จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

จดหมายเปิดผนึกจากนายอ๊อด เสือจ้อย ราษฎรไทยถึงผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาปากท้องของหมู่บ้านในปัจจุบัน

กราบเรียนท่านกล้าศึก แขมธุรส ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

เนื่องด้วยกระผม ได้รับการร้องขอจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเรา ให้ลองเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาปากท้องของหมู่บ้านเราในปัจจุบัน หลังจากที่กระผมได้ตอบผู้ใหญ่ที่เคารพท่านนั้นแล้ว ก็เห็นว่า ควรนำเสนอให้กับท่านผู้ใหญ่กล้าศึก เผื่อเสียงเล็ก ๆ ของกระผมจะเป็นส่วนช่วยให้ชาวบ้านไทยเจริญได้อิ่มท้องบ้าง

 ก่อนอื่น กระผมของสรุปถึงปัญหาปากท้องของหมู่บ้านเรา ซึ่งกระผมเห็นว่ามี  3 ระยะ โดยในระยะสั้น หมู่บ้านเราเผชิญกับวิกฤตที่เป็นผลกระทบโดยตรงจากโรคระบาดแห่งศตวรรษ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง เกิดหนี้เสีย การว่างงาน และปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในหมู่บ้าน

 ระยะกลาง ได้แก่ปัญหาความยากจนที่จะเพิ่มขึ้นทันที ส่วนในระยะยาว หมู่บ้านเราจะเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง 4 ประการ คือ (1) ผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะมีมากขึ้น ทำให้แรงงานหนุ่มสาวขาดแคลน (2) กับดักรายได้ปานกลาง ที่ทำให้รายได้ต่อหัวของชาวบ้านเติบโตต่ำ ขณะที่หมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลเรา เช่น หมู่บ้านมังกรแดง หมู่บ้านมลายู ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (3) หนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน และ (4) ระดับการใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ

 เมื่อหมู่บ้านไทยเจริญเผชิญปัญหาในระดับดังกล่าว มาตรการจึงต้องตอบโจทย์ทั้งในระดับสั้น กลาง และยาว ดังนั้น กระผมจึงขอนำเสนอ 3 มาตรการตามรูปแบบเครื่องมือ ดังนี้

 

๐ มาตรการการคลัง

 ท่านผู้ใหญ่ ฯ ควรสั่งการให้ท่านเหรัญญิกดำเนินนโยบายการคลังผ่อนคลายต่อเนื่อง ในรูปแบบเงินอุดหนุนช่วยเหลือแก่ชาวบ้านเพื่อสนับสนุนรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในภาพรวม ซึ่งจะเหมาะสมมากกว่าสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (เนื่องจากวิกฤตโรคร้ายครั้งนี้จะส่งผลกระทบลากยาวและกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ การให้ความช่วยเหลือระยะยาวจะเป็นการทำให้เกิด Zombie Company)

 ดังนั้น คณะกรรมการหมู่บ้านจึงควรสนับสนุนรายได้ให้แก่ผู้ว่างงาน รวมถึงผู้ประกอบการที่กำลังจะล้มละลายให้มีรายได้ประคองชีพ เพื่อที่จะให้เขาเหล่านั้นหาช่องทางในการประกอบอาชีพใหม่ เช่นเดียวกับมาตรการของหมู่บ้านอินทรีขาว ที่ให้เงินช่วยเหลือประชาชนทุกคน (1,200 ดอลลาร์ต่อคน) รวมถึงเพิ่มระดับสวัสดิการว่างงานอย่างมหาศาล (600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์) ทำให้ผู้ที่ตกงานยังมีรายได้และหันไปหางานใหม่ รวมถึงประกอบธุรกิจใหม่ ทำให้จำนวนธุรกิจใหม่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 นอกจากนั้น ท่านผู้ใหญ่ฯ ควรสนับสนุนโครงการลงทุนทั้งในระดับย่อย  และระดับ Mega project เพื่อลดต้นทุนในการทำมาหากิน นอกจากนั้น ท่านผู้ใหญ่ฯ ควรตั้งกองทุน หรือผลักดันผ่านกลไกเดิมที่มีอยู่ ให้มีเงินอุดหนุนดอกเบี้ยต่ำ (หรือปราศจากดอกเบี้ยในช่วงหนึ่ง) ให้กับหนุ่มสาวหรือผู้ที่ต้องการทำธุรกิจใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิด S-curve ที่เกิดจากแนวคิดของคนหนุ่มสาวอย่างแท้จริง (ไม่ใช่เกิดจากที่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านขีดเส้นให้ทำ)

 ทั้งนี้ กระผมเห็นว่า ท่านผู้ใหญ่ฯ ไม่ควรกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะในปัจจุบัน เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้สำคัญกว่าวิกฤตหนี้ในอนาคต เพราะหากเศรษฐกิจปัจจุบันตกหล่ม ผู้คนขาดรายได้ ว่างงานเป็นระยะเวลายาวนาน เขาเหล่านั้นจะสูญเสียทักษะความรู้ในการทำมาหากิน เศรษฐกิจก็จะตกต่ำยาวนาน เป็นดั่งแผลเป็นและพิกลพิกาลถาวร

 นอกจากนั้น ภาวะการเงินโลกที่ดอกเบี้ยจะต่ำยาว ทำให้ต้นทุนทางการเงินยิ่งถูกลง ท่านเหรัญญิกจึงควรออกพันธบัตรระยะยาวดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำเงินมาช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ (และจะยิ่งดีหากให้สหกรณ์หมู่บ้านรับซื้อพันธบัตรดังกล่าว)

 

๐ มาตรการการเงิน 

กล่าวอย่างย่อ มาตรการการเงินควรจะผ่อนคลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นโยบายการเงินตึงตัวเกินไปมาโดยตลอด ทำให้บาทแข็ง เกิดภาวะเงินฝืดและการบริโภคและลงทุนในหมู่บ้านของเราตกต่ำ

 วิกฤติโรคระบาดในปีนี้ยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้น โดยหากพิจารณาอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบ จะพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในหมู่บ้านเราต่ำกว่าหลายหมู่บ้านทั้งในและนอกตำบล โดยเฉพาะหมู่บ้านอินทรีขาวที่ขยายตัวในระดับ 20-25% ต่อปีหลังวิกฤตโรคระบาด ขณะที่บ้านเราขยายตัวในระดับ 8-12% ทำให้ดอกเบี้ยหมู่บ้านเราสูงกว่าหมู่บ้านอื่น (เช่น ผลตอบแทนพันธบัตรหมู่บ้านเราเทียบกับหมู่บ้านอินทรีขาว รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นต้นทุนของชาวบ้านและธุรกิจ เช่น ดอกเบี้ยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย) และทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้เงินเฟ้อต่ำ และรายได้จากการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหมู่บ้านคู่แข่งที่ค่าเงินอ่อนค่ากว่า และทำให้ผู้ประกอบการหมู่บ้านเราจำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อให้ยังคง Margin โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนค่าจ้าง ทำให้รายได้ของชาวบ้านไทยเจริญไม่เจริญตามชื่อ ชาวบ้านก็ขาดกำลังซื้อ กดดันให้ผู้ประกอบการบ้านเราไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เงินเฟ้อจึงถูกกดดันต่อเนื่อง

 นอกจากนั้น หากท่านผู้ใหญ่ฯ ให้นโยบายการคลังเป็นหัวหอกในการดำเนินนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะยาวแล้ว นโยบายการเงินก็ควรเป็นกองหนุนที่ดี ด้วยการผ่อนคลายมากขึ้น เช่น ลดดอกเบี้ยจนเหลือ 0% ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือแม้แต่เข้าซื้อพันธบัตรหมู่บ้านในตลาดแรกเพื่อช่วยชดเชยการขาดดุลงบประมาณโดยตรง และทำให้คณะกรรมการฯ มีเงินเพื่อนำไปสนับสนุนเศรษฐกิจระยะยาว ตามทฤษฎีการเงินแนวใหม่ หรือ Modern Monetary Theory: MMT

 กระผมเห็นว่า ทั้งท่านผู้ใหญ่ฯ คณะกรรมการหมู่บ้าน และสหกรณ์หมู่บ้านยังไม่จำเป็นต้องกังวลถึงความเสี่ยงภาวะฟองสบู่หรือความเสี่ยงเสถียรภาพการเงิน/ เสถียรภาพสถาบันการเงินในปัจจุบัน เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันสำคัญและเป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า ขณะที่ท่านประธานและคณะกรรมการสหกรณ์ สามารถดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นได้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีขึ้นแล้ว

 ๐มาตรการเชิงโครงสร้าง 

กระผมเชื่อว่า ท่านผู้ใหญ่ฯ และคณะกรรมการหมู่บ้านสามารถสนับสนุนให้เกิดภาวะแวดล้อมที่สนับสนุนในการทำธุรกิจได้ โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน เช่น การเจรจาการค้าเสรี (FTA) การรวมกลุ่มด้านเศรษฐกิจในตำบล เป็นต้น รวมถึงลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นลง (โดยใช้รูปแบบเดียวกับนโยบายในหมู่บ้านอินทรีขาวที่มีชื่อว่า "one in two out" กล่าวคือจะออกกฎประจำหมู่บ้านใหม่ ต้องยกเลิกกฎเก่าให้ได้ 2 ฉบับ) รวมถึงลดต้นทุนในการทำธุรกิจและจดทะเบียบธุรกิจใหม่ เช่น สนับสนุนนโยบาย One stop service เป็นต้น

 เหล่านี้คือข้อเสนอของกระผม หวังว่าคงเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่ช่วยให้หมู่บ้านเราดีขึ้นได้ ชาวบ้านจะได้ลืมตาอ้าปากกันเสียที

 ด้วยความเคารพอย่างสูง

นายอ๊อด เสือจ้อย