ทรัมป์หรือไบเดนที่เหมาะกับเอเชีย

ทรัมป์หรือไบเดนที่เหมาะกับเอเชีย

เหลืออีก 3 อาทิตย์ก็จะถึงวันลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์

คู่แข่งคราวนี้คือนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐสองสมัย พรรคเดโมแครต ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเลือกตั้งคราวนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทั้งต่อประเทศสหรัฐ เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชีย 

4 ปีภายใต้การนำของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐและผู้นำโลกเสรีได้ผ่านไปเร็วมาก และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายของเขา ที่ทำให้ทิศทางและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

อย่างแรก นโยบายของทรัมป์ได้ทำให้สหรัฐถอนตัวออกจากการเป็นผู้นำของกลุ่มโลกเสรี สวนทางกับการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐที่มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้นโยบาย สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง สหรัฐได้หันหลังให้กับระบบพหุภาคีและไม่ทำหน้าที่บทบาทผู้นำในการแก้ไขปัญหาที่โลกมี ไม่ว่าจะเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่สงครามกับไวรัสโควิด-19 ที่กระทบทุกประเทศทั่วโลก

ชัดเจนว่าภายใต้ทรัมป์ความเป็นผู้นำของสหรัฐในเวทีโลกที่จะทำหน้าที่สาธารณะเพื่อส่วนรวมได้ขาดหายไป เกิดช่องว่างหรือสุญญากาศในภาวะผู้นำโลกที่ต้องมีการทดแทน

2.ในช่วงเดียวกัน ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียก็เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลก และทุกประเทศในเอเชียก็มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สำคัญจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก พร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับ และสนับสนุนระบบพหุภาคีให้เป็นกลไกความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาที่โลกมี

การศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินว่า อีก 30 ปีข้างหน้าผลผลิตมวลรวมของเศรษฐกิจเอเชียจะมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ซึ่งบทบาทที่จะสูงขึ้นนี้หมายถึงบทบาททางเศรษฐกิจของสหรัฐและประเทศในยุโรปที่จะลดลง

3.วิกฤติโควิด-19 ได้ชี้ให้เห็นถึงความสามารถของประเทศในเอเชียในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา ทั้งในแง่การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ณ จุดนี้ในทั้ง 2 เรื่อง ประเทศในเอเชียดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าสหรัฐและประเทศในยุโรปในการบริหารจัดการวิกฤติ ชี้ชัดเจนว่าประเทศที่รวยไม่จำเป็นที่ต้องทำได้ดีกว่าประเทศที่รายได้น้อยหรือจนเสมอไป เพราะความสำเร็จไม่ได้มาจากเงิน แต่มาจากความร่วมมือของคนในสังคม ความช่วยเหลือแบ่งปัน มาตรการและภาวะผู้นำ

บทบาททางสาธารณะที่ลดลงของสหรัฐในเวทีโลก ทำให้นึกถึงกับดัก 2 กับดัก ที่ผมเคยเขียนถึงเมื่อปีที่แล้วคือ กับดัก Kindleberger และกับดัก Thucydides โดยกับดัก Kindleberger เรียกชื่อตามศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอ็มไอที ให้ข้อสังเกตว่าสถานการณ์เปราะบางของโลกก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจากภาวะสุญญากาศในการเมืองโลก เมื่อสหรัฐซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจขณะนั้นไม่ทำหน้าที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จึงเปิดพื้นที่ให้ผู้นำแบบอำนาจนิยมและชาตินิยมเติบโตขึ้นจนนำไปสู่สงคราม 

คำถามคือ ถ้าแนวโน้มหลังการเลือกตั้งสหรัฐวันที่ 3 พ.ย.ยังเป็นแบบนี้ ภาวะสุญญากาศของผู้นำในเวทีโลกก็จะมีอยู่ต่อไป ดังนั้น จะมีประเทศไหนหรือไม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้เพื่อปิดภาวะสุญญากาศ ซึ่งก็นำมาสู่กับดักที่ 2 คือ กับดัก Thucydides ที่ให้ข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยอำนาจใหม่ที่จะมาทำหน้าที่แทนอำนาจเก่ามักจะจบโดยการเกิดขึ้นของสงคราม

ในเรื่องนี้มีการวิเคราะห์ว่า ประเทศผู้นำในเวทีโลกต้องมีทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น แม้จีนและภูมิภาคเอเชียมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ แต่อำนาจทางการเมืองของประเทศในเอเชียขณะนี้มีน้อยมาก และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสะสม เช่นในกรณียุโรปในทศวรรษที่ 19 และสหรัฐในทศวรรษที่ 20 ที่อำนาจการเมืองจะตามอำนาจเศรษฐกิจ 

ทำให้คำถามตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการมีอำนาจใหม่เข้ามาทดแทนอำนาจเก่าคือสหรัฐในเวทีโลก แต่เป็นเรื่องว่าสหรัฐพร้อมจะกลับไปทำหน้าที่ผู้นำและมีบทบาททางสาธารณะในเวทีโลกเหมือนแต่ก่อนหรือไม่ ซึ่งคำตอบจะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป

ในเรื่องนี้ก็มีการวิเคราะห์ว่า ทรัมป์สมัยที่ 2 อาจจะเข้มข้นกว่าและไม่ประนีประนอมกว่าทรัมป์สมัยแรก เพราะการชนะเลือกตั้งเหมือนได้รับฉันทามติจากประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่ให้เดินหน้าต่อในสิ่งที่ได้ทำมาในสมัยแรก ทำให้สหรัฐอาจถอนตัวมากขึ้นจากการเป็นผู้นำในเวทีโลก แต่คงจะพยายามอย่างเต็มที่ในฐานะผู้นำกลุ่มอำนาจเก่าที่จะไม่ให้ใครมาแทนเป็นเบอร์หนึ่ง หรือเป็นอำนาจใหม่ในเศรษฐกิจโลก 

ซึ่งหมายถึงนโยบายต่างประเทศสหรัฐ รวมถึงนโยบายการค้าและการลงทุน คงจะมุ่งไปที่การยับยั้งการเติบโตของประเทศคู่แข่งอย่างจีน ที่มีศักยภาพเป็นมหาอำนาจใหม่ โดยปิดกั้นการแผ่อิทธิพลของจีนในตะวันออกกลาง สร้างแนวร่วมกับประเทศในยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มประเทศนาโต ยับยั้งการเติบโตของจีน และพร้อมค้าขายกับทุกประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐ เพื่อลดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้ภูมิศาสตร์การเมืองโลกจากนี้ไปจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ แต่ละประเทศต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐจะรุนแรงมากขึ้นจนประเทศต่างๆ เหมือนถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง

ซึ่งจะต่างกับไบเดนสมัยแรก ที่คาดว่าจะให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐเป็นอันดับแรก ถือเป็นพันธกิจเร่งด่วนสุด จากปัญหาที่มีอยู่มากและต้องการการแก้ไข ทั้งในเรื่องการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐพ้นจากวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น ดูแลคนส่วนล่างของสังคมที่ถูกกระทบมาก ปัญหาเรื่องหลักประกันทางสังคมของผู้มีรายได้น้อย ความเหลื่อมล้ำและปัญหาหนี้สาธารณะ 

เหล่านี้คือเรื่องที่รัฐบาลไบเดนสมัยแรกคงจะให้ความสำคัญ ทำให้นโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่ผลักดันในเรื่องเขตการค้าเสรี แต่จะตั้งการ์ดสูงในประเด็นการแข่งขันกับจีน ทั้งในเรื่องภาษี การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการปกป้องอุตสาหกรรมสหรัฐ ผลคือความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอาจไม่เลวร้ายลงจากปัจจุบัน แต่จะไม่ดีขึ้นหรือเปลี่ยนไปแบบทันตาเห็น

นี่คือความเป็นไปได้ที่มองกันขณะนี้ ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากสำหรับเอเชีย ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป