Brain’s 4 Networks

Brain’s 4 Networks

ผมเขียนเรื่องผู้นำสมองมาร่วม 10 ปีแล้ว ตั้งแต่คอลัมน์ Leading-Out-of-the-Box จนถึง Leading-Out-of-Thailand

นับตั้งแต่หนังสือ สมองตัดสินด้วยหัวใจ (2013) กับกรุงเทพธุรกิจ ผู้นำสมองใคร ๆ ก็เป็นได้ (2014) ปรับสมองเปลี่ยนชีวิตพิชิตเป้าหมาย (2016) และ เส้นทางแห่งผู้นำ (2018) ตั้งแต่ทำงานอยู่กับสลิงชอต กรุ๊ป โกอินเตอร์มาอยู่กับ The Iclif Leadership and Governance Centre จนปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ปฏิบัติ Professor of Practice กับ Asia School of Business with MIT Sloan

ก็ยังเขียนเรื่องผู้นำสมองอยู่ เพราะอะไร? คำตอบง่ายมาก เพราะสมองเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งน่าเรียนรู้ The more we know the more we don’t know

 ข้อมูลมากมายบ่งชี้ว่ามนุษย์ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะเกี่ยวกับการใช้สมอง Dr. John P. Kotter กูรูด้าน Leading Change บอกว่า 70% ของการเปลี่ยนแปลงในองค์กรล้มเหลว McKinsey & Co ในปี 2020 พบว่ามีเพียง 16% ของ Digital Transformation ที่ประสบความสำเร็จ

 Prof. Dan and Chip Heath ผู้เขียนหนังสือ Switch, Made to Stick, และ Decisive แชร์ข้อมูลว่าการตัดสินใจ 83% ของผู้นำไม่ได้สร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทอย่างที่คิดไว้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า 4 ใน 10 ผู้บริหารซึ่งองค์กรดึงตัวมาถูกเลิกจ้างภายใน 18 เดือน ทนายเกือบครึ่ง (44%) ไม่แนะนำให้บุตรหลานเรียนสาขาอาชีพเดียวกับตน 50% ของครูลาออกจากงานภายในสี่ปี และงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า โอกาสที่ครูจะลาออกจากงานมีสูงกว่าโอกาสที่เด็กจะลาออกจากโรงเรียนถึงสองเท่า!

 งั้นผ่านมา 10 ปีแล้ว ผู้นำสมองเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง?

 ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มล่าสุดของ Doctor Tara Swart ซึ่งเขียนร่วมกับ Kitty Chisholm, and Paul Brown ชื่อ Neuroscience for Leadership: Harnessing the Brain Gain Advantage

 หนังสือเล่มนี้อัพเดตข้อมูลล่าสุดด้านสมองกับผู้นำ ที่สำคัญเป็นเล่มแรกซึ่งสรุประบบต่าง ๆ ของสมองไว้อย่างกระชับ เข้าใจง่าย อ้อ และคุณหมอ Tara เป็นหนึ่งในเพื่อนอาจารย์ของผมที่ MIT Leadership Center

 ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

  • ระบบที่หนึ่ง Control Network หน้าที่หลักของสมองคือรักษาร่างกายให้รอด แม้ตอนนี้เราอาจไม่ได้มีศัตรูทางกายเหมือนเมื่อสมัยหนีเสืออยู่ในป่า แต่สำหรับสมอง ภัยทางสังคมก็ไม่ต่างกัน ในบท Why is the Soft Stuff So Hard? ทักษะการเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์ตัวเอง การวางแผนจัดการเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ล้วนเป็นหน้าที่ของระบบสมองระบบนี้ มนุษย์วิวัฒนาการมาอยู่จุดนี้ได้ก็เพราะเราเรียนรู้การใช้สมองส่วนนี้ได้ดีกว่าสัตว์อื่น
  • ระบบที่สอง Reward Network สมองจะเดินเข้าหาสิ่งที่เป็นเพื่อนและวิ่งหนีสิ่งที่(น่าจะ)เป็นศัตรู การทำงานในองค์กรเราเคยใช้ระบบนี้จูงใจให้ได้งาน เช่น การให้รางวัลด้วยเงินเดือน เลื่อนขั้น แจกโบนัส และลงโทษเมื่องานไม่ได้ผล แต่ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไป และความเข้าใจสมองมากขึ้น องค์กรและผู้นำระดับโลกเริ่มเปลี่ยนแรงจูงใจมาเป็น intrinsic มากกว่า extrinsic เช่น Values and Purpose Based Organization สร้างวัฒนธรรมค่านิยมร่วม เพื่อ better future
  • ระบบที่สาม Affect Network สมองส่วนหลังแห่งอารมณ์คือระบบอันทรงพลังนี้ อารมณ์เป็นเหมือนพวงมาลัยที่บอกสมองว่ามันควรเลี้ยวไปทางไหน หากหัวหน้าทำให้ผิดหวังเสียใจ สมองก็จะบันทึกอารมณ์นั้นไว้ว่าให้ร่างกายอยู่ห่างๆ หากหัวหน้าทำให้ลูกน้องรู้สึกไว้ใจ ได้อิสระ สร้างผลงานร่วมกัน สมองก็จะบันทึกอารมณ์ดี ๆไว้สร้างความรู้สึกทุ่มเทผูกพัน ในโลกที่ 75% ของพนักงานบอกว่าแรงขับเคลื่อนมาจากภายใน (Open Source Leadership, 2017) ผู้นำแห่งอนาคตคือผู้นำที่รู้ว่าได้ใจแล้วจะได้งาน
  • ระบบที่สี่ Default Network ระบบสุดท้ายนี้แจ่วสุด เพราะมันคือการ Thinking by not thinking การไม่ตั้งใจคิดอะไรไม่ได้แปลว่าสมองไม่ทำงาน ตรงกันข้าม สมองมนุษย์แอคทีพเป็นพิเศษเมื่อมีพลังงานเหลือมาใช้ในการครุ่นคิด การที่เด็กนั่งตาแป๋วฟังครูในห้อง หรือการที่พนักงานนั่งพิมพ์อะไรต่อมิอะไรง่วนทั้งวัน จึงอาจไม่ใช่วิธีวัดผลความสำเร็จอันตรงตามการทำงานของสมองเสียทีเดียว ในยุคที่ความอยู่รอดคือนวัตกรรม Innovation ความสร้างสรรค์ Creativity และ การเปลี่ยนแปลง Agility ผู้นำต้องเรียนรู้ว่าการนำโดยให้อิสระ Freedom within The Framework ทำอย่างไร ใครสนใจก็ย้อนกลับไปอ่านตอนที่ผมเคยเขียนถึงทักษะการบริหารลักษณะนี้ไว้ได้ครับ

The more we know the more we don’t know ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งมีเรื่องใหม่ให้เรียนรู้ ผมพยายามหาตัวเลขเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าปัจจุบันเรารู้เกี่ยวกับสมองมากแค่ไหนก็หาไม่ได้ มากสุดที่เจอคือนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเรา รู้น้อยมาก’ still know very little about the brain

แต่สำหรับผู้นำ ไม่ต้องกังวลครับ แค่ตามอ่านเรื่องผู้นำสมองของเราต่อไปในปี 2021 และปีต่อ ๆ ไปก็พอ

สวัสดีปีใหม่ครับคุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน!