะไปแข่งขันกับต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ก็ได้รับการปกป้องในการทำธุรกิจในประเทศ จนทำให้การทำธุรกิจในประเทศมีการแข่งขันน้อย ธุรกิจขนาดใหญ่มีอิทธิพลมากจากสัดส่วนตลาดที่มีสูงและความใกล้ชิดกับผู้ทำนโยบาย

สิ่งเหล่านี้ทำให้การแข่งขันที่มีน้อยเป็นข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจจากต่างประเทศ ผลคือไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศโดยผู้เล่นรายใหม่และเศรษฐกิจเสียโอกาส นี่คืออีกประเด็นที่ลืมไม่ได้และต้องแก้ไข เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากความอ่อนแอเหล่านี้ สิ่งที่ลืมไม่ได้อีกอย่างก็คือ ผลระยะยาวที่วิกฤติโควิดจะมีต่อเศรษฐกิจของเราผ่านผลกระทบต่อคุณภาพของการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ จากการเรียนการสอนที่ต้องปิดและหยุดเรียนเป็นเวลานาน ทำให้เราอาจได้ผู้จบการศึกษาที่ขาดคุณภาพสวนทางกับโลกที่กำลังเปลี่ยนเร็ว ขับเคลื่อนโดยพลังของเทคโนโลยีทั้งในแง่อีคอมเมิร์ซ และการใช้เทคโนโลยีแก้ไขหรือลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรม บริการหรือเกษตรกรรม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ชี้ว่า ความรู้และการใช้ความรู้จะสำคัญมากต่อการแข่งขันและการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงความยั่งยืนของเศรษฐกิจในแง่สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ทำให้การปฏิรูประบบการศึกษา จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามคือ เราจะเดินต่อไปอย่างไรหลังปี 2020 ทางเลือกที่มีคือ หนึ่ง พยายามกลับสู่โลกเดิมของการเติบโตแบบส่วนบนของตัว K ที่เศรษฐกิจพึ่งการส่งออกที่นับวันจะแข่งขันไม่ได้เพราะไม่มีนวัตกรรม พึ่งภาคท่องเที่ยวที่เราต้องแข่งด้วยราคาไม่ใช่คุณภาพ ขณะที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือ สอง สร้างความเข้มแข็งให้กับส่วนล่างของตัว K ที่เป็นคนส่วนใหญ่ด้วยการปฏิรูประบบการศึกษาและทักษะแรงงาน ทำระบบแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้การแข่งขันในประเทศเป็นธรรมมากขึ้น และปฏิรูปการทำงานของระบบราชการเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดจนเศรษฐกิจไม่มีการลงทุน

นี่คือโจทย์และการบ้านที่รออยู่