อนาคตนโยบายสุขภาพในศตวรรษที่ 21

อนาคตนโยบายสุขภาพในศตวรรษที่ 21

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต

 โดยได้มีโอกาสแบ่งปันถึงภาพฉากทัศน์อนาคตของประเทศไทยหลังโควิด-19 และเป็นผู้นำกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณสุขผ่านกระบวนการ Policy Lab

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เขียนได้เรียนรู้ประเด็นด้านสุขภาพจำนวนมากจากผู้แทนทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการบริหารจัดการและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความท้าทายจากโรค NCD การพัฒนาของเทคโนโลยี การเพิ่มขึ้นของข้อมูลสุขภาพ ตลอดจนข่าวปลอมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือวิธีการรักษา โอกาสในการเกิดโรคระบาด แรงกดดันในด้านงบประมาณ และการวางแผนกำลังคนสาธารณสุขในอนาคต รวมทั้งเรื่องการหาความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางสุขภาพ (Health Security) และเศรษฐกิจสุขภาพ (Health Economy)

ประเด็นใหญ่คือเรื่องการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับระบบสุขภาพของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย

งานวิจัย OECD (2020) ชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ละกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว วงการสุขภาพยังถือว่ามีการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลช้ากว่าในหลายๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเงิน การบินและสื่อมวลชน ทั้งที่ประชาชนมีความต้องการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น เช่น การดาวน์โหลดแอพด้านสุขภาพเพิ่มเป็นกว่า 3.7 ล้านครั้งในปี 2017 และการหาข้อมูลด้านสุขภาพในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สภาพการณ์นี้ OECD สรุปด้วยคำว่า “Data Rich But Information Poor” หรือข้อมูลสุขภาพมีมาก แต่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือสารสนเทศมีน้อย

งานวิจัยชี้ว่าระบบสุขภาพทั่วโลกยังใช้วิธีคิดแบบโลกอะนาล็อกที่บริหารจัดการแบบไซโลและเบี้ยหัวแตก ทั้งที่โลกดิจิทัลเอื้อให้สามารถบูรณาการการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและราคาถูก ที่ผ่านมา มีบางประเทศที่มีความก้าวหน้าสูงในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลขนาดใหญ่มาปฏิวัติวงการสุขภาพ เช่น เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ อิสราเอล ลิทัวเนีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน

ตัวอย่างในเอสโตเนีย ประชาชนทุกคนที่ได้รับการประกันโดยกองทุนประกันสุขภาพ (Estonian Health Insurance Fund) สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพผ่านเว็บพอร์ทัลได้ ฐานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติที่รวบรวมข้อมูลจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่บันทึกข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ไว้ รวมถึงข้อมูลการวินิจฉัยโรค การตีความและการรักษาตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับยาที่เคยจ่ายให้ไป

ประชาชนยังสามารถสร้างสรุปเอกสารข้อมูล เช่น เอกสารสรุปกรณีของตนเอง แผนภูมิการดูแลทันตกรรม รวมถึงการตั้งค่าการแจ้งเตือน นัดหมายแพทย์ แจ้งสถานพยาบาลทุกแห่งพร้อมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ติดต่อ การแสดงเจตนาให้ทราบ เช่น การลงทะเบียนเพื่อบริจาคอวัยวะ เป็นต้น ประชาชนสามารถยื่นขอใบรับรองสุขภาพผ่านการตรวจทางการแพทย์เสมือน และจัดทำเอกสารดังกล่าวได้และนำไปยื่นใช้ต่อในเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น เพื่อขอรับใบขับขี่ เป็นต้น

ในเอสโตเนีย ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเอง ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ใช้ถือเป็นผู้ดูแลข้อมูลของตนเองจึงสามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลได้ ผู้ใช้ที่เป็นผู้ใหญ่สามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลและแต่งตั้งตัวแทนสำหรับการดำเนินกิจกรรมบางอย่าง เช่น การซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายได้

ในด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ระบบจะอาศัยการพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัล การลงนามดิจิทัล การเข้ารหัส และการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์และการบันทึกกิจกรรมทั้งหมดโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงการดูแลสุขภาพทุกการสืบค้นข้อมูลจะส่งผลให้เกิดการบันทึกที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การละเมิดจึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างสมบูรณ์

ในกรณีอิสราเอล ได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและข้อมูลขนาดใหญ่ มีการจัดตั้งแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกลแห่งชาติ (Telemedicine Platform) โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวจำกัดและผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลบริการ ผู้ให้บริการที่ใช้แพลตฟอร์มสามารถเข้าถึงไฟล์การแพทย์ของผู้ป่วยและสามารถแบ่งปันข้อมูลกับผู้ให้บริการรายอื่น โดยมี 4 บริการทางไกล ได้แก่ การบริหารจัดการโรคเรื้อรัง (Chronic Disease Management) การบริหารข้อมูลสุขภาพ (Health Data Management) บริการให้คำปรึกษาทางไกล (Tele-Consultation) และบริการฟื้นฟูสุขภาพทางไกล (Tele-Rehabilitation)

ในอนาคต วาระนโยบายสุขภาพจึงมีเรื่องต้องทำอีกมาก นอกเหนือโควิด-19 เพราะการระบาดของโรคในครั้งนี้ปลุกให้ทุกคนในโลกนี้ตื่นขึ้นมาพร้อมกันและวางเรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญของชีวิตทุกคน

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/