รัฐบาลออกบอนด์ 10 ล้านล้านบาท ทำได้จริงหรือไม่? 

รัฐบาลออกบอนด์ 10 ล้านล้านบาท ทำได้จริงหรือไม่? 

มีข้อเสนอในสื่อสาธารณะเร็วๆ นี้ ว่าประเทศไทยน่าจะคิดการณ์ใหญ่ออกพันธบัตรอายุ 30 ปีเพื่อกู้เงิน 10 ล้านล้านบาทด้วยต้นทุน 0.5%

 นอกจากเพื่อเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว จะต้องพลิกโฉมนโยบายขนานใหญ่และเดินหน้าผลักให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว คำถามคือการก่อหนี้สาธารณะระดับซุปเปอร์โนวานี้จะทำได้จริงมากน้อยเพียงใด เราจะตั้งข้อพิจารณาซัก 3 ประเด็น สำรวจเงื่อนไขต่างๆ ดูครับว่าจะต้องเจอกับเหตุการณ์อะไรบ้างในระหว่างการเดินทางทางความคิดนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เริ่มจากการพิจารณาขนาดตลาดพันธบัตร

ตลาดพันธบัตรในประเทศปัจจุบัน นับเฉพาะที่ผู้ออกเป็นรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ มีขนาดราว 10 ล้านล้านบาท หรือราว 3 แสนล้านดอลลาร์ ลำพังตลาดพันธบัตรในประเทศคงรองรับได้เพียงส่วนเดียว จึงต้องหันไปมองตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งในที่นี้จะขอใช้ตัวเลขหนี้ต่างประเทศ หรือ External debt โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ที่น่าจะพอเทียบเคียงได้ดังตารางนี้

หากดูตัวเลขของอินโดนีเซียหรืออินเดีย ก็ดูว่าพอจะมีความเป็นไปได้ แม้ขนาดเศรษฐกิจเราจะเล็กกว่า แต่อย่างน้อยก็ขี้ให้เห็นว่า เม็ดเงินที่จะมีให้ไปขอกู้ก็พอจะมีอยู่ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยดีกว่าประเทศทั้งสอง

ประเด็นที่สอง ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

จากเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันอยู่ที่ราว 7.7 ล้านล้านบาท หารด้วย GDP ที่ 16 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 48%

หากเรากู้เพิ่มอีก 10 ล้านล้านบาทสำเร็จ เราจะมีหนี้สาธารณะเกือบ 18 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ 110% แม้จะดูไม่สูงเลยหากเทียบในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่สูงมากหากเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้เงินแพงขึ้น ยิ่งการกู้เงินต่างประเทศจะยิ่งแสลงใจบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมากกว่าการกู้ในประเทศ เพราะมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและปัจจัยเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าเราไม่ได้จะกู้โครมเดียว 10 ล้านล้านบาท แต่เป็นการทยอยกู้ทยอยเบิกเป็นโปรแกรม รวมทั้งเราต้องมีความเชื่อมั่นว่า GDP เราจะไม่แน่นิ่งอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาทไปเรื่อยๆ การกู้แล้วทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้จริง และสามารถทยอยชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น ค่อยๆ ลดสัดส่วนหนี้ลงมาได้ ย่อมทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า เราไม่ถังแตก

 

  ประเด็นที่สาม ถ้าโจทย์มีอยู่ว่า ต้นทุนจะต้องอยู่ที่ 0.5% เห็นจะเหลือวิธีการเดียวคือ Debt monetization หรือเรียกง่ายๆ ว่า ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรนั้นๆ เสียเอง

เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ทำข้อตกลงในลักษณะเช่นนี้ โดยให้ธนาคารกลางซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปีจากรัฐบาล คิดเป็นเงินไทยราว 8 แสนล้านบาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 0% เลยทีเดียว ทั้งนี้ ทางการระบุว่า จะใช้เพียงครั้งเดียว เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางและวินัยการคลัง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและผ่านไปโดยปราศจากรอยขีดข่วนจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ด้วยเหตุผลว่าอินโดนีเซียมีหนี้สาธารณะต่ำและมีวินัยการคลังสูงมาก จึงมีพื้นที่เพียงพอให้กับมาตรการอย่างว่า

เกาหลีใต้ก็ทำในลักษณะคล้ายๆ กันแต่เม็ดเงินน้อยกว่ามากในระดับ 2 แสนล้านบาท และเช่นเดียวกันคือไม่มีการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด

แต่ก็ทำ debt monetization ใช่ว่าจะทำได้ไม่สิ้นสุด เมื่อเดือนกันยายน พลันที่ผู้นำรัฐบาลอินโดนีเซียเปรยว่า ปีหน้าอาจจะทำเพิ่มอีก ก็ทำให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงเกือบ 2% จนกระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงคลังต้องออกมายืนยันว่า debt monetization เกิดขึ้นแค่ปีนี้ครั้งเดียวและจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ความสงบในตลาดการเงินจึงกลับคืนมาได้

ลองนึกภาพดูว่า หากทำ debt monetization ในปริมาณที่ตลาดไม่ยอมรับ มีการลดอันดับความน่าเชื่อถือ เกิดการเทขายสินทรัพย์และค่าเงินจนอ่อนเกินไป ครั้นจะไปบีบให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอการอ่อนค่าของค่าเงิน ก็จะไปทำให้ต้นทุนการกู้เงินแพงขึ้นอีก นำไปสู่ทางตันของนโยบายการเงิน

เมื่อพิจารณากันอย่างหยาบๆ แม้ตัวเลขอาจจะไปไม่ถึง 10 ล้านล้านบาท แต่การขยายเพดานหนี้พึงเป็นที่ยอมรับได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การคิดการณ์ใหญ่เรื่องหนี้จำเป็นต้องมีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจนและมีพลัง ให้สังคมไทยไว้วางใจ และให้สังคมโลกเชื่อมั่น ว่าทำแล้วจะเกิดผลดีมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้จริง จึงจะถือสำเร็จในการแปลงหนี้ให้เป็นลาภอันประเสริฐ