ความรุนแรงทางเพศกับสตรีและเด็กหญิง

ความรุนแรงทางเพศกับสตรีและเด็กหญิง

ตามกระแสโซเชียลมีเดียล่าสุดที่มีภาพนักเรียนหญิงยกป้ายกระดาษเอ4 เขียนว่า “หนูถูกครูทำอนาจาร” ในการชุมนุมประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 ความรู้สึกแวบแรกที่เข้ามาคือ ดีใจที่เห็นเยาวชนกล้าออกมาเปิดประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงทางเพศ จริงๆ ไม่ว่าจะกับสตรี บุรุษ เด็กหญิงหรือเด็กชาย ก็ร้ายแรงเท่ากัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ปฏิเสธไม่ได้อีกข้อในสังคมไทย

หากเป็นสมัยก่อนคงไม่มีใครกล้าออกมาพูด แต่พออ่านคอมเมนท์ก็ตกใจกับแนวคิดของคนจำนวนหนึ่งที่ถือว่าล้าหลังมาก แนวคิดแบบ “โทษเหยื่อ” เป็นแนวคิดที่อันตรายต่อสังคมไทย หากสังคมไหนยอมรับแนวคิดแบบนี้ได้ถือว่าเป็นสังคมที่ยอมรับการใช้ความรุนแรง

ในยุโรป ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมถึงการประณามและพยามกำจัดการใช้ความรุนแรงกับสตรีและเด็ก มาควบคู่กับพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลประเทศยุโรปพยามส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม โอกาสและอาชีพการงาน และมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงกับสตรีและเด็กโดยเฉพาะเด็กหญิงอย่างจริงจังมายาวนาน

ล่าสุด สหภาพยุโรป เพิ่งออกแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางเพศ และสร้างพลังให้สตรีสำหรับแผนการต่างประเทศ สำหรับปี 2021-2025 (The EU's new Action Plan on Gender Equality and Women's Empowerment in External Action 2021-2025) หรือ GAP III ที่มีเป้าหมายเพื่อเร่งเสริมความก้าวหน้าและสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิง หลังจาก 25 ปีแห่งการปรับใช้ Beijing Declaration ขององค์กรสหประชาชาติ

จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการทำงานเพื่อส่งเสริมและสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กจากหลากหลายภาคส่วนและในระดับสากล แต่สถิติยังบ่งบอกตัวเลขที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้หญิง 35% เคยมีประสบการณ์เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ และในบางประเทศตัวเลขมีมากถึง 70% สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้ศึกษาตัวเลขแน่นอน แต่ไม่ว่าตัวเลขจะอยู่ในระดับไหน ที่แน่ๆ แนวความคิดของคนในสังคม (บางส่วน) ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรก แต่เราจะเริ่มแก้จากตรงไหนดี

ดิฉันเคยไปประชุมเรื่องการส่งเสริมและสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กในยุโรปมาหลายครั้ง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การลดการใช้ความรุนแรงทางเพศในสังคม ต้องเริ่มต้นที่การสอนกันในระดับครอบครัวและในโรงเรียนตั้งแต่เด็กๆ เลย เริ่มด้วยการให้เด็กๆ เคารพสิทธิพื้นฐานของกันและกัน ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ล่วงเกินล่วงละเมิดหรือใช้ความรุนแรง ดังนั้น บ้านและโรงเรียนจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ต้องปลูกฝังว่าการใช้ความรุนแรง (ไม่ว่าจะทางเพศหรือทางไหนๆ) เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้แม้แต่น้อย ว่าแล้วก็ตัดภาพไปที่ละครไทย ที่จริงก็อาจสะท้อนพฤติกรรมและการยอมรับของสังคมพอสมควร ละครไทย ควรเลิกฉายพวกฉากตบตี ทำร้าย ข่มขืน ขืนใจ หรือล่วงละเมิดทางเพศในรูปแบบต่างๆ ได้แล้ว และภาครัฐน่าจะมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนกฎกติกาเหล่านี้ได้

160665269483

ข้อมูลจากสหภาพยุโรป

160665271347

ข้อมูลจาก Spotlight Initiative

เพื่อรณรงค์การแก้ปัญหานี้ในประเทศไทย อยากแนะนำโครงการความร่วมมือของสหภาพยุโรปกับสหประชาชาติ ชื่อ Spotlight Initiative ซึ่งเป็นพันธมิตรระดับโลกในการกำจัดการใช้ความรุนแรงในสตรีและเด็กหญิง

ผลงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของโครงการดังกล่าว ได้แก่ การทำงานกับรัฐบาลและองค์กรประชาสังคมทุกภาคส่วน ได้มีการปรับแก้กฎหมายไปจำนวน 41 ฉบับในกว่า 15 ประเทศ ในประเด็นการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและการกำจัดการใช้ความรุนแรง นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่รอดพ้นจากการใช้ความรุนแรงทางเพศได้เพิ่มขึ้นถึง 15% มีคนกว่า 500,000 คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนต่างๆ ของโครงการ และมีวัยรุ่นกว่าอีก 350,000 คนที่เข้าการฝึกอบรมในเรื่องสำคัญแบบนี้

อยากเห็นการสอนเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงเริ่มต้นที่แต่ละครอบครับ ตามมาด้วยที่โรงเรียน

อยากเห็น “เหยื่อ” ได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้คนออกมากล้าพูดและเผชิญหน้ากับปัญหาว่าเราจะแก้ไขมันอย่างไร อยากเห็นสังคมที่เห็นใจและไม่โทษเหยื่อ เพราะเขาหรือเธอต้องเสียสละมาก ที่ทำเช่นนั้น

อยากให้ภาครัฐมีกรอบกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น และลองใช้เทคโนโลยี App และโซเชียลมีเดียไว้ให้ผู้ถูกกระทำได้มีโอกาสรายงานกรณีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อันอาจจะช่วยให้มีผู้รอดพ้นจากการใช้ความรุนแรงได้อีกมากมาย

*บทความโดย ดร. อาจารี ถาวรมาศ ผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd