มหากาพย์แห่งชีวิตของสัตว์โลก!!

มหากาพย์แห่งชีวิตของสัตว์โลก!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา .. ในยามที่โลกเข้าสู่ภาวะความผันผวนด้วยวิกฤติศรัทธาของสัตว์โลกที่มีต่อกฎธรรมชาติ..

อันแสดงความเป็นธรรมนิยาม... อะไรๆ จึงเกิดปรากฏขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความผันผวนแปรเปลี่ยนอันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสัตว์โลกโดยมวลรวมแห่งเจตจำนง .. ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในความผิดเพี้ยนไปจากธรรม..

ความผิดเพี้ยนไปจากธรรม.. ในธรรมชาติ... จึงทำให้สัตว์โลกเข้าสู่ภาวะวิปลาสทั้งในชั้นของสัญญา จิตใจ และทิฏฐิหรือความเห็น.. จึงแสดงถึงความเป็นธรรมดาที่ว่า.. ถ้าวิปลาสก็ต้องวิบัติอย่างแน่นอน...

ในความวิบัติซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ ไม่ว่าจะเป็น คติวิบัติ หมายถึง วิบัติแห่งคติ คือ การได้มาของภพภูมิที่ต่ำทราม หรือสถานที่สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ไร้ความเจริญ.. ที่อยู่ที่ไปทางดำเนินชีวิตไม่ดี .. ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำความดี แต่เปิดโอกาสให้แก่ความชั่วและผลร้าย

อุปธิวิบัติ หมายถึง ความวิบัติทางกายภาพ คือ ร่างกายพิกลพิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพไม่ดี.. รวมไปถึงมากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

กาลวิบัติ หมายถึง วิบัติแห่งกาล คือ เกิดในสมัยโลกไม่มีความเจริญ มากไปด้วยภยันอันตราย รวมถึงผู้ปกครองไม่ดี ยกย่องคนชั่ว ทำลายคนดี .. ไร้ศีลธรรม

ปโยควิบัติ หมายถึง วิบัติแห่งการประกอบกิจการเสีย คือ ประกอบกิจการงานที่ผิด .. มีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว หรืออาจจะสรุปให้เห็นอีกภาพ ได้แก่ การทำความดีที่ไม่จริงใจ ด้วยในที่สุด กลับมาทำความชั่ว หักล้างความดี...

..ย่อมจะนำมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม ด้วยการปรากฏของวิบากกรรม นอกจากอาศัยเหตุหรือการกระทำแล้ว ยังต้องอาศัยฐานของกรรม ได้แก่ ความวิบัติเป็นปัจจัยประกอบด้วย .. จึงจะเห็นได้ชัดเจน ดังที่กล่าวว่า ความวิปลาสแห่งจิต .. ย่อมนำไปสู่ทิฏฐิที่ผิดแผกไปจากธรรม.. จึงก่อกรรมด้วยมิจฉาปฏิบัติ..

มิจฉาปฏิบัติ .. ซึ่งมีผลมาจาก มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ.. จึงดำเนินไปด้วยการสนับสนุนของความวิบัติ ๔ ประการอย่างสอดรับสัมพันธ์กันอย่างมีเอกภาพ... อันเป็นไปตามหลักความสัมพันธภาพของสภาวธรรมที่ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย.. เพื่อแสดงความเป็นธรรมดาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นไปตามกฎธรรมชาติ อันดำเนินไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์...

การเข้าใจในกฎธรรมชาติ .. ตามหลักพุทธศาสนา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติหรือสัตว์โลกทั้งหลาย ที่สามารถเจริญสติปัญญาให้เกิดขึ้นได้ เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติชอบ...

การเข้าใจกฎธรรมชาติอย่างแท้จริง จะทำให้เราขจัดความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมได้.. จนสามารถเข้าใจในความเป็นจริงได้ว่า.. สุข ทุกข์ ไม่มีเราหรือเขากระทำ.. หากแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป ตามเหตุปัจจัยของสภาวธรรมนั้นๆ .. ดังที่กล่าวว่า เมื่อเหตุปัจจัยมีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมี.. เมื่อเหตุปัจจัยสิ้นไป สิ่งเหล่านั้นย่อมสิ้นไป..

พระพุทธศาสนาจึงเน้นให้ศรัทธาสาธุชนฝึกฝนอบรมจิตให้มีสติกำกับดูแลอยู่เสมอ เพื่อก่อเกิดปัญญา ไม่ว่าในชั้นของการฟัง .. การพิจารณาหรือการภาวนา.. ด้วยความเชื่อมั่นอย่างรู้เข้าใจในความเป็นธรรมดาว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยปัญญา .. หากใช้ธรรมวิธีที่ถูกต้องตรงธรรม

การอยู่ในโลกที่บ้องแบ๊วแบบนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าหวาดกลัว.. หรือน่าชื่นชมยินดี.. หากมีปัญญาที่นำไปสู่การเข้าใจในความเป็นจริงได้อย่างเป็นปกติ .. ว่า โลกมันเป็นเช่นนี้เอง.. ไม่ว่าในกาลใดหรือสมัยใดก็เป็นเช่นนี้..

แต่การจะเข้าใจในความเป็นจริง จนก่อเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องได้นั้น .. จักต้องมีจิตใจที่เป็นกลางๆ ในการเข้าไปรู้เห็นในสิ่งนั้น.. ในสภาพธรรม .. หรือในเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งหากเข้าไปรับรู้ด้วยจิตกิเลส ที่แต่งความรัก ความชัง ความหลง ไว้ก็จักทำให้จิตสูญเสียดุลยภาพแห่งความเป็นธาตุรู้ที่เป็นกลางๆ (อุเบกขา) ไป.. ทุกเรื่องราวที่จิตกิเลสของเราเข้าไปรับรู้ ก็จะโน้มเอียงไปตามความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ ในสภาพธรรมหรือเรื่องราว (อารมณ์) นั้นเอง 

ด้วยการสูญเสียดุลยภาพของจิตหนึ่งนั้น .. อันเกิดจากอำนาจกิเลสที่เป็นเหตุนำไปสู่ความวิปลาส .. ที่ให้จิตวิบัติไปจากธรรม ก่อการกระทำที่เป็นไปตามความนึกคิดอกุศล.. จนยากที่จะกลับคืนมาสู่กุศลธรรม... ทั้งนี้เพราะความประมาทในธรรมเป็นสำคัญของสัตว์ทั้งหลาย.. นี่คือมหากาพย์แห่งชีวิตของสัตว์โลกในทุกสมัย .. ที่ไม่สามารถถึงความประเสริฐได้จริง.. ..แม้ปรารถนาจะเข้าสู่ความประเสริฐแท้จริง !!

เจริญพร