CPTPP - ข้อสังเกตจากบางประเทศสมาชิกและนัยสำคัญเชิงนโยบาย(จบ)

CPTPP - ข้อสังเกตจากบางประเทศสมาชิกและนัยสำคัญเชิงนโยบาย(จบ)

การเจรจาด้านอัตราภาษีศุลกากรก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจ

 ตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่า สหรัฐ เวียดนาม และญี่ปุ่น เป็นกลุ่มที่ยกเลิกภาษีศุลกากรเป็นสัดส่วนที่น้อย สำหรับสินค้าเกษตรกรรม เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราภาษีของญี่ปุ่นที่ยังคงค้างอยู่ทั้งสิ้น 2,328 รายการ เป็นสินค้าเกษตรกรรมทั้งหมด ไม่มีสินค้าอื่นเลย ต้องสังเกตต่อไปด้วยว่า 19% ของจำนวนนี้จะไม่มีการยกเลิกเลย เวียดนามไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทำไมยกเลิกอัตราภาษีในรอบแรกทันทีเป็นจำนวนน้อย เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรมเหมือนไทย แต่สำหรับสหรัฐและญี่ปุ่นแล้ว ต่างพยายามปกป้องสินค้าเกษตรกรรมอย่างถึงที่สุด ดังนั้น คำถามจึงกลับมาที่กรมเจรจาการค้าระหว่าง ประเทศว่าท่านมีจุดยืนในการปกป้องภาคเกษตรกรรมอย่างถึงที่สุดหรือไม่ ถ้าหากมีแนวคิดปกป้องภาคเกษตรกรรมอยู่บ้าง ถามว่าท่านได้ศึกษารายละเอียดสินค้าเกษตรกรรมทุกรายการแม้แต่รายการเล็กๆ หรือไม่ ในลักษณะเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้ทำ ถ้าหากท่านศึกษาแต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดให้เป็นสาธารณะเลย ก็ถือว่าไม่มีความโปร่งใสเพียงพอและไม่ได้แสดงถึงความจริงใจต่อประชาชนจำนวน มากที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ท่านได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างเต็มที่แล้วหรือไม่? ในกรณีนั้นประชาชนก็ไม่ควรจะยอมรับ CPTPP ที่ท่านจะเจรจาหรือเจรจามา

159208799452 การปกป้องสินค้าเกษตรกรรมและพันธุ์พืชไทยอย่างถึงที่สุดดังกล่าวข้างต้น ถือเป็น 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดในการเจรจาเข้า CPTPP สำหรับบทความนี้ เรื่องอื่นๆ ที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถือว่าสำคัญ แต่กฏระเบียบระหว่างประเทศที่มีอยู่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ตัวอย่างเช่น การเจรจาราคายาและ compulsory licensing กระทำได้ภายใต้ CPTPP เพื่อประโยชน์และสาธารณะสุขแห่งสาธารณะชน โดยทั่วไป Investor-State Dispute Settlement (ISDS) สามารถขอยกเว้นได้เช่นเดียวกับนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ safeguard สามารถใช้ได้กับการปกป้องสาธารณะสุข สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และอื่น ๆ

ในที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้จากการเข้า CPTPP โดยจีดีพีเพิ่มเพียง 0.12 หน่วยเปอร์เซนต์ นั้นน้อยเกินไปและไม่เพียงพอกับความยุ่งยากต่างๆ ในการทำตามกฏระเบียบต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติตาม ลำพังความผันผวนของเศรษฐกิจก็มากกว่านี้แล้ว ประเทศไทยควรจะต้องเจรจาให้ได้ประโยชน์มากกว่านี้ อย่างน้อยก็เท่ากับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเพียงผลได้จากปีแรกที่เข้าโครงการ นอกจากนี้ จะต้องระลึกด้วยว่าประโยชน์ที่จะได้ตั้งแต่ปีที่ 11 เป็นต้นไปจะเหลือเป็นมูลค่าปัจจุบันอย่างมากเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ถ้าหากประเทศไทยได้ประโยชน์ดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมด การเข้า CPTPP ก็สมควรแก่การสนับสนุน แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะขอให้เขารับมา

ในด้านของสินค้าอุตสาหกรรม การสังเกตประเภทของสินค้าที่ยกเลิกอัตราภาษีศุลกากรตั้งแต่ปีที่ 11 ไปแล้ว จะบอกได้ว่าประเทศต้องการปกป้องสินค้าอะไรและด้วยแนวคิดอะไร

สหรัฐเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีมากที่สุด แต่กลับปกป้องสินค้ามากประเภทที่สุด สินค้าที่ปกป้องมากที่สุดได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก รถโดยสาร และชิ้นส่วน/อุปกรณ์/ ส่วนประกอบย่อยของสินค้าข้างต้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าปกป้องแม้แต่ยางรถยนต์ สินค้าอีกพวกหนึ่งได้แก่ สินค้าแห่งอนาคตที่สหรัฐไม่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนได้แก่ ไตตาเนียม ECU แบตเตอรี่รถ ไฟฟ้า และ ไฟเบอร์นำแสง

ประเทศอื่นๆ ที่ปกป้องเรื่องรถยนต์มีอีกหลายแห่งได้แก่ เวียดนาม เม็กซิโก แคนาดา และมาเลเซีย ประเทศเกิดใหม่อย่างเวียดนามและมาเลเซีย ยังปกป้องอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเหล็ก ซึ่งเข้าใจได้ ถึงประเทศไทยก็คงคิดคล้ายกัน รายการสินค้าปกป้องอื่นๆ ของประเทศอื่นๆ ไม่มีแนวโน้มเชิงนโยบายเป็นพิเศษ อาจเป็นไปได้ว่าสินค้าชนิดนั้นมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในเชิงสัดส่วนน่าจะได้

ดังนั้น นัยสำคัญของพฤติกรรมประเทศสมาชิก CPTPP ในปัจจุบันในเชิงนโยบาย ก็คือ 1) ไทยจะไม่เปิด/ปกป้องสินค้าที่ประเทศอื่นปกป้อง 2) ไทยจะปกป้องสินค้าที่มีความสำคัญต่อแนวโน้มทิศทางของอุตสาหกรรมไทย และ 3) ไทยจะปกป้องสินค้าที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในเชิงสัดส่วน