คอนเสิร์ตร็อค ช็อกโกแลต และ Visual Management

คอนเสิร์ตร็อค ช็อกโกแลต และ Visual Management

ปี 2020 โลกได้สูญเสีย นักกีตาร์ฮาร์ดร็อคที่มีชื่อเสียงมากในยุคทศวรรษ 80 Eddie Van Halen ต้นแบบวิธีการเล่นกีตาร์โซโลแบบนิ้วจิ้มสายแทนการดีด

ปี 2020 โลกได้สูญเสีย นักกีตาร์ฮาร์ดร็อคที่มีชื่อเสียงมากในยุคทศวรรษ 80 Eddie Van Halen วงดนตรี Van Halen ของเขามีเพลงติดอันดับ 1 ของ Main Stream Rock นิตยสาร Billboard ถึง 13 เพลง หากเคยเห็นวิธีการเล่นกีตาร์โซโลแบบนิ้วจิ้มสายแทนการดีด นั่นคืออิทธิพลจากนักกีตาร์คนนี้

วง Van Halen มีการจัดการคอนเสิร์ตที่สนุกสานเร้าใจ พร้อมกับประเด็นน่าสนใจ ให้กล่าวถึงกับการเชื่อมโยงแนวคิด Visual Management เพื่อร่วมอาลัยนักกีตาร์ในตำนานผู้จากไปด้วยครับ

 

ช็อกโกแลต M&M กับ คอนเสิร์ตร็อค

หากเราเป็นผู้จัดงานคอนเสิร์ตและติดต่อวง Van Halen ให้มาเล่น หลังจากตกลงยอมรับในค่าตัวนักดนตรีและทีมงานแล้ว ทางวงจะมอบ คู่มือการเตรียมการ เพื่อมาให้ปฏิบัติตามเล่มหนึ่ง

คู่มือจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่ต้องดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่อาคาร โครงสร้างเวที ระบบเสียง แสงประกอบเวที ระบบรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการเตรียมห้องพัก อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อบริการทีมงานและนักดนตรี

เงื่อนไขต่างๆถูกระบุในคู่มือ พร้อมกับสัญญาที่ระบุชัดเจนว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามเกิดข้อผิดพลาดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทางวงสามารถยกเลิกการจัดงานโดย ผู้จัดจะยังคงต้องรับผิดชอบจ่ายค่าตัวให้กับทางวงเต็มจำนวน

ข้อกำหนดต่างๆถูกระบุไว้ อย่างละเอียดยิบ เช่น น้ำหนักของลำโพงที่ใช้ในงาน หรือแม้กระทั่งยี่ห้อกระดาษชำระที่ต้องมีในห้องน้ำ สัญญาข้อหนึ่งในกลุ่มของขนม/อาหารว่าง คือต้องเตรียมช็อกโกแลต M&M ใส่โถไว้ในห้องพักนักดนตรี พร้อมกับในพื้นที่หลังเวทีให้กับทีมงานด้วย

แต่ข้อความเงื่อนไขที่ดูจะเป็นความหยุมหยิมอย่างไม่มีเหตุผลคือ ห้ามมีเม็ดสีน้ำตาลอยู่ด้วยเด็ดขาด! M & M’s (WARNING: ABSOLUTELY NO BROWN ONES)

นั่นหมายถึงในฐานะผู้จัด เราต้องเพิ่มงานเพื่อจัดการแยกช็อกโกแลตเม็ดสีน้ำตาล ออกจากสีอื่นๆที่เหลือ และความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆที่อาจเกิดขึ้นได้จากช็อกโกแลตเม็ดเดียว สามารถส่งผลให้เกิด ความสูญเสียทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล

ฟังเงื่อนไขประหลาดช็อคโกแลตสีน้ำตาลนี้แล้ว อาจชวนให้คิดว่า วงดนตรีนี้เพี้ยนสิ้นดี ทำตัวให้เรื่องมากอย่างไม่มีเหตุผลนะครับ

ตัวชี้วัดความสอดคล้องกับมาตรฐาน

หากเปลี่ยนข้างมาเป็นผู้จัดการวงดนตรี เราย่อมต้องการให้การแสดงคอนเสิร์ต เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ ในทุกรายละเอียดทั้งแสง เสียง การตกแต่งเวที การแสดง การจัดการผู้เข้าชม

อาคารและเวทีต้องมีความมั่นคงแข็งแรง รองรับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องมือจำนวนมาก ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทำงานร่วมกัน พร้อมกับผู้ชมจำนวนมากกระโดดโลดเต้นระหว่างการแสดง โดยไม่มีความเสี่ยง ต่ออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่หากถามว่าในทางปฏิบัติแล้ว ทางวงจะรู้ได้อย่างไร ว่าผู้จัดคอนเสิร์ตได้ปฏิบัติตามครบถ้วนสมบูรณ์ใส่ใจในรายละเอียดแล้ว?

นอกจากการตรวจสอบประเมินตามปกติแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่วงใช้คือ การมองเข้าไปในโถช็อกโกแลตว่า มีสีน้ำตาลปะปนอยู่หรือไม่

มีเหตุการณ์ทัวร์คอนเสิร์ตครั้งหนึ่ง หลังจากการพบแล้ว จึงมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นในรายละเอียดทุกจุด พบว่าอาคารสถานที่ไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับกับงานแสงเสียงที่ใหญ่โต มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้เป็นจำนวนมากเช่นนี้

นอกจากนั้น ความแข็งแรงของเวทีไม่ได้มาตรฐาน อาจเกิดการทรุดตัวหรือเสียหาย ส่งผลต่อความปลอดภัย ทั้งนักดนตรี ทีมงานและผู้ชมได้ การแสดงครั้งนั้นถูกยกเลิกไปในที่สุด

นักร้องนำของวง ได้เปิดเผยวิธีคิดนี้ในภายหลังว่า เป็นความตั้งใจในการตั้งเงื่อนไข ที่ดูเป็นความเรื่องมาก เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จัดคอนเสิร์ตพิถีพิถัน ใส่ใจอ่านทุกข้อความรายละเอียดที่ต้องเตรียมการ

ข้อความเงื่อนไขเรื่องห้ามมีช็อกโกแลตสีน้ำตาล กลายเป็นตัวชี้วัดถึงความเสี่ยง ว่าผู้จัดปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ทำให้มองเห็นปัญหาด้วยวิธีการที่ง่ายขึ้น

เปรียบกับรถยนต์ เมื่อเครื่องยนต์ร้อนเกินมาตรฐานหรือน้ำมันใกล้จะหมด ก็จะมีไฟเตือนให้กับผู้ขับขี่รู้ได้ทันที เป็นตัวชี้วัดง่ายๆแสดงถึง ความไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ที่กำหนดไว้

 

Visual Management

แนวคิดหลักข้อหนึ่งของ Visual Management คือ การทำปัญหาปรากฏขึ้นมาให้เห็น ไม่ใช่ซุกไว้ใต้พรม การประยุกต์ใช้คือการสร้างเครื่องมือ ที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นถึงปัญหาได้อย่างง่ายๆ

ด้วยการ “เห็น” ช็อกโกแลตสีน้ำตาลซึ่งไม่เป็นตามมาตรฐาน ข้อผิดพลาดหรือปัญหาจุดเล็กๆ กลายเป็นสัญญาณ ที่บอกให้เห็นถึงปัญหาอื่นๆหรือปัญหาใหญ่กว่าที่อาจซ่อนอยู่ เพื่อตรวจสอบโดยละเอียดต่อไป

ในชีวิดจริงธุรกิจ เครื่องมืออื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ เช่น สีเขียว-เหลือง-แดง แผนภูมิ กราฟ รูปภาพ ไฟแจ้ง สัญญาณเตือน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นรากฐานที่สุดคือ ทัศนคติหรือวัฒนธรรมองค์กร ที่ต้องมองเชิงบวกต่อปัญหาว่า คือสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อรักษามาตรฐาน รวมไปถึงการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น

ผู้บริหารที่ชอบฟังแต่ข่าวดี ตอบสนองเชิงลบกับปัญหา เช่น การตำหนิ ลงโทษ จะทำให้ทีมงานไม่อยากรายงานหรือเปิดเผยปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาจะถูกปิดบังไว้ไม่ได่รับการแก้ไข

 ความน่าฉงนในสัญญาการเล่นคอนเสิร์ต ได้กลายเป็นกรณีศึกษาหนึ่งของการทำธุรกิจ ด้วยการทำปัญหาให้เห็น ได้อย่างง่ายๆครับ////

*บทความโดย กฤชชัย อนรรฆมณี Lean and Productivity Consultant, [email protected]