ข้อเสนอ “โมเดลโคเวล” – บริหารเศรษฐกิจมหภาคฝ่าวิกฤติ COVID

ข้อเสนอ “โมเดลโคเวล” – บริหารเศรษฐกิจมหภาคฝ่าวิกฤติ COVID

แม้การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยสามารถควบคุมได้แล้ว แต่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่น่ากังวลยิ่งกว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มตกต่ำรุนแรงกว่าที่คาด

 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2563 จากติดลบ 5.3% เป็นติดลบ 8.1%

ปัจจุบัน เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหยุดชะงักหรือชะลอตัวเกือบทั้งหมด ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทหลัก เช่น การแจกเงินช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ การประคองภาคธุรกิจให้อยู่รอด โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ การปรับโครงสร้างหนี้ และให้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผมได้คาดการณ์ว่า วิกฤติโควิดจะส่งผลกระทบเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ในสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ รัฐบาลอาจมีงบประมาณไม่เพียงพอ ที่จะประคับประคองธุรกิจและอุดหนุนคนว่างงานจำนวนมากได้

ผมจึงขอเสนอ “โมเดลโคเวล-แมคโคร” หรือโมเดล การบริหารเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเปลี่ยนสถานการณ์ Covid ให้กลายเป็น Cowell คือทำให้ประชาชนไม่ยากลำบากจนเกินไปในภาวะวิกฤต โดยเน้นมาตรการสร้างรายได้ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง (Continuous Domestic Revenue Generating Stimulus) เพื่อทดแทนรายได้จากต่างประเทศที่หายไป

  1. เปลี่ยนจุดเน้นจาก จีดีพี เป็น การจ้างงานเต็มที่

หนึ่งในปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ คือ ประชาชนจำนวนมากว่างงานหรือมีรายได้ลดลง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ไตรมาส 1 ปี 2563 มีคนเสี่ยงตกงานสูงถึง 8.4 ล้านคน หรือ 21% ของกำลังแรงงาน ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ 4.4% ในปี 2541

การบริหารเศรษฐกิจควรให้น้ำหนักกับเป้าหมายการจ้างงานเต็มที่ (full employment) โดยในระยะสั้นที่ยังไม่มีฐานข้อมูลการทำงานของคนทั้งประเทศ ภาครัฐอาจนำข้อมูลผู้ลงทะเบียนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน และผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม มาวิเคราะห์และออกแบบโครงการสร้างงานที่เหมาะสมกับคนกลุ่มต่าง ๆ ใน 8 พันตำบล 50 เขต และใช้การสร้างงานเป็นเกณฑ์พิจารณาโครงการของรัฐ รวมทั้งใช้อัตราการว่างงานเป็นดัชนีหลักในการประเมินผลของนโยบายเศรษฐกิจ

  1. เปลี่ยนวิธีช่วยเหลือจาก welfare เป็น workfare

แม้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์แล้ว แต่ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างสูง จะทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถดูดซับคนว่างงานได้ในระดับเดิม โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว จึงยังทำให้มีผู้ว่างงานจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรเปลี่ยนจากการแจกเงิน เป็นการให้เงินโดยแลกกับการทำงาน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น การสร้างผลผลิตซึ่งนำไปขายหรือสร้างรายได้ต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้คนว่างงานมีรายได้ต่อเนื่อง การทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือเพิ่มพูนทักษะของผู้ว่างงาน หรือมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ซึ่งผมได้นำเสนอแนวคิดไปบ้างแล้วในบทความ “ข้อเสนอการสร้างงานในวิกฤติ COVID

  1. เปลี่ยนหน่วยการช่วยเหลือจาก บุคคล เป็น กลุ่มคน

ที่ผ่านมา หน่วยของการช่วยเหลือ คือ บุคคล เช่น การแจกเงินเป็นรายบุคคล ซึ่งเงินอุดหนุนอาจไม่เพียงพอสำหรับครอบครัวที่มีคนทำงานเพียงคนเดียว ผมจึงเสนอว่า รัฐบาลควรพิจารณาหน่วยการช่วยเหลือเป็นครอบครัว เพื่อให้ความช่วยเหลือเพียงพอสำหรับทุกคน นอกจากนี้ การสร้างงานที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาชีพอิสระหรือกิจการขนาดจิ๋ว หากร่วมมือกันทำในระดับครอบครัว จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าทำเพียงลำพัง

ในภาวะที่มีคนว่างงานอพยพกลับถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก การสนับสนุนการสร้างงานและการสร้างระบบสวัสดิการโดยชุมชนน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เช่น การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนในตัวเอง (self-sustained community) โดยสร้างงานหรือกิจกรรมการผลิตที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานในชุมชนสมบูรณ์มากขึ้น (ตั้งแต่ผลิตวัตถุดิบ จนถึงการตลาด) หรือการสร้างระบบสวัสดิการในชุมชน โดยการส่งเสริมให้วัดหรือศาสนสถานเป็นศูนย์กลางระดมทรัพยากรสำหรับการช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากในชุมชน (เช่น โรงทาน) และร่วมมือเป็นเครือข่ายเพื่อเกลี่ยทรัพยากรระหว่างชุมชน

  1. เปลี่ยน ทรัพยากร เป็น รายได้

ในภาวะวิกฤติ รัฐบาลไม่ควรพึ่งพางบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่ควรส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อสร้างเป็นรายได้ เช่น ปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตของภาคการผลิต (capacity utilization) ลดลงจาก 65% ในช่วงต้นปี เหลือเพียง 55% ในเดือนเม.ย. รัฐบาลควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนค้นหาวิธีที่สร้างสรรค์ ในการนำทรัพยากรในองค์กร ทั้งความรู้ ชุดทักษะ เครื่องจักร มาสร้างรายได้ โดยรัฐอาจให้การสนับสนุนที่ปรึกษา เทคโนโลยี และเงินทุน

ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยยังมีทรัพยากรจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ที่ดินรกร้าง ป่าไม้ เป็นต้น เราควรหาวิธีใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ เช่น การนำพื้นที่รกร้างมาสร้างอาชีพ การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้เพื่อสร้างรายได้ โดยไม่ทำลายป่า เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน แล้วอนุญาตให้คนว่างงานเก็บซากใบไม้ในป่ามาขายแก่โรงไฟฟ้า โดยให้เก็บในปริมาณที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ และยังช่วยลดเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดไฟป่าอีกด้วย

  1. เปลี่ยน เงินออม เป็น เงินลงทุน

สถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ จึงออมเงินมากกว่านำเงินมาใช้จ่ายหรือลงทุน สังเกตได้จากยอดเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก หรือมีการนำเงินออมไปซื้อทองคำจนทำให้ราคาทองเพิ่มสูงขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์เน้นการรักษาสภาพคล่อง และไม่ปล่อยสินเชื่อ ทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืดซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้คนไม่ใช้จ่ายเงินมากขึ้นไปอีก

ภาครัฐจึงควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำเงินออมมาลงทุน เช่น การออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากประชาชน การจัดตั้งกองทุนหรือโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการสาธารณะ แล้วขายหุ้นให้ประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินควรสนับสนุนการใช้จ่ายหรือลงทุนด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณเงินในภาคเศรษฐกิจจริง (โดยเฉพาะ SME) ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้คนนำเงินออมไปใช้จ่ายหรือลงทุนมากขึ้น

ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและยืดเยื้อ รัฐบาลไม่สามารถทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณมากเป็นเวลายาวนานได้ การบริหารเศรษฐกิจมหภาคจึงต้องพยายามจุดเครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศให้กลับมาทำงาน เพื่อทำให้เกิดกิจกรรมที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง และทำให้ประชาชนไม่ยากลำบากจนเกินไป