Super Stock ใน 10 ปีข้างหน้า

Super Stock ใน 10 ปีข้างหน้า

เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วในตลาดหุ้นไทย มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น Value Investor ก่อกำเนิดขึ้น 

เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วในตลาดหุ้นไทย มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น Value Investor ก่อกำเนิดขึ้น 

พวกเขาเป็นนักลงทุน “หน้าใหม่” ในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นนักลงทุน “รายย่อย” และเป็น  “คนกินเงินเดือน” ที่มีรายได้ค่อนข้างดีเนื่องจากจบการศึกษาสูง  หลายคนเรียนจบจากต่างประเทศและมีตำแหน่งหน้าที่การงานในบริษัทชั้นนำของประเทศหรือบริษัทข้ามชาติ  และก็แน่นอนว่าบางคนก็มีฐานะทางบ้านที่ดีหรือดีมากและเป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว  แต่สิ่งที่เหมือนกันหมดก็คือทุกคนมีความมุ่งมั่นในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นตามแนวทางการลงทุนของ “VI” อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันนั่นก็คือ  การมองว่าหุ้นก็คือธุรกิจและเราสามารถประเมินมูลค่าของมันได้  และจะซื้อก็ต่อเมื่อมูลค่านั้นสูงกว่าราคาหุ้นมากพออย่างที่เรียกว่ามี Margin of Safety สูง และจะขายต่อเมื่อราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานหรือ “มูลค่าที่แท้จริง” นั้น

ผมคงไม่ต้องพูดว่า VI กลุ่มนั้นต่างก็ทำผลงานการลงทุนได้ดีเยี่ยม หลายคนเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี  ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ คนที่เคยกินเงินเดือนต่างก็ “เกษียณตัวเอง” ตั้งแต่อายุยังน้อยและกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัวจนถึงวันนี้ แต่ VI “รุ่นใหม่” ที่เพิ่งจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เกิน 6-7 ปีนั้น จำนวนมากก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หลายคนพยายามเสาะแสวงหาหุ้น “VI” ที่จะทำกำไรได้งดงามและเจริญรอยตาม VI รุ่นก่อนที่เป็น  “ไอดอล”  แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จนัก  และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้

VI “รุ่นใหม่” ที่เพิ่งจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เกิน 6-7 ปีนั้น จำนวนมากก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หลายคนพยายามเสาะแสวงหาหุ้น “VI” ที่จะทำกำไรได้งดงามและเจริญรอยตาม VI รุ่นก่อนที่เป็น  “ไอดอล”  แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จนัก  และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้

ปัญหาที่ผมเห็นก็คือ  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในภาวะปัจจุบันและอาจจะต่อเนื่องไปอีกนานนั้น  ไม่เอื้ออำนวยที่จะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนที่ดีเลิศอย่างที่เคยเป็นเมื่อเกือบ 10 หรือ 20 ปีก่อน  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  เราจะหาหุ้น “VI” หรือหุ้นที่จะเป็น  “Super Stock” ในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ยากมาก

วิธีหนึ่งที่จะลงทุนระยะยาวแล้วร่ำรวยเหมือน VI รุ่นก่อนนั้น ผมคิดว่า เราจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวยมาก  เพราะแม้ว่าผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำผลงานได้ดีเป็นสิบ ๆ ปีจนเปลี่ยนชีวิตได้นั้น  ผมก็คิดว่าส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ  “โชคดี” ที่ผมลงทุนในประเทศไทยในยุคนั้นซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าเร็วมากและคนไทยเริ่มต้องเก็บเงินเพื่อรองรับการเกษียณของคนที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  ซึ่งทำให้มีบริษัทหรือกิจการที่แข็งแกร่งและโตเร็ว  ขณะเดียวกันก็มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาแย่งซื้อหุ้นที่มีคุณภาพดีเหล่านั้น  ทำให้หุ้นเหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล

ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ผมใช้ซึ่งก็คือ  การซื้อหุ้นของกิจการที่ “ดีสุดยอด”  นั่นก็คือ  บริษัทที่มีความแข็งแกร่งเพราะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนและโตเร็วด้วย  ในราคาหุ้นที่ถูกหรือราคายุติธรรม   แล้วถือไว้อย่างยาวนานนับ 10 ปี  และได้รับผลตอบเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย  10 เท่า ซึ่งผมเรียกว่าเป็น  “Super Stock” วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและไม่ต้องใช้เวลาและความพยายามมาก 

สิ่งที่ต้องทำก็คือการวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ให้ถูกต้อง  เลือกหุ้นที่มีศักยภาพที่จะแข็งแกร่งและเติบโตได้อีกนานในราคาหุ้นที่ถูกหรือยุติธรรมซัก 5- 6 ตัว  เสร็จแล้วก็ติดตามดูผลประกอบการและสถานะของกิจการไปเรื่อย ๆ  เปลี่ยนตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มันหมดสภาพของซุปเปอร์สต็อก 

ถ้าทำได้แบบนี้  ในเวลา 10 ปี  เราก็จะ “เห็นหน้าเห็นหลัง”  เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยเมื่อ 10-20 ปีก่อน  ปัญหาก็คือ  แล้วที่ไหนล่ะที่เราจะทำอย่างนั้นได้ในวันนี้

คำตอบของผมก็คือ  “เวียตนาม”  ข้อแรกก็คือ สภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเวียตนามในวันนี้คล้ายคลึงกับประเทศไทยเมื่อ 10-20 ปี ก่อนมาก  ในขณะเดียวกัน  ตัวหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยก็มี Business Model หรือวิธีทำธุรกิจที่คล้ายกับตลาดหุ้นไทยในเวลานั้น  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  มีธุรกิจ “ใหม่ ๆ” ที่กำลังเติบโตอย่างแรงตามฐานะทางเศรษฐกิจของเวียตนามที่โตเร็วมาก  ซึ่งทำให้คนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและหันมาใช้สินค้าหรือบริการแบบใหม่ ๆ นั้น 

ตัวอย่างเช่น  ธุรกิจ  “Modern Trade” ทั้งหลายไล่ตั้งแต่ห้างที่เป็นช็อปปิ้งมอล Mega Store  ซุปเปอร์มาร์เก็ต  ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่  ธุรกิจขนส่งสินค้า การเดินทางและท่องเที่ยวเช่น  ท่าเรือ สนามบินและโรงแรม  ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้งเรื่องของไฟฟ้าและน้ำมัน  ธุรกิจธนาคารและการเช่าซื้อรถยนต์รวมถึงการปล่อยกู้บ้านและบัตรเครดิต 

นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคที่ยังขาดแคลนมาก  เช่น ทางด่วนและน้ำประปาที่บริษัทเอกชนเข้ามารับสัมปทานกับรัฐ  ทั้งหมดนั้น  ได้รับการพิสูจน์ในประเทศไทยแล้วว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูงที่จะกลายเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและเติบโตได้ในระยะยาว

ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ  บริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด  ยังมีราคาหรือ Market Cap. ต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่กลายเป็นซุปเปอร์สต็อกในตลาดหุ้นไทยแล้ว  ตัวอย่างหุ้นตัวที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มที่ผมคิดว่ามีมูลค่าตลาดต่ำจนแทบไม่น่าเชื่อเมื่อเปรียบเทียบกับของไทยก็เช่น

หุ้น A ที่ทำสัมปทานทางด่วนที่จะมีระยะเป็นร้อยกม. และยังมีโครงการอื่น ๆ อีกมากและถือว่าเป็นบริษัทที่ทำสัมปทานเกี่ยวกับสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดในเวียตนามนั้น  มี Market Cap. เพียง 5,000-6,000 ล้านบาท ค่า P/E 4-5 เท่า P/B 1 เท่า เศษ ๆ  และราคาหุ้นขณะนี้เท่ากับครึ่งหนึ่งของราคาสูงสุดที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน  แน่นอนว่าบริษัทก็มีปัญหามากมายและมีหนี้ค่อนข้างมาก  อย่างไรก็ตาม  มูลค่าบริษัทก็ดูเหมือนว่าจะไม่สมศักดิ์ศรีกับความใหญ่โตและสำคัญของบริษัทเลย

หุ้น B ที่ขายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดเวียตนามค่อนข้างเด็ดขาด  ซึ่งต่อมาขยายเข้าไปขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่โดดเด่น  และช่วงหลังเข้าไปทำซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กภายในชุมชนซึ่งเติบโตเร็วมาก  มียอดขายสิ้นปีที่แล้วกว่า 130,000 ล้านบาท มีสาขาทั่วประเทศนับเป็นพัน ๆ สาขา มีการเติบโตปีละ 20-30% ต่อเนื่อง  แต่ค่า P/E เพียง 9-10 เท่า Market Cap. ประมาณ 47,000 ล้านบาท  เมื่อเทียบกับยอดขายและกำไรแล้ว  ศักยภาพของบริษัทสามารถเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ไม่ยาก  อย่างไรก็ตาม  นี่คือบริษัทที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเต็มเพดานและต้องจ่ายราคาเพิ่มอย่างน้อย 40-50% จากราคาตลาด

หุ้น C ที่เป็น “จ้าวพ่อ” ด้านของเทคโนโลยีของเวียตนามในแง่ที่ว่าสามารถขายบริการเขียนโปรแกรมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก  ทำคอนเทนต์ทางด้านดิจิตอล  นอกจากนั้นยังให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตแก่องค์กรและประชาชนทั่วไป  และล่าสุดก็ยังเปิดสถาบันการศึกษาทางด้านดิจิตอลที่มีนักศึกษาเรียนกันจนล้น  ส่วนหนึ่งเพื่อป้อนบุคลากรให้บริษัทด้วย  ค่า P/E ของหุ้นแค่ 11 เท่า Market Cap. 48,000 ล้านบาท พอ ๆ  กับบริษัทที่ขายมือถือ  และก็มี Premium หรือราคาหุ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติเหมือนกันแม้จะไม่มากเท่าคือประมาณ 20-30%  และนี่ก็เป็นบริษัทที่โดดเด่นและมีความแข็งแกร่งที่ไม่เหมือนใครในตลาดหุ้นเวียตนามที่ไม่มีในประเทศไทย

หุ้น D ซึ่งเป็นบริษัทสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงนั้น เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าทั้งเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดและโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและอื่น ๆ จำนวนมาก  นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจเดิมที่ทำระบบปรับอากาศที่น่าจะใหญ่ที่สุดในเวียตนาม  รวมถึงยังมีการทำออฟฟิสราคาไม่แพงให้เช่า  ที่น่าสนใจก็เพราะว่าทรัพย์สินที่บริษัทถืออยู่โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าทั้งหลายนั้นมีมูลค่ามากและทำกำไรได้สม่ำเสมอ  แต่ Market Cap. ของบริษัทมีเพียง 14,000 ล้านบาท  ค่า P/E 7 เท่า ค่า P/B ต่ำกว่า 1 เท่า และปันผลหรือ Dividend Yield ก็มากกว่า 5% ต่อปี

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่ “ตัวอย่าง” หุ้นที่มีศักยภาพเป็น ซุปเปอร์สต็อกในอีก 10 ปีข้างหน้า ความจริงก็คือ  ยังมีหุ้นอีกหลาย ๆ ตัวที่มีความแข็งแกร่งเพราะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจที่ยั่งยืนและมีการเติบโตเร็วมาก  แต่อาจจะมีราคาหุ้นที่สูงขึ้นพอสมควรแล้วและอาจจะไม่สามารถสูงขึ้นต่ออีก 10 เด้งใน 10 ปีข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม  จากประสบการณ์ของตลาดหุ้นไทยเมื่อ 10-20 ปีก่อนนั้น  ผมพบว่าเรามีหุ้นที่กลายเป็นซุปเปอร์สต็อกกว่า 10 ตัว  ดังนั้น  ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียตนามในวันนี้ก็น่าจะสามารถสร้างหุ้นที่จะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกใน 10 ปีข้างหน้าไม่น้อยกว่า 10 ตัวเหมือนตลาดหุ้นไทยในอดีต 

อย่างไรก็ตาม  การคาดการณ์ว่าหุ้นตัวไหนจะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกก็อาจจะผิดพลาดได้  วิธีที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนเป็น “พอร์ต” ของซุปเปอร์สต็อก  ซัก 5-6 ตัวและถือหุ้นไว้ให้นานเป็น 10 ปี โดยที่อาจจะต้องมีการปรับพอร์ตบ้างเป็นระยะเมื่อมีข้อมูลของบริษัทเพิ่มขึ้นในแต่ละปี  ด้วยวิธีนี้ VI รุ่นใหม่ก็อาจจะสามารถร่ำรวยได้เหมือน VI รุ่นก่อน