ภาษีสิ่งแวดล้อม อียู ภายใต้นโยบาย ‘กรีนดีล’

ภาษีสิ่งแวดล้อม อียู ภายใต้นโยบาย ‘กรีนดีล’

แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยังคงเป็นนโยบายเด่นของอียู และเป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ที่ครอบคลุมมิติต่างๆ

        แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวนี้มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือเพียง 55% ภายในปี ค.ศ. 2030 และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 จึงไม่แปลกใจที่อียูจะมีกำหนดเสนอมาตราการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้ 

ภาษีสิ่งแวดล้อม = แหล่งรายได้สนับสนุนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้นำอียู-27 ได้มีมติเห็นพ้องกับคณะกรรมาธิการยุโรปในการอนุมัติกรอบงบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปภายหลังโควิด-19 หรือ “Next Generation EU (NGEU)” ซึ่งมีมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร เพิ่มเติมจากกรอบงบประมาณระยะยาว MFF ของอียูสำหรับปี ค.ศ. 2021-2027 มูลค่า 1.075 ล้านล้านยูโร โดยอียูมองว่าการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้สนับสนุนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ จะต้องไม่เบียดเบียนภาษีของประชาชน จึงจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้อื่นทดแทน ผู้นำอียูได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีจากภาคเอกชนและ/หรือต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 63 สภายุโรปได้มีมติสนับสนุนให้มีการหาแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนอื่นเพื่อสนับสนุนแผนฟื้นฟูฯเช่นกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดเก็บ 1) ภาษีคาร์บอน (carbon tax)  2) ภาษีพลาสติก (plastic tax) และ 3) ภาษีดิจิทัล (digital tax) เป็นต้น 

        จากการรายงานของ Eurostat ในปี 2561 อียูมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมกว่า 325 พันล้านยูโร ซึ่งนับเป็นร้อยละ 2.4 ของ GDP อียู โดยรายได้ส่วนมากมาจากภาษีพลังงาน 77.7% ตามด้วยภาษีการคมนาคม19.1% และภาษีมลพิษและทรัพยากรต่าง ๆ 3.3% จึงเห็นได้ว่าการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมนั้นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว กล่าวคือ เป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืนในระยาวและเป็นการสร้างรายได้ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของอียู ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงที่อียูจะนำเสนอมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมในอนาคต 

อียูปูทางสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายใน 30 ปี

  • อียูมีกำหนดปรับปรุงและขยายการใช้มาตรการ EU Emissions Trading Scheme หรือ EU ETS สำหรับปี ค.ศ. 2021-2030 เพื่อทบทวนการเรียกเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมบางประเภทที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและโรงงานต่าง ๆ อุตสาหกรรมการเดินเรือสมุทรและอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการขนส่ง เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการปรับอัตราการเก็บภาษีขึ้นจาก 25 ยูโรต่อตัน เป็น 35 ยูโรต่อตัน ซึ่งที่ผ่านมา การใช้มาตรการ EU ETS ส่งผลให้สินค้าอียูมีราคาต้นทุนสูงกว่าสินค้านำเข้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการอียูเสียเปรียบและไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการรั่วไหลของคาร์บอน จึงต้องคอยติดตามว่ามาตราการฉบับปรับปรุงระยะที่ 4 นี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งทางทีมงานฯ จะคอยจับตากฎระเบียบใหม่เพื่อมารายงานในโอกาสแรก

 

        2) อียูกำลังพิจารณาออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เพื่อให้สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องจ่ายต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในอียู โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ในชั้นนี้ กลไกของมาตรการนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งอียูอาจเสนอในรูปแบบการเก็บภาษีคาร์บอน การนำระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาปรับใช้ หรือรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสม ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (public consultation) จนถึงวันที่ 28 ต.ค. นี้ ซึ่งผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นชาวอียูหรือต่างชาติสามารถเข้าไปร่วมให้ความเห็นได้ คณะกรรมธิการยุโรปจะนำความคิดเห็นไปประกอบการพิจารณาออกกฎระเบียบในช่วงเดือน มิ.ย. 64 ควบคู่กับมาตรการ EU ETS ฉบับปรับปรุงต่อไป

 

อียูสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมใหม่หรือเพิ่มกำแพงทางการค้า

นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า มาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนนี้ เป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตในต่างประเทศและผู้นำเข้าในอียูลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยยังรักษาความเสมอภาคในการแข่งขันและไม่ขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต่างจับตามองว่าในทางปฎิบัติมาตรการนี้จะออกมาในรูปแบบไหน เนื่องจากนักวิเคราะห์บางส่วนแสดงความเห็นว่า มาตรการนี้ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มกำแพงทางการค้าของอียู มากกว่าการเป็นผู้นำด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

       ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้อยู่เฉย เมื่อวันที่  23 ก.ย. 63 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้จับมืออียูจัดสัมมนาออนไลน์ระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติระหว่างไทย-อียู ร่วมกับกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของอียู ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้แทนของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนกว่า 60 ราย โดยงานสัมมนานี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน อาทิ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น เพื่อเตรียมปรับธุรกิจตามมาตรการเก็บภาษีใหม่นี้

 

อียูโบกมือลาพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

การจัดเก็บภาษีพลาสติกเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการจัดหาแหล่งรายได้สำหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของอียู โดยจากการประเมินขั้นต้นคาดว่าอียูจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 6 ถึง 8 พันล้านยูโรจากการเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งคำนวณจากอัตราประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ 0.80 ยูโรต่อกิโลกรัม แม้อียูมีกำหนดการออกมาตรการจัดเก็บภาษีพลาสติกนี้ภายในเดือน ม.ค. 64 ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน (ข้อมูลจาก KPMG)

 ตามที่สภายุโรปได้ลงมติผ่านร่างข้อบังคับเพื่อห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (EU Single-Use Plastics Directive (SUPD)) ตั้งแต่แต่เดือน มี.ค. 62 เช่น หลอดพลาสติก ช้อน ส้อม มีดและจานพลาสติก รวมถึงคอนตอนบัดที่แกนทำมาจากพลาสติก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2564 เช่นกัน โดยใช้หลักการ “polluter pays” หรือ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตบุหรี่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อขยะพลาสติกจากก้นกรองบุหรี่และผู้ผลิตอุปกรณ์ตกปลาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อขยะจากแหพลาสติกในทะเล เป็นต้น

 อียูมีกำหนดตีพิมพ์แนวทางปฏิบัติ (guidelines) ตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 แล้ว แต่ทว่าตอนนี้ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องการให้คำจำกัดความและขอบเขตของประเภทสินค้าที่จะถูกแบนภายใต้ข้อบังคับ ดังนี้

1) พลาสติก/โพลีเมอร์ เนื่องจากพลาสติกส่วนมากทำมาจากน้ำมันดิบ แต่ก็มีโพลีเมอร์บางส่วนที่ทำมาจากวัตถุดิบอื่น เช่น ก๊าซธรรมชาติ เซลลูโลส และแป้งจากพืช เป็นต้น อย่างเช่น Cellophane ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติกคาดว่าจะได้รับการยกเว้นข้อบังคับนี้

2) พลาสติกใช้แล้วทิ้ง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมอาหารได้แย้งว่า ภาชนะบรรจุภัณฑ์อาหารขนาดใหญ่ เช่น ถุงใส่มันฝรั่งทอดถุงใหญ่ หรือ ขวดน้ำอัดลมขนาด 1.5 ลิตรนั้นเป็น "multi-use" เพราะผู้บริโภคไม่ได้ใช้เพียงครั้งเดียว แต่มีการเก็บไว้รับประทานวันหลัง จึงเรียกร้องให้มีการยกเว้นภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้ได้หลายครั้งเหล่านี้ด้วย

 

แก้ปัญหาให้ถูกจุด เริ่มที่การออกแบบสินค้า

อียูได้ปรับปรุงข้อบังคับเรื่องบรรจุภัณฑ์และขยะจากบรรจุภัณฑ์ (EU Packaging and Packaging Waste Directive) โดยมีกำหนดออกมาตรการส่งเสริมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง EU Circular Economy Action Plan ได้ตั้งเป้าที่จะรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้ได้อย่างน้อย 75% ภายในปี ค.ศ. 2030 ส่งผลให้สินค้าในตลาดอียูจำนวนหนึ่งก็ได้เริ่มมีการติดฉลากเพื่อแสดงให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ของตนทำสามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือ ทำจากวัสดุรีไซเคิลแล้ว อาทิ บรรจุภัณฑ์ไส้กรอก และบรรจุภัณฑ์โยเกิร์ตในเบลเยียมได้มีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ โดยมีการติดฉลาก “This package is 75% recyclable” และสามารถแยกส่วนที่ทำจากพลาสติกออกจากกระดาษ และนำกระดาษไปรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้ารักษ์โลกและปฏิบัติตามมาตรการอียู ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ และปรับเปลี่ยนสินค้าให้เหมาะสมกับแนวโน้มการด้านสิ่งแวดล้อมของอียู

       

ดังนั้น ไทยอาจใช้โอกาสที่อียูนำเสนอมาตรการด้านภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจไทย โดยคำนึงถึงกระแสผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตระหนักถึง carbon footprint และนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการสร้าง “added value” ให้กับสินค้าและบริการ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียู

 *เรียบเรียงโดยทีมงาน thaieurope.net

ข้อมูลจาก www.europa.eu  www.euractiv.com  และ www.home.kpmg