ทำธุรกิจกับอียู หลังโควิด-19: ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร

ทำธุรกิจกับอียู หลังโควิด-19: ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร

สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคจะหดตัวกว่า 7.4% ในปี 2563 และกลับมาขยายตัว 6.1% ในปี 2564 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และตัวเลขการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สืบเนื่องจากมาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลจำเป็นต้องนำออกมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ สำหรับตัวเลขการค้า คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า ในปี 2563 การส่งออกของอียูจะหดตัว 9-15% (คิดเป็น 282-470 พันล้านยูโร) และการนำเข้าจะลดลง 11-14% (คิดเป็น 313-398 พันล้านยูโร) โดยภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องจักรและยานยนต์ได้รับผลกระทบมากสุด

นาย Paolo Gentiloni กรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนพ.ค. 2563 ว่า ประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เท่ากัน และความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะเร็วช้าต่างกันด้วย ขึ้นอยู่ว่าแต่ละประเทศจะออกจากมาตรการล็อคดาวน์ได้เมื่อไร การพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมีมากน้อยเพียงใด และสถานะทางการเงินก่อนวิกฤติเป็นอย่างไร ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบตลาดเดียวของ อียูและยูโรโซนเป็นอย่างมาก เว้นแต่ประเทศสมาชิกจะหันหน้าเข้าหากันและหาทางออกร่วมกันในระดับอียู นอกจากนี้ นาย Gentiloni มองว่า วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้รุนแรงกว่าวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปเมื่อปี 2552 (ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัว 4.5%) โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ได้แก่ กรีซ อิตาลี สเปน โครเอเชีย (และฝรั่งเศสในระดับรองลงมา)

น่าจะเป็นข่าวดีที่ในขณะนี้ ยอดผู้ติดเชื้อในยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. โดยร้านอาหารซึ่งเป็นกิจการกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวและกลุ่มสุดท้ายที่รอคำอนุญาตให้เปิดบริการอีกครั้ง เริ่มได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินกิจการแล้วในหลายประเทศ และเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนสามารถเดินทางในยุโรปเพื่อการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ซึ่งหลายประเทศในยุโรปใต้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่ายุโรปส่วนอื่นต่างมีความคาดหวังที่จะได้รายได้จากการท่องเที่ยวในฤดูร้อนนี้มาช่วยพยุงวิกฤติทางเศรษฐกิจ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อียูและรัฐบาลประเทศสมาชิกได้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 แล้วหลายชุด ทั้งเงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับประชาชน ลูกจ้าง บริษัท SME และประเทศสมาชิก โดยในขณะนี้ ประเทศสมาชิกอียูอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนองบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งมีวงเงินสูงถึง 1.85 ล้านล้านยูโร อันประกอบด้วย 1) กองทุนฟื้นฟู “Next Generation EU” จำนวน 7.5 แสนล้านยูโร โดยแบ่งเป็นเงินให้เปล่า 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโร และ 2) กรอบงบประมาณ Multiannual Financial Framework (MFF) จำนวน 1.1 ล้านล้านยูโร สำหรับช่วง 7 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2021-2027) โดยคาดว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในเดือนก.ค.นี้ ทั้งนี้ แผนงบประมาณดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจอียูทั้งระบบให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าและกลับเข้าสู่ภาวะการเติบโตได้อีกครั้ง รวมถึงเป็นบทพิสูจน์ความเป็นเอกภาพของ อียูที่มักถูกวิจารณ์ว่าเริ่มอ่อนแอลงนับจากเหตุการณ์ Brexit

แนวทางการปรับตัวเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย

แม้ว่าเศรษฐกิจของอียูมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญความท้าทายอยู่มาก แต่อียูก็ยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจยุคหลังโควิด-19 ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย ทีมงาน Thaieurope ได้สรุปแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

1) การกระจายห่วงโซ่อุปทาน (supply chain diversification)

ที่ผ่านมา ในยุคโลกาภิวัฒน์ ภาคการผลิตโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติต่างๆ เน้นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด ทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จีนไม่สามารถส่งออกสินค้าได้เหมือนปกติ ประกอบกับหลายประเทศได้ออกมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้า ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงัก ทำให้หลายชาติเช่น ประเทศสมาชิกอียู ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต้องทบทวนกลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองใหม่ โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเดียว (single-line supply chain) มาสู่การกระจายห่วงโซ่อุปทาน (supply chain diversification) ในหลายประเทศและหลายทวีปมากขึ้น รวมทั้งย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับมาในประเทศตนเอง (reshoring) โดยเฉพาะสำหรับสินค้าจำเป็น เช่น เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ อาหาร รวมทั้งวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และแร่ธาตุต่าง ๆ (โคบอลท์ ลิเธียม ทองแดง)

ทั้งนี้ หน่วยงานส่งเสริมการค้าการลงทุนของเขตฟลานเดอร์ประเทศเบลเยียม (Flanders Investment & Trade) มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจเบลเยียมเริ่มตระหนักว่าไม่ควรพึ่งพาประเทศหนึ่งประเทศใดจนเกินไป และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเชื่อมโยงกับคู่ค้าต่างประเทศหลายรายขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมหลายภูมิภาคเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดกับสายการผลิต ในขณะที่สมาพันธ์ภาคธุรกิจของยุโรป (BusinessEurope) ออกมาเตือนว่านโยบายสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับภูมิภาคยุโรป (reshoring) เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะจะส่งผลให้สินค้าในประเทศมีปริมาณมากเกินความต้องการ นอกจากนั้น การปกป้องทางการค้าไม่ใช่ทางออก และอียูต้องยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังนอกภูมิภาคยุโรปของภาคธุรกิจ เป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ และการแสวงหาตลาดผู้บริโภคที่เกิดใหม่ พร้อมย้ำว่าการค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจอียูฟื้นตัว โดยอียูควรเร่งทำความตกลงทางการค้ากับคู่ค้าต่างๆเพื่อขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ

2) การให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์

เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะยารักษาโรค เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติในครั้งนี้ เนื่องจากอียูต้องพึ่งพาการนำเข้าส่วนผสมยาจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะจากจีน และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของปริมาณความต้องการภายในประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาดังกล่าวในอนาคต อียูจึงต้องการผลักดันการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อยกเว้นอากรสำหรับเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุทานเหมือนในช่วงโควิด-19 อีก รวมถึงการผลักดันให้ประเทศอื่นปรับมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของยาให้สอดคล้องกัน ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าเป็นห่วงโซ่อุปทานสินค้าประเภทนี้ให้กับอียู เพราะอียูก็ยอมรับว่าแม้มีความต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทาน แต่ก็คงไม่สามารถเคลื่อนย้ายฐานการผลิตกลับมายังอียูได้ทั้งหมด

3) การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

วิกฤติในครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้ประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงงาน สิทธิมนุษยชน รวมถึงสุขอนามัยและความปลอดภัย มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ โดยนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนโลกหลังโควิด-19 ในการประชุม High-Level Event on Financing for Development in the Era of Covid-19 and Beyond ของ UN โดยมุ่งเน้นการร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลกบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียว ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน และสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนั้น อียูยังเตรียมประกาศจะเสนอร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อบังคับให้ภาคเอกชนอียูตรวจสอบ supply chain ของสินค้าเพื่อแสดงว่าไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ European Green Deal และจากข้อร้องเรียนที่ว่าความต้องการสินค้าด้านการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้นอาจมาจากการผลิตที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ดังนั้น ในการดำเนินการค้ากับอียู ผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขภาพและความปลอดภัย โดยอียูมีแนวโน้มจะเพิ่มระดับมาตรฐานด้านความยั่งยืนทั้งกับตัวสินค้าและกระบวนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4) การสู้โรคระบาดด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ (3D printing)

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายโรงงานต้องปิดกิจการชั่วคราว และเทคโนโลยี 3D Printing ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การผลิตสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะอุปกรณ์การแพทย์ เช่น หน้ากากป้องกันการติดเชื้อและเครื่องช่วยหายใจยังสามารถดำเนินต่อได้ แม้ว่าในปัจจุบันการผลิตด้วย 3D Printing จะยังมีต้นทุนสูงและผลิตได้น้อยชิ้น แต่ 3D Printing เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างความยืดหยุ่นให้กับสายการผลิต และการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติในอนาคต ดังนั้น จึงน่าจะมีการพัฒนา hardware และ software เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ 3D Printing ให้ผลิตชิ้นงานได้ในจำนวนมากขึ้นและต้นทุนต่ำลง อันจะทำให้ 3D Printing เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพและเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม

5) การใช้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด จากผลพวงของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานจากที่บ้าน ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการสื่อสารมากขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดการเรียนการสอน หรือการพบแพทย์ในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาผนวกกับการเดินทางท่องเที่ยว และการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นระบบ e-payment ที่ทันสมัย ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่สั่งซื้ออาหาร หรือสิ่งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ หลังจากสถานการณ์ของการระบาดของไวรัส อาจจะทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป และเทคโนโลยีจะช่วยให้การเชื่อมโยงทางธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การพัฒนา hardware และ software เพื่อรองรับการทำงาน การประชุมและการหารือทางธุรกิจออนไลน์ รวมทั้งการพัฒนาระบบ e-commerce และ e-payment จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำการค้าของผู้ประกอบการไทยในอนาคตและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

กล่าวโดยสรุป คือ ผู้ประกอบการควรต้องปรับตัวเพื่อเตรียมเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 โดยควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ตลอดจนเพื่อขยายช่องทางการตลาดและเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน รวมถึงสุขอนามัยและความปลอดภัย โดยเข้ามาบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่มุ่งเน้นการก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัลอีกด้วย