“อย่าเอาถุงดำครอบหัวคนดู”

“อย่าเอาถุงดำครอบหัวคนดู”

คำว่า “มืออาชีพ” กับ คำว่า “กระแส” น่าจะไม่ต้องอธิบายความหมายกันมากมาย เพราะโลกทุกวันนี้มีคนนำสองคำนี้ไปใช้กันในแทบทุกวงการ

สำหรับผมความเป็นมืออาชีพคือการทำหน้าที่บริหารจัดการสิ่งต่างๆ ให้เกิดความสำเร็จด้วยองค์ความรู้และความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มกำลัง อาจมีผิดพลั่งไปบ้างก็ให้อภัยกันได้ ส่วนคำว่า "กระแส" แตกหน่ออกกอในคำคล้ายๆ กันได้หลากหลาย บางทีอาจได้ยินคนพูดว่า ต้องอินเทรนด์ ต้องไม่เอาท์ หรือเข้าใจง่ายๆ คือ ทำหรือปฎิบัติไปตามโลกที่หมุนรอบตัวเรา ไม่ต้องคิดจินตนาการอะไรมาก ทำตามๆ เขาไปเถิดแล้วดีเอง

แต่มีอยู่หลายเรื่องที่จะเอาแบบตามกระแสคงไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องการตามเขาไป กินข้าว กินกาแฟ ปาท่องโก๋ หรือเดินห้างตามแฟชั่นความนิยมของคนที่เห่อเหิมกันไป เรื่องสำคัญเช่น กระบวนการยุติธรรม การนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับรู้ก็ดี แม้แต่การบริหารราชการแผ่นดิน จะทำตามกระแส คงไม่ใช่เรื่องที่น่ายกย่องนัก

ด้วยความที่อายุผมไม่น้อยแล้ว ทำให้รู้จักผู้คนมากมายในหลากหลายวงการ กระทั่งบางทีเคยบ่นกับตัวเองเหมือนกันว่า สงสัยประเทศไทยในรุ่นของเราจะมีคนเก่ง คนดี อยู่ประมาณที่เรารู้จักกระมัง เพราะเห็นบางคนมีตำแหน่งแห่งที่ซ้ำไปซ้ำมา อยู่เกือบทุกองค์กร

ถ้าเข้าประชุมได้ทุกคณะที่เขาแต่งตั้ง ยังสงสัยอยู่ว่า คนพวกนี้จะเอาเวลาทำงานหลักหรืองานประจำได้อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโดยตำแหน่งเฉพาะตัวบ้าง หรือเพราะใกล้ชิดรู้จักชอบพอกับคนมีอำนาจแต่งตั้งบ้าง บางคนดีจริง บางคนดีบ้างไม่ดีบ้าง บางคนคุ้มดีคุ้มร้ายก็มี ทำให้ค่อนข้างเชื่อมั่นใน “มาตรวัดตัวตนมนุษย์” ของตัวผมเอง ว่าค่อนข้างมีความเชื่อถือได้และแม่นตรงตามหลักการวิจัยทางสถิติ

ซึ่งบ่อยครั้งมีคนมาพึ่งพาขอคำแนะนำ ไม่ใช่ว่าผมเป็นหมอดู หรือซินแสที่ช่ำชองอะไรขนาดนั้น ด้วยความที่ผมทำงานกับคน และยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการบริหารบุคคลให้กับองค์กรภาครัฐองค์กรหนึ่ง จึงมั่นใจว่า “มีดีในเรื่องการดูคนดี คนร้าย เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวจริงๆ

ผมสังเกตคนมาครึ่งค่อนชีวิต ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ลูกศิษย์ ลูกหา เพื่อนร่วมงานทั้งในที่ทำงานประจำและที่ทำงานอื่นๆ อีกหลายๆ แห่ง ขึ้นชื่อว่า “เป็นคนเหมือนกับเรา” เกือบเรียกได้ว่า มองไม่เคยพลาด ผมติดตามคนทำงาน “สื่อ” บางคน รู้ว่ามีทักษะ ไหวพริบปฎิภาณ “มีความเป็นมืออาชีพ” แต่จะด้วยเหตุผลกลใดมิอาจทราบได้

วันก่อนได้ชมสื่อรุ่นน้องผู้นี้ซักถามสัมภาษณ์คนมาร่วมรายการกรณีโรงเรียน “สารสาสน์” แล้วรู้สึกเสียดายในความเก่งกล้าสามารถที่เคยเห็น เพราะมีคนบอกเดี๋ยวนี้เปลี่ยนบุคลิกมา “ดราม่า” ตั้งแต่กรณี ลุงพล ผมเลยอยากลองดูด้วยตัวเอง มาพบความจริงยิ่งกว่าดราม่า ในรายการที่ชมวันนั้นว่าเป็นจริงและเห็นจริงดังคำร่ำลือ

ในฐานะคนทำงานสื่อ ไม่อยากให้ “สื่อมวลชน” วันนี้ ทำงานกันในลักษณะเอาตัวเข้าไปเป็น “คู่ขัดแย้ง” กับเรื่องที่ตัวเองทำหน้าที่นำเสนออยู่ นอกจากดูไม่น่ารัก ไม่มืออาชีพแล้ว ยังน่าเวทนาในความ “หลงผิด” เพราะเชื่อว่า คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าใจว่า จะทัวร์ลง จะมีคนติคนชมไม่เป็นไร ขอให้ช่วยกันแชร์ ช่วยทวิตเตอร์กันต่อๆ ไป เป็นใช้ได้

จึงเกิดมีดราม่า “ลุงพล” ซึ่งคาดว่า จะมีดรามาต่อจากนี้มาอีกหลายภาค เพราะกระแสเรื่องอื่นๆ เริ่มมาลดทอนกระแสฮ้อตฮิตของกรณี “ลุงพล” ไปค่อนข้างมาก ใครก็ตามที่ได้ประโยชน์จากกรณี “ลุงพล” ย่อมปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไปมิได้เป็นอันขาด

กรณีดรามา “ลุงพล” ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลออย่างยิ่ง เพราะมีคนจำนวนหนึ่ง ใช้กระแสสังคม ตัดสินคดี “น้องชมพู่” เป็นที่เรียบร้อยว่า “ใครผิดใครถูก” ในขณะที่ตำรวจกำลังสอบสวนหาพยานหลักฐาน และยังไม่มีการพิพากษาดดีใดๆ จากศาล แม้แต่คดีทารุณกรรมเด็กที่โรงเรียน “สารสาสน์ราชพฤกษ์” ก็มาแนวคล้ายๆ กัน  อันนี้ก็ดราม่าสุดๆ 

ตัวผมเองเป็นคนมีเมตตาต่อลูกศิษย์ ตั้งแต่สอนมาอาจมีอยู่ครั้งเดียวที่เหมือนจะดรามากับเขา ตรงที่วันแรกเมื่อรับตำแหน่งเป็น สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ จู่ๆ มีคนไปปลอมเฟสบุ๊กของผม แถมไปให้ร้ายกล่าวหาบุคคลที่สาม ซึ่งในทางลับพอทราบอยู่ว่าเป็นฝีไม้ลายมือของฝ่ายใดกันบ้าง

แต่ที่บอกว่า มีกรณี “ดรามาสารสาสน์” ก็เพราะผมเห็น สื่อหลายแห่ง เข้าไปทำสกู๊ป ไปทำข่าว กระทั่งเหมือนจะเลียนแบบ การคัดเลือกตัวแสดง (ที่เรียกว่า ออดิชั่น) ในรายการแบบ “ไทยแลนด์ก๊อดทาเล้นท์ “ ทราบดีครับว่า เรื่องนี้เป็นครอบครัวใครคงยอมรับไม่ได้ แต่จำเป็นขนาดต้องเน้นเลือกเอาคนมาตีบทแตก น้ำหูน้ำตาไหลกันแทบทุกช้อต เหมือนกำลังดูละครหลังข่าวอย่างไรอย่างนั้น

กระทั่งเนื้อหาของข่าวสาร ไม่มีอะไรสร้างสรรค์มากไปกว่าการตำหนิ ก่นด่าประณามกันไปมา ของทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ผู้เกี่ยวข้อง โดยสื่อไม่ทำหน้าที่สื่อสารหาช่องทางแก้ปัญหาใดๆ ให้กับสังคม เรียกว่า ดูข่าวทุกวันนี้คิดไปคิดมาเหมือนนั่งดู  “ละครคั่นโฆษณา” (เพราะโฆษณาอาจให้อะไรเรามากกว่า)

ถ้าสื่อโดยเฉพาะบรรณาธิการข่าวของหลายสำนักยังไม่ปรับตัว ยังไม่มืออาชีพ เท่ากับว่า คุณกำลังบ่อนทำลายสติปัญหาของเยาวชน คล้ายๆ กับกำลังเอามือตบบ้องหูน้องๆ อนุบาลหรืออาจกำลังเอา “ถุงดำ” คลุมหัวคนดูข่าว ผมทราบว่าพวกเรามีสติปัญญารู้ผิดชอบชั่วดี ทำสิ่งที่ถูกต้องกันเถิดครับ