อเมริกา การบูชาเงินและคอร์รัปชั่น

อเมริกา การบูชาเงินและคอร์รัปชั่น

สังคมอเมริกันกำลังตกอยู่ในภาวะแตกแยกสูง  ความล้มเหลวด้านการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมความแตกแยกให้สูงขึ้นอีก

ความแตกแยกเป็นผลของโครงสร้างพื้นฐานที่มีมานานแล้ว  นโยบายและพฤติกรรมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มิได้ทำให้มันลดลง  ตรงข้าม กลับทำให้มันเลวร้ายยิ่งขึ้น  ในด้านการต่อสู่กับโควิด-19 เขาเป็นตัวเจ้าปัญหาเพราะสำคัญตนผิดคิดว่ารู้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์  ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ชาวอเมริกันจึงป่วยและเสียชีวิตด้วยไวรัสตัวนี้มากที่สุดในโลก  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะลงโทษนายทรัมป์หรือไม่ ผลการเลือกตั้งกลางสัปดาห์หน้าจะเป็นคำตอบ

โครงสร้างของสังคมเป็นภาวะสลับซับซ้อนมากจนยากแก่การจะฟันธงลงไปแบบแย้งไม่ได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดอะไรบ้าง  อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดความแตกแยก  ความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันมีมาตั้งแต่ดั้งเดิมเนื่องจากคนผิวขาวนำคนผิวดำจากแอฟริกาไปเป็นทาส  หลังระบบทาสถูกยกเลิก การมองคนผิวดำว่าต่ำชั้นยังคงอยู่ในบรรดาคนผิวขาว  พวกเขาจึงมักไม่เปิดโอกาสให้ผู้สืบเชื้อสายมาจากทาสยกฐานะให้เท่าเทียมกับตน  นายทรัมป์มีพฤติกรรมรังเกียจคนผิวดำเป็นที่ประจักษ์

ระบบเศรษฐกิจกระแสหลักที่สังคมอเมริกันใช้เอื้อให้คนรวยแย่งส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจได้ง่าย  คนรวยส่วนใหญ่มักขาดความละอาย ซ้ำร้ายยังมีการใช้ความฉ้อฉล หรือคอร์รัปชั่นเพื่อเพิ่มความรวยของตน  คนกลุ่มนี้ยึดเงินเป็นสรณะและมักพร้อมจะใช้เงินในด้านการเมือง  ข้อมูลบ่งว่า ย้อนไป 70 ปี เป็นที่ยอมรับกันว่าเหมาะสมเมื่อผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่ได้ค่าตอบแทน 20 เท่าของคนงาน  ในปัจจุบัน แม้ผู้บริหารเหล่านั้นจะได้ค่าตอบแทนเกิน 300 เท่าของคนงานแล้ว แต่โดยทั่วไปยังไม่แสดงว่าพอ 

ด้านความฉ้อฉล ธนาคารยักษ์ใหญ่ในอเมริกาเพิ่งถูกปรับเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์หลังถูกจับได้ว่ามีบทบาทในการฟอกเงินของอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย  เจ้าของบริษัทผลิตยาเพิ่งถูกปรับ 8,300 ล้านดอลลาร์หลังถูกจับได้ว่ามีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการเสพติดยาแก้ปวดของตนจนคนอเมริกันตายกว่า 2 แสนคน  สองกรณีนี้เป็นข่าวเพราะผู้กระทำถูกดำเนินคดี  แต่ยังมีอีกมากมายหลบซ่อนได้ หรือไม่ถูกฟ้อง  ข้อมูลจำนวนมากอาจหาได้ในหนังสือชื่อ Big Dirty Money ซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนกันยายน

คนรวยและบริษัทขนาดใหญ่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลสูงมากเนื่องจากพวกเขาเข้าถึงผู้มีอำนาจได้ง่ายผ่านการบริจาคเงินให้แก่การหาเสียงของนักการเมือง  เงินจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐบิดเบี้ยว

พฤติกรรมและนโยบายของนายทรัมป์มิได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง  เขาเองยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลว่าเพราะอะไรเขาจึงแทบไม่ได้จ่ายภาษีในช่วงเวลากว่า 10 ปีทั้งที่มีกิจการขนาดใหญ่จำนวนมาก  เขาจ้างลูกสาวและลูกเขยให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาโดยไม่แสดงทีท่าว่าละอายใจแม้แต่น้อยเมื่อถูกทักท้วง  หลังเขาหมดอำนาจ เขาอาจถูกดำเนินคดี  (สังคมอเมริกันมีประเพณีที่จะไม่ฟ้องประธานาธิบดีในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง)  เขาสนับสนุนมาตรการลดอัตราภาษีให้แก่ผู้มีรายได้สูงซึ่งรวมตัวเขาอยู่ด้วย

ภาวะดังกล่าวมานี้เคยเกิดขึ้นหลังสหรัฐพัฒนาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสำเร็จ  ครั้งนั้น มันจบลงด้วยวิฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์หลังตลาดหลักทรัพย์ล่มเมื่อปี 2472  จากนั้นมา ความเหลื่อมล้ำ การบูชาเงินและความฉ้อฉลของคนอเมริกันลดลงบ้างจนกระทั้งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้  ข้อมูลมีอยู่ในหนังสือชื่อ On Corruption in America ซึ่งพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม

การระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อไรยังไม่สามารถคาดเดาได้ในขณะนี้  อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ผลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปตัว K นั่นคือ คนรวยจะยึดไปได้เกือบทั้งหมด  หากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญแก่ประเด็นนี้และไม่พยายามป้องกันมิให้มันเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกจะยิ่งร้ายแรงจนนำไปสู่ความล่มจมของสังคมได้