Headwinds ของการบินไทย

Headwinds ของการบินไทย

ไม่ว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับสัดส่วนการถือหุ้น หรือ ใครจะมาเป็นบอร์ด หรือผู้บริหารแผน ฯลฯ

ในที่สุดแล้วผมคิดว่า การบินไทยจะฟื้นได้จริงหรือไม่ ปัจจัยสำคัญมากๆ ก็คือ “อนาคตของธุรกิจการบิน โดยรวมจะเป็นเช่นใด”

ขณะนั่งเครื่องบิน เราจะเห็นข้อมูลที่น่าสนใจคือ “Headwind” กับ “Tailwind” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ลมปะทะหน้า และ ลมส่งท้าย ตามลำดับ

Headwind ทำให้เครื่องบินเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ลำบากขึ้น ส่วน Tailwind ก็แปลว่าเครื่องบินไปได้เร็วขึ้น เพราะได้รับแรงส่งจากลมท้ายเครื่อง เวลานั่งเครื่องบินกลับ ถ้ากัปตันประกาศว่าเราจะถึงกรุงเทพก่อนกำหนดเวลา ผมมักสังเกตเห็นว่า ลมส่งท้าย ค่อนข้างดี

การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู คนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่คำถามน่าสนใจก็คือ เมื่อเติมเงิน เปลี่ยนคน เติมแผน ฯลฯ เข้าไปแล้ว จะประสบความสำเร็จ ก้าวออกมาจากแผนฯ และกลับมายืนหยัดใหม่ เรียกศักดิ์ศรีที่หายไปกลับคืนมา ได้หรือไม่?

การเข้าแผนฟื้นฟูนั้นไม่ได้แปลว่า จะแข็งแรงออกมาทุกกรณี ผมค้นข้อมูลของบริษัทที่อเมริกา พบว่าบริษัทที่ก้าวออกมาจากแผนฟื้นฟู อย่างแข็งแรง มีประมาณ 25% เท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ทิสโก้รายงานว่า บริษัทที่เข้าสู่แผนฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มี 52 บริษัท ฟื้นฟูได้สำเร็จ 23 บริษัท หรือประมาณ 44% ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าการบินไทยจะมีโอกาสมากน้อยเพียงใด แน่นอนว่าคุณภาพของบอร์ดและผู้จัดทำแผนฯลฯ จะมีส่วนสำคัญมาก แต่ปัจจัยหนึ่งที่อยู่เหนือพวกเขา ก็คือ ลมส่งท้าย และ ลมปะทะหน้า

เศรษฐศาสตร์มีศัพท์ว่า “Economic Headwinds” หมายถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งในขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

คือเห็นว่า หลังจากโควิด-19 แล้ว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะยังซึมอย่างต่อเนื่อง บริษัทล้มละลายจะมีเพิ่มขึ้น คนตกงานมากขึ้น และอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1.5-2.0 ปี กว่าที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นกลับคืนมาใหม่อีกครั้ง

สายการบินสุดยอดแห่งหนึ่ง ซึ่งผมใช้สอนเป็นกรณีศึกษาอยู่บ่อยๆ เพราะใครๆ ก็ยกนิ้วให้ คือ “Southwest Airline” ซึ่งทำกำไรได้ถึง 47 ปีต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรขึ้น เช่น วิกฤติน้ำมัน สงครามตะวันออกกลาง หรือ 911 ฯลฯ สายการบินอื่นๆทยอยล้มละลาย แต่ Southwest ฝ่าฟันไปได้ทุกครั้ง มีกำไรเสมอมา

ราคาหุ้นจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก แต่พอปีนี้เจอโควิด-19 กำไรต่อเนื่องเป็นปีที่ 48 คงไม่มีแล้ว เพราะ Southwest ตกหลุมอากาศทันที ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ Southwest ขาดทุนทุกวันๆละ 30 ล้านดอลลาร์ หรือ หนึ่งพันล้านบาท และต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐเช่นกัน

เก่งอย่างนี้ ยังต้องเป็นแบบนั้น แล้วการบินไทยซึ่งป้อแป้มานาน จะเบิกบานอีกครั้งได้หรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ ที่แน่ๆ ก็คือไม่ง่ายเลย ที่จะเผชิญ Headwind รุนแรงอย่างนี้

Harvard Business School เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในวงการบิน มาระดมสมองเรื่อง “The Future of Air Travel” และออกรายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ค.2563 นี้เองว่า นี่เป็นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุด ที่ธุรกิจการบินเคยเผชิญมา

ผมอ่าน New York Times พาดหัวบทความ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2563 ว่า ธุรกิจการบินเลวร้ายมาก และคงจะเลวร้ายไปกว่านี้อีก (The Airline Business Is Terrible. It Will Probably Get Even Worse.) นี่ก็เป็นการสะท้อน Headwind ของการบินไทยเช่นกัน

ถึงแม้วันนี้ หลายประเทศได้คลายล็อกดาวน์ไปบ้างแล้ว แต่ การบินระหว่างประเทศ ก็ยังจำกัดอยู่มาก ใน 1-2 ปีข้างหน้า น่าจะยังไม่มีวัคซีน ที่ใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก คุณมั่นใจเพียงใดที่จะบินไปท่องเที่ยวยุโรป หรือ อเมริกา โดยมีผู้โดยสาร 300 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นั่งอยู่ด้วย

ผมคิดเอาเองว่า อาจจะมีสักครึ่งหนึ่งนะ ที่ตอบว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คงจะไม่เดินทางไปต่างประเทศ เพราะไม่กล้าเสี่ยงติดเชื้อจากการนั่งเครื่องบินนาน 12-18 ชั่วโมง ร่วมกับผู้โดยสารจากหลากหลายประเทศ การใส่หน้ากากตลอดการเดินทาง ก็หนักหนาเกินไป รอดูสักพักน่าจะดีกว่า ทำนองนี้

คนที่กล้าเสี่ยงคงมีพอสมควร รวมทั้งคนที่จำเป็นต้องบินด้วย เช่นนักธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น แต่ประเด็นของผมก็คือ ปริมาณผู้โดยสาร โดยรวม ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า คงจะลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สายการบินต้องแข่งขันกันหนักยิ่งขึ้น นั่นแหละครับอีกส่วนหนึ่งของ Economic Headwinds ที่การบินไทยจะต้องเผชิญ

ผู้บริหารแผนคงตอบว่าไม่เป็นไร เพราะเรามีแผนสำหรับสถานการณ์แบบนี้อยู่แล้ว เช่นหันไปขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนผู้โดยสารที่ลดจำนวนลงไป หรือพยายามลดต้นทุนตรงนั้นตรงนี้ให้มากขึ้น ฯลฯ ก็แน่นอนแหละครับ ทุกสายการบินก็มีแผนแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ใครจะทำได้สำเร็จจริง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเศรษฐกิจชะลออย่างต่อเนื่อง และฟันเฟืองการท่องเที่ยวยังถดถอยลง นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางต่างประเทศ มันคงยากลำบากสำหรับทุกสายการบิน และการบินไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

เพียงแต่ การพ้นจากสถานภาพรัฐวิสาหกิจ การที่ตัวเบาจากภาระหนี้ รวมทั้งฝีมือของผู้บริหารแผนและฝ่ายจัดการมืออาชีพ ฯลฯ คงจะช่วยให้ออกหมัดชกได้เร็วขึ้นและตรงเป้ามากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต รวมทั้งรั่วไหลน้อยลง...ไม่เหมือนสมัยที่ยังเป็น สมบัติผลัดกันชม

ถ้าค้นพบวัคซีน และ นำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง ภายในปลายปีนี้ (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้) หรือเศรษฐกิจฟื้นเร็วมากกว่าที่คิด (ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้) การบินไทยก็จะได้ ลมส่งท้าย และทำให้ความหวังเพิ่มมากขึ้น

ผมใช้บริการของการบินไทยมาตลอด และเห็นใจพนักงานต้อนรับบนเครื่อง เท่าที่ได้พบปะพูดคุย พวกเขาและเธอทำงานกันอย่างเต็มที่ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ และหวังว่าการบินไทยจะฝ่าฟัน Headwind อันรุนแรง ใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ ไปได้ และหลังจากนั้น ลมส่งท้าย อาจจะแรงขึ้นก็ได้

อีกไม่กี่ปี ขอให้การบินไทย เป็นตัวช่วยเพิ่มสถิติ ของบริษัทไทยที่ออกมาจากกระบวนการฟื้นฟูด้วยความสำเร็จ ให้สูงกว่า 44% เพื่อให้คนไทยได้ชื่นใจเสียที

อย่าดึงลงไปเหลือ 40% ก็แล้วกัน