เบลเยียมใช้ AI เพื่อตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างไร?

เบลเยียมใช้ AI เพื่อตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างไร?

แนวโน้มสำคัญของการจัดทำนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกในยุค 4.0 คือความพยายามพัฒนานโยบายและบริการใหม่ๆ

ที่ขับเคลื่อนด้วยประชาชนและพลเมืองในประเทศผ่านการจัดทำแพลตฟอร์มด้านนโยบาย (policy lab) แพลตฟอร์มเทคโนโลยีพลเมือง (Civic Tech) และห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Public Innovation Lab) ในรูปแบบที่หลากหลาย

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในทิศทางดังกล่าว ดังเราจะเริ่มเห็นห้องปฏิบัติการ หรือ Lab ในภาครัฐที่จัดขึ้นตามหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมดึงคนในหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกัน Hack หรือแก้โจทย์เชิงนโยบาย ที่มักเรียกกันว่า Policy Hackathon เช่นเดียวกันกับการจัด Hackathon ของหน่วยงานสตาร์ทอัพรุ่นใหม่

หัวใจของการขับเคลื่อนดังกล่าวคือความพยายามมองประชาชนและพลเมืองเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนานโยบายให้หลากหลาย ลดกระบวนการแบบสั่งการจากบนลงล่าง (Top Down Approach) ไปสู่การพัฒนานโยบายแบบล่างขึ้นบน (Bottom Up Approach) และการดึงส่วนร่วมจากประชาชนมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกัน ลดการรอพึ่งพาภาครัฐ ตลอดจนลดการพึ่งพาความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงไม่กี่คน มุ่งไปสู่การเปิดพลังทางปัญญาของประชาชนทั้งประเทศมาร่วมแก้ไขปัญหาที่ตนเองให้ความสำคัญร่วมกันกับภาครัฐ

การจะทำเช่นนั้นได้ นอกเหนือจากการเปลี่ยนทัศนคติ หรือ Mindset ของผู้ดำเนินนโยบายให้เห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนวงกว้างมามีส่วนร่วมอย่างจริงจังและจริงใจแล้ว การมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เกิดการรวบรวมความคิดเห็นและสังเคราะห์ผลอย่างรวดเร็วก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะหากประชาชนส่งข้อมูล ความต้องการหรือข้อเสนอแนะเป็นจำนวนนับหมื่นนับแสนความคิดเห็น

การสร้างแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมแบบดิจิทัลให้สามารถเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐและประชาชนจึงมีความจำเป็น รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากของพลเมืองที่ส่งมาบนแพลตฟอร์มนี้ได้อย่างรวกเร็ว เพื่อให้ประชาชนรู้สึกถึงการตอบสนองอย่างทันการของภาครัฐ บนพื้นฐานของการเปิดกว้างของการรับฟังข้อเสนอแนะและการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ความคิดเห็น รวมถึงการมีกระบวนการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการรับฟังความคิดเห็นนอกโลกดิจิทัลด้วย

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นในประเทศเบลเยียม ซึ่งมีการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI ) มาใช้ในการประมวลข้อมูลเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดย CitizenLab ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีของพลเมืองได้พัฒนาแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ใช้อัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล (Machine Leaning) เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถประมวลผลข้อมูลจากประชาชนและใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้เพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ

แดชบอร์ด (Dashboard) หรือกระดานสรุปข้อมูลแบบเรียลไทม์บนแพลตฟอร์มสามารถจัดกลุ่มไอเดียให้เป็นประเภทต่างๆ ระบุหัวข้อที่น่าสนใจที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ สรุปแนวโน้มความคิดเห็นและจัดกลุ่มข้อเสนอเป็นคลัสเตอร์ที่คล้ายคลึงกันตามลักษณะทางประชากรหรือเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แพลตฟอร์มของ CitizenLab ใช้การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing หรือ NLP) และการเรียนรู้โดยเครื่องจักร (Machine Learning) เพื่อจำแนกจำแนกและวิเคราะห์ข้อมูลของประชาชนจำนวนมากโดยอัตโนมัติ

เจ้าหน้าที่รัฐที่บริหารจัดการแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของพลเมืองนี้สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วผ่านแดชบอร์ดเรียลไทม์ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ระบุลำดับความสำคัญของปัญหาของประชาชนเพื่อนำไปพิจารณาออกเป็นมาตรการหรือนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างสะดวกรวดเร็วแพลตฟอร์มช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจำแนกผลลัพธ์ตามกลุ่มประชากรและพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ทำให้สามารถเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของลำดับความสำคัญได้ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น บางพื้นที่ให้ความสำคัญกับถนนที่ดีขึ้น ในขณะที่พื้นที่ข้างเคียงต้องการเพิ่มสัญญาณการหยุดการจราจรเพิ่มขึ้น ทำให้มาตรการสามารถออกแบบอย่างเหมาะสมกับความต้องการประชาชน ไม่เกิดมาตรการแบบเหมารวมอีกต่อไป

ในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมามีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเยาวชนชาวเบลเยียมจำนวนมากประท้วงรัฐบาลที่ไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นขบวนการ “Youth for Climate Belgium”

เพื่อตอบสนองการเคลื่อนไหว CitizenLab ได้ตั้งแพลตฟอร์ม “Youth4Climate” และเชิญชวนให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปส่งแนวคิดและข้อเสนอเพื่อจัดการกับการประเด็นด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน มีผู้ส่งแนวคิดจำนวน 1,700 แนวคิด ความคิดเห็นจำนวน 2,600 ความคิดเห็นและมีการโหวต 32,000 ครั้งให้กับความคิดริเริ่มที่ประชาชนต้องการสนับสนุน ระบบปัญญาประดิษฐ์บนแพลตฟอร์มช่วยวิเคราะห์แนวคิดเหล่านี้และจัดกลุ่มลำดับความสำคัญ 15 เรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญอย่างรวดเร็ว เช่น การส่งเสริมพลังงานสะอาด การลดขยะ การฟื้นฟูพื้นที่ป่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแบนโฆษณาสำหรับสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 16 ข้อที่มาจากประชาชนเพื่อให้รัฐบาลไปดำเนินการ

รัฐบาลที่ใช้แพลตฟอร์มแบบนี้พบว่าประสบผลในเชิงบวก โดยเมืองคอร์ไทรจ์ (Kortrijk) ใช้แดชบอร์ดเพื่อประมวลผลการมีส่วนร่วมจากประชาชน 1,300 ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ โดยสามารถจัดกลุ่มแนวคิดจากการสนทนาและแบ่งปันผลการวิเคราะห์ให้กับประชาชน สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของเมืองอย่างมีส่วนร่วม ในกรณีเมือง Temse ได้ปรึกษาประชาชนในหัวข้อการคมนาคมและค้นหาแนวคิดจากประชาชนจากสถานที่ต่างๆ ของเมืองซึ่งช่วยฝ่ายบริหารสามารถระบุพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสำคัญและตัดสินใจในเชิงพื้นที่ที่จะจัดสรรเงินลงไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม

การใช้ทัศนคติแบบเปิดร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยดึงภูมิปัญญาจากประชาชนเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตให้กับประเทศในโลกยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/