โจชู : แคว้นผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นปัจจุบัน

โจชู : แคว้นผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นปัจจุบัน

โจชู เป็นแคว้นหนึ่งในสมัยสงครามกลางเมือง (戦国時代) ในยุครุ่งเรืองสุดขีด

แคว้นนี้ครอบคลุมอาณาบริเวณเมือง 10 แห่งทางตะวันตกของเกาะฮอนชู และด้านเหนือของเกาะกิวชิว ในช่วงที่โตโยโตมิ ฮิเดโยชิเป็นโชกุน แคว้นนี้มีศักดินา 1.12 ล้านโคขุ หรือราว 4,740 เกวียน ในปลายสมัยฮิเดโยชิ เจ้าแคว้นมีสถานะเป็น 1 ใน 5 ผู้อาวุโส ดังนั้น ในคราวสงครามเซกิงะฮารา (関ヶ原) ที่โทกุงาวา อิเอยาสุ ต้องการช่วงชิงตำแหน่งโชกุน โมริ เทรุโมโต (毛利輝元) เจ้าแคว้นโจชูขณะนั้น คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังอิชิดะ มิทสึนาริ (石田三成) ให้เข้ารบกับโทกุงาวา อิเอยาสุ

ในระหว่างสงคราม โยชิคาวา ฮิโรอิเอ (吉川広家) ลูกพี่ลูกน้องของเทรุโมโตได้แอบติดต่อกับฝ่ายโทกุงาวา ว่าตระกูลโมริไม่มีเจตนาเป็นอริและได้รับการรับรองว่าอาณาเขตของแคว้นจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือน แต่ว่าภายหลังสงครามอิเอยาสุ ได้พบหลักฐานในปราสาทโอซากาว่า เทรุโมโต มีบทบาทอย่างสำคัญในกองทัพของฝ่ายตะวันตก(ฝ่ายตรงข้าม) จึงถูกลงโทษด้วยการลดอาณาเขตลง เหลือเพียงเมืองนางาโตะ (長門) และ สึโอ(周防) และลดศักดินาของตระกูลโมริ ลงเหลือ 298,480 โคขุ หรือราว 1,263 เกวียน และให้หลานชื่อ โมริ ฮิเดนาริ (毛利秀就) เป็นเจ้าแคว้นแทน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1600 ตามมาด้วยการให้สร้างเมืองใหม่ที่ฮางิ (萩) ในปี 1604 หลังจากนั้น มีการสำรวจพื้นที่ของอาณาเขตปกครองใหม่และเสร็จสิ้นลงในปี 1610 ปรากฏว่า มีศักดินาจริงถึง 539,268 โคขุหรือราว 2,283 เกวียน ซึ่งมากกว่าเจ้าแคว้นฮิโรชิ มาที่รบในฝ่ายโทกุงาวา และมีความดีความชอบมากเสียอีก ที่ประชุมฝ่ายบริหารของโชกุน จึงให้ลดศักดินาลงเหลือเพียง 369,411 โคขุหรือ 1,564 เกวียน แม้ว่าระดับศักดินาที่กำหนดให้นี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้น แต่ศักดินาจริงในปลายสมัยโทกุงาวากลับเพิ่มขึ้นจนมีมากกว่าล้านโคขุ ทั้งๆ ที่พื้นที่ภายในแคว้นเต็มไปด้วยสภาพภูเขาที่ทุรกันดาร

การลดพื้นที่แคว้น ลดศักดินา และให้สร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้ชาวแคว้นโจชู โกรธเคืองโทกุงาวาเป็นอย่างมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะล้มโทกุงาวาตั้งแต่นั้นมา ถึงกับมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ทุกๆ ปีใหม่ ผู้อาวุโสของแคว้นจะเรียนเจ้าแคว้นที่หน้าห้องนอนว่า “การเตรียมตัวล้มโทกุงาวาพร้อมแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยัง” เจ้าแคว้นก็จะตอบว่า “ยังเร็วเกินไป” ถ้าหากชาวแคว้นโจชูไม่ได้มีความคิดเหมือน ๆ กันเช่นนั้น เรื่องเล่าที่ว่าก็คงจะไม่เกิดขึ้นเป็นแน่

ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โจชู มีสายสัมพันธ์กับพระจักรพรรดิมาอย่างยาวนาน โดยการสนองพระเดชพระคุณราชการบ้านเมือง ทั้งการบริหาร สารบรรณ การคลัง และ นักรบ ตั้งแต่สมัยโชกุน มินาโมโต โนะโยริโตโม (源頼朝) อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไดเมียวกับพระจักรพรรดิ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในสมัยโทกุงาวา ด้วยเหตุที่การล้มโชกุนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากพระจักรพรรดิ แม้ว่าโจชูจะเป็นศัตรูสำคัญ 1 ใน 5 ของโทกุงาวา ก็ยังได้รับความยินยอมจากโชกุน ให้ถือปฏิบัติได้ ด้วยเหตุที่โทกุงาวาเคารพแนวทางที่แต่ละตระกูลได้เคยปฏิบัติมา

ตั้งแต่ช่วงกลางของเอโดะเป็นต้นมา ทุกแคว้นต่างประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง อันส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของแต่ละแคว้นโจชู ก็ไม่ได้ยกเว้นเจ้าแคว้นโดยคำเสนอแนะของมุราตะ เซอิฟู (村田清風) ดำเนินการส่งเสริมการค้าทางทะเลผ่านเมืองท่าชิโมโนเซกิ ฐานะทางการคลังก็ดีขึ้นเป็นอย่างมาก กล่าวกันว่า แม้โจชูจะใช้เงินซื้ออาวุธและเรือรบจากตะวันตกจำนวนมากแล้ว ก็ยังคงมีเงินเหลืออีกมากเป็นล้านชั่ง ในช่วงปลายสมัยโทกุงาวา โจชูจึงกลายเป็นแคว้นที่เข้มแข็งที่สุด

ในปี 1853 หรือคะเออิ (嘉永) ปีที่ 6 โทกุงาวาจำเป็นต้องสยบต่อคำขอเปิดประเทศของสหรัฐ โดยไม่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระจักรพรรดิก่อน ทั้งๆ ที่โทกุงาวาเองมีนโยบายปิดประเทศมานมนาน พระจักรพรรดิที่ทรงไม่เอ่ยพระโอษฐ์เกี่ยวกับนโยบายของโทกุงาวามาก่อน ก็ยังทรงแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผย โจชูเป็นหนึ่งในหลายแคว้นที่จงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ แสดงความไม่พอใจต่อโทกุงาวา และต่อต้านชาวต่างชาติที่ภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า ซนโนโยอิ (尊王襄夷) ผู้ที่เป็นผู้นำ “ซนโนโยอิ” ของโจชูอย่างแข็งขันก็คือ โยชิดะ โซอิน (吉田松陰) คำๆ นี้เริ่มต้นโดยแคว้นมิโตะ แต่ก็สอดคล้องกับชาวโจชู ที่จงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิและรังเกียจชาวต่างประเทศ

ชาวโจชูเองก็มีความเห็นแบ่งเป็นสเปคตรัม ตั้งแต่ฝ่ายนิยมต่างประเทศมากที่เรียกร้อง “ยุทธศาสตร์มองการณ์ไกลว่าด้วยการเดินทะเล” ไปจนถึงฝ่ายต่อต้านสุดกู่แบบโยชิดะ โชอิน ฝ่ายนิยมต่างประเทศถึงขั้นร่วมมือกับโทกุงาวา ที่เรียกว่าโคมุงัดไท (公武合体) หรือ รัฐร่วมนักรบ(แคว้น) เหตุการณ์รุนแรงที่สืบเนื่องมาจากการต่อต้านต่างชาติเกิดขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การลอบสังหาร อิอิ นาโอสุเกะ (井伊直弼) 1 ใน 5 ผู้อาวุโสของโทกุงาวา ที่หน้าประตูซากุราดะมอน ในปี 1860 จนถึงการลอบทำร้าย อันโด โนบุมาสะ (安藤信正) และ คุเสะ ฮิโรจิขะ (久世広周) ที่หน้าประตูซากะชิตะมอนในเกียวโตในปี 1862  โยชิดะถูกประหารด้วยเหตุการณ์ที่ซากุราคะมอน แต่ลูกศิษย์ชื่อ คุซากะ เคนซุย (久坂玄瑞) ก็รับช่วงต่อมา ฝ่ายนิยมต่างชาติของโจชู นางาอิ อุตะ (長井雅楽) ถูกบังคับให้คว้านท้องตายในปี 1863 กระแสในโจชูจึงโถมเข้ามาที่ฝั่งต่อต้านต่างชาติ ที่นำไปสู่การสังหารผู้สนันสนุนการเปิดประเทศในเกียวโต โทกุงาวา อิเอโมจิ โชกุนในขณะนั้น ก็ถูกในวังบังคับให้ประกาศต่อต้านต่างชาติด้วย โดยมีกำหนดเส้นตาย ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 1863 ณ. กำหนดนั้นเอง ฝ่ายโจชู สั่งปิดช่องแคบชิโมโนเซกิและยิงปืนใหญ่ถล่มเรือต่างชาติ ฝ่ายต่างชาติก็ถล่มกลับ และแน่นอนว่าต้องเป็นฝ่ายชนะ

การต่อสู้กับต่างชาติครั้งนั้น มีกองกำลังประชาชนเกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญคือ กองกำลังสายฟ้าแลบ(奇兵隊) ของทาคาสุงิ ชินซากุ (高杉晋作) แม้ว่าจะประสบกับความล้มเหลว กองกำลังนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของกองทัพโจชู ในสงครามกับโทกุงาวา ครั้งที่ 2 และสงครามโบชิน (戊辰戦争) ในภายหลัง

หลังจากการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของพระจักรพรรดิ โจชู ก็มีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในราชสำนัก แต่ก็ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง แคว้นอะอิทสึ ที่เป็นกองกำลังรักษาความปลอดภัยหลักในเกียวโต ขับไล่ฝ่ายโจชูออกจากหน้าที่รักษาการณ์ประตู ด้านใต้ของพระราชวัง หรือซาไกมาจิ โงะมอน (堺町御門) อีกทั้งขับไล่ขุนนางในวังที่มาจากฝ่ายโจชูออกไปทั้งหมด 7 คนที่เรียกกันว่า “รัฐประหาร 18 สิงหา” (八月十八日の政変) วันที่ 5 มิ.ย.1864 กองกำลังรักษาพระนคร ชินเซนงูมิ (新撰組) บุกโจมตีโรงแรมอิเคดะยะ (池田屋) ที่ชาวโจชูพักอยู่และสังหารผู้มีอุดมการณ์จงรักภักดี และต่อต้านต่างชาติจำนวนมาก ทั้งยังกวาดล้างพวกหัวรุนแรงทั่วเกียวโตอีกด้วย ทั้ง 2 ฝ่ายต่าง มีบันทึกหลังเหตุการณ์กล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นผู้ก่อเรื่อง แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้ทั้งสิ้น 

ที่มา: 幕末維新 長州傑士列伝 編集人:竹内清乃 東京平凡社