‘อีอีซี’ก้าวสู่การเป็น ‘ฮับ 5 จี’

‘อีอีซี’ก้าวสู่การเป็น ‘ฮับ 5 จี’

โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โดยเฉพาะคลื่นความถี่5จี เป็นโครงสร้างสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรม และธุรกิจใหม่ๆ

รัฐบาลได้เร่งโครงการ 5จี เพื่อไม่ให้ตกขบวนที่ผ่านมาในเดือน ก.พ. ได้เปิดประมูล 5จี โดยมีหน่วยงานฐวิสาหกิจของรัฐได้รับการประมูล 5 จี 2 ราย ได้แก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการลงทุน

ล่าสุดทีโอที ก็ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับ 5จี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เต็มรูปแบบเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุนในอีอีซีในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยองรวมทั้งยังได้เตรียมบุคลากรด้านดิจิทัลรองรับ จำนวน 100,000 คน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ระดับชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนจะทำให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำด้าน 5จีในภูมิภาคอาเซียน เทียบชั้นกับประเทศสิงคโปร์

5จี เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสนับสนุนและขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัลให้กว้างขวางและครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี รวมทั้งสามารถปรับใช้ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงการบริการรักษาการวินิจฉัยโรคแม่นยำ ในด้านการเกษตรจะเข้ามาต่อยอดเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมิ่งในการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาช่วยเพาะปลูกพืชเพิ่มคุณภาพและผลผลิต ยกรายได้เกษตรกร

นอกจากนี้จะพัฒนาอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ที่สมบูรณ์แบบในการยกระดับคุณภาพชีวิตจของประชาชนในพื้นที่ และดึงดูดการลงทุนในธุรกิจบริการด้านดิจทัล และสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้แห่งอื่น ๆ ในอีอีซี ต่อไป ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายเมือง

ทั้งนี้ ในการวางโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ยังเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 5จี ล่าสุด ได้มีบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ 5จี จากจีน ได้หวัน และฮ่องกง เป็นจำนวนมากสนใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตใน อีอีซี

คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สกพอ.ให้ความเห็นว่า จากพื้นฐานความแข็งแกร่งของไทยในการเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มานาน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย ทำให้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้สูง ประกอบกับนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงได้เดินหน้าวางโครงสร้าง 5จี อย่างเป็นรูปธรรมชาติในพื้นที่ขนาดใหญ่ชาติแรกในอาเซียนทำให้มีบริษัทเทคโนโลยี 5จี จำนวนมากมีเป้าหมายเข้ามาลงทุนในไทย เพราะการปรับไปสู่ 5จี จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ส่งสัญญาณโทรคมนาคมในเสาส่งสัญญาณ และระบบเครือข่าย 5จีทำให้มีความต้องการอุปกรณ์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก

หลายประเทศต่างก็มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะขยายไปสู่การผลิตชิ้นส่วนในโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ไอโอที ที่จะฝังตัวอยู่ในสินค้าต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบ 5จี ทำให้มีตลาดรองรับอย่างมหาศาล

การที่ไทยดึงให้อุตสาหกรรมนี้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นประเทศแรก ๆ ได้ ก็จะทำให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นฮับในอุตสาหกรรม 5จีในอนาคต