เมื่อมังกรบี้มด

เมื่อมังกรบี้มด

การระงับเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มูลค่า 35,000 ล้านเหรียญฯ ของ Ant Group

 บริษัท Fintech ชื่อดังภายใต้ปีกของ Alibaba Group โดยหน่วยงานกำกับดูแลของจีน ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วแวดวงการลงทุนทั่วโลก

พร้อมๆไปกับการที่ธนาคารกลาง (PBOC) และคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารและประกันภัยของจีน (CBIRC) ได้ออกร่างประกาศเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลธุรกิจการปล่อยกู้รายย่อยออนไลน์ โดยกำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มการปล่อยกู้ เช่น เจี้ยเปย (借呗) ซี่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Ant Group จะต้องร่วมปล่อยกู้กับธนาคารพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินกู้ (จากเดิมที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเท่านั้น ไม่ต้องมาร่วมรับความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ด้วย) และกำหนดให้เจ้าของแพลตฟอร์มที่ให้บริการปล่อยกู้ในหลายภูมิภาคของประเทศ               จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 พันล้านหยวน หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท จากอัตราที่กำหนดไว้ในปัจจุบันที่ไม่เกิน 1 พันล้านหยวน หรือราว 5 พันล้านบาท

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ผู้ปล่อยกู้ที่ใช้ข้อมูลด้านเครดิตของผู้กู้รายย่อย จากบริษัทที่มีแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ (เช่น เถาเป่า (淘宝网) ซึ่งมี Alibaba เป็นเจ้าของเช่นกัน) จะต้องส่งข้อมูลเครดิตดังกล่าวให้กับธนาคารกลางด้วย โดยในมุมมองของธนาคารกลางจีนนั้น การที่บริษัท Fintech ทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ ก็ควรที่จะต้องถูกกำกับดูแลด้วยเกณฑ์การควบคุมความเสี่ยงในลักษณะที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน

หน่วยงานกำกับฯของจีน ยังออกกฎที่เรียกได้ว่าเตรียมคุมกำเนิด Fintech ด้วยการกำหนดให้ผู้ทำธุรกิจประเภทนี้ จะต้องต่อใบอนุญาตทุก 3 ปี และกำหนดหลักการเบื้องต้นที่จะไม่ให้ใบอนุญาตกับรายใหม่ที่ทำธุรกิจปล่อยกู้ในหลายภูมิภาคของประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีเวลาให้ความเห็นต่อร่างนี้ได้ถึง 2 ธ.ค. 2563 และต้องปฏิบัติตามภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ใช้บังคับ

อันที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานกำกับฯของจีนได้ออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยกู้ออนไลน์ให้แก่รายย่อย โดยเมื่อพ.. 2563 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการออกร่างประกาศ ห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ในจีนปล่อยกู้ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม  ให้ผู้กู้รายย่อย เพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ ฟิวเจอร์ส อนุพันธ์ และผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนอื่นๆ (ซึ่งบริษัทของ Ant ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วย) เพื่อช่วยควบคุมความเสี่ยงทางการเงินจากการปล่อยกู้ออนไลน์เพื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ ปกป้องผลประโยชน์ของผู้กู้ รวมถึงดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดวงเงินกู้ออนไลน์ให้ไม่เกิน 200,000 หยวนต่อราย หรือประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันเกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศ

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่ามีต้นสายปลายเหตุส่วนหนึ่ง มาจากเหตุการณ์กวาดล้างธุรกิจแพลตฟอร์มระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อย เพื่อปล่อยกู้ให้กับบุคคลหรือนิติบุคคล (peer-to-peer (P2P) lending) ที่มีลักษณะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยในครั้งนั้น ทางการจีนได้ปราบปราม และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และกระชับพื้นที่ในการทำธุรกิจด้วยการออกกฎระเบียบต่างๆจนปัจจุบันเหลือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มปล่อยกู้เช่นนี้เพียง 29 รายเท่านั้น จากเดิมที่มีอยู่มากถึง 6 พันรายทั่วประเทศ

และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้เปิดเผยถึงตัวเลขความเสียหายที่ประชาชนได้รับจากการกวาดล้างธุรกิจปล่อยกู้ P2P คิดเป็นวงเงินรวมสูงถึง 8 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท!

โดยนายฟาง เหวินจง อดีต Director ของ CBIRC ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไม่มีนวัตกรรมทางการเงินใดที่จะกำจัด หรือลดความเสี่ยงลงได้ และหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินตาม Basel ก็ไม่ใช่สิ่งล้าสมัย แต่เป็นการพัฒนาขึ้นมาจากบทเรียนต่างๆจากวิกฤติการณ์การเงินในอดีตนั่นเอง”

นี่คงเป็นคำกล่าวที่บาดใจใครบางคนอยู่ไม่น้อย...