แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย(2)

แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย(2)

หลังจากที่ตอนที่แล้ว(ฉบับวันที่ 14 พ.ค.2563) ผู้เขียนได้นำเสนอการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ของประเทศจีน

ซึ่งเป็นตัวอย่างของควบคุมบริหารจัดการโดยใช้กลไกของภาครัฐ ในตอนที่ 2 ผู้เขียนขอนำเสนอกลไกของประเทศญี่ปุ่นที่ใช้กลไกของภาคเอกชนเป็นทัพหน้าโดยมีภาครัฐเป็นทัพหลัง หรือที่เรียกกันว่าระบบขยายความรับผิดชอบในการจัดการซากให้ผู้ผลิต หรือ EPR (Extended Producer Responsibility)

เส้นทางการเคลื่อนที่ของขยะหรือของเสียที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นจะต่างจากประเทศในแถบเอเซียอื่นๆซึ่งมีร้านรับซื้อของเก่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการขยะ ที่ญี่ปุ่นเส้นทางการเคลื่อนที่ของซากฯจากผู้บริโภคจะเป็นเช่นเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้วที่ผู้ที่ก่อให้เกิดของเสียจะเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principles) โดยซากฯจากผู้บริโภคจะถูกส่งไปที่ผู้จัดจำหน่ายหรือที่ศูนย์รวบรวมซึ่งจัดตั้งโดยผู้ผลิตด้วยตัวเองหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้แต่ในการส่งคืนนั้นผู้บริโภคต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลในราคาตั้งแต่ 350 บาทต่อซาก ไปจนถึง 1,750 บาทต่อซากฯพร้อมกับจัดทำใบกำกับการขนส่งของเสียด้วย ในปัจจุบันญี่ปุ่นมีศูนย์รวบรวมทั้งสิ้น 380 แห่งทั่วประเทศ หลังจากนั้นผู้รวบรวมจะขนส่งซากฯไปที่โรงงานคัดแยกซึ่งมีอยู่ 49 แห่งทั่วประเทศ โรงงานคัดแยกจะมีทั้งที่ผู้ผลิตร่วมกันจัดตั้งขึ้นเอง หรือเป็นของผู้รับบริหารจัดการขยะ ภายหลังการคัดแยก ของเสีย เช่น สารทำความเย็น จะถูกนำไปกำจัดต่อที่โรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดของเสีย ส่วนของมีค่าเช่นพลาสติกจะถูกนำไปรีไซเคิลหรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาหรือโรงงานผลิตไฟฟ้า ส่วนวัสดุมีค่าจะถูกนำไปหลอมใหม่ เป็นที่น่าสังเกตุว่าในประเทศญี่ปุ่นมีโรงงานหลอมโลหะที่ถูกต้องตามมาตรฐานถึง 22 แห่ง

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ผู้ผลิตในญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันในการจัดการซากฯโดยแบ่งกลุ่มการจัดการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม A และกลุ่ม B เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายเรื่องของการป้องกันการทำตลาดแบบผูกขาด โดยบริษัทที่อยู่ในกลุ่มทั้ง 2 ประกอบด้วย

กลุ่ม A: เป็นการรวมตัวของ 31 ผู้ผลิตได้แก่ พานาโซนิค, โตชิบา, วิคเตอร์, แอลจี, ซัมซุง เป็นต้น

 กลุ่ม B: เป็นการรวมตัวของ 15 ผู้ผลิตได้แก่ ฮิตาชิ, โซนี่, ชาร์ป, มิตซูบิชิ, ฟูจิตซุ, ไฮเออร์ เป็นต้น

ในส่วนของเส้นทางการเงิน แบ่งตามผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

  • ผู้ผลิตมีหน้าที่จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการจัดการ เช่นค่าจ้างพนักงานในการบริหารค่าขนส่งในการรวบรวมจัดเก็บซากฯจากศูนย์ต่างๆไปยังโรงงานคัดแยกโดยแบ่ง, และค่าบำบัดกำจัดซากฯให้กับบริษัทกลางในจัดการซากฯของกลุ่ม A และ B
  • ผู้บริโภคจ่ายเงินค่าจัดการซากฯผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ไปรษณีย์, ศูนย์รับคืนซากฯ เป็นต้น
  • ศูนย์รับคืนซากฯ ส่งเงินค่ากำจัดให้กับบริษัทกลางในการจัดการซากฯของ กลุ่ม A และ B
  • บริษัทกลางในการจัดการซากฯของ กลุ่ม A และ B จ่ายเงินค่าขนส่งซากฯจากศูนย์รับคืนซากฯไปยังโรงงานคัดแยก และจ่ายค่าบำบัดกำจัดให้กับโรงงานคัดแยก
  • โรงงานคัดแยกจ่ายค่าบำบัดกำจัดของเสียให้กับโรงงานผู้รับบำบัดกำจัดและมีรายได้จากการขายวัสดุรีไซเคิลหรือโลหะมีค่า

กฎหมายของญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศอื่นๆที่นำมาเปรียบเทียบเนื่องด้วยญี่ปุ่นได้แยกกฎหมายในการควบคุมออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1.ซากฯขนาดใหญ่ ได้แก่ ซากทีวี ตู้เย็น เครื่องซักและอบผ้า และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งออกกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ.2541

2.ซากฯขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์, เครื่องเป่าผม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้ออกใน พ.ศ. 2555

ภายหลังจากดำเนินการ พบปัญหาในการดำเนินการ ดังนี้

1.การจ่ายค่ากำจัดหลังจากที่ผลิตภัณฑ์กลายเป็นซากฯ ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีอัตราการจัดเก็บซากฯต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วชาติอื่นๆ

2.หน่วยงานส่วนท้องถิ่น เช่นเทศบาล มีส่วนร่วมในการจัดการซากฯต่ำ และไม่ให้การสนับสนุน

3.ซากฯกว่าร้อยละ 30 ไม่อยู่ในระบบ และถูกนำไปส่งออกในรูปของเก่ามือสองไปยังประเทศกำลังพัฒนา

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ให้ความสำคัญถึงการควบคุมผู้ผลิตโดยเฉพาะผู้ที่นำเข้า และพิจารณาการจัดตั้งศูนย์รวบรวมซากในเขตเทศบาล โดยได้นำโมเดลของประเทศเยอรมันมาศึกษาเพื่อปรับใช้

ประเด็นที่สำคัญสำหรับการจัดการซากขยะอิเลคโทรนิคส์ของญี่ปุ่นที่น่าสนใจคือการเตรียมพร้อมของการออกกฎหมาย รัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการประสานงานและร่วมมือเตรียมความพร้อมก่อนที่จะออกกฎหมายล่วงหน้าเป็นเวลาร่วม 10 ปีนับตั้งแต่ได้ออก พ.ร.บ.จัดการขยะและการอนุรักษ์ทรัพยากรในปี 2534 พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกฎหมายหลักควบคุมการจัดการขยะและสนับสนุนการรีไซเคิลของเสียซึ่งรวมถึงการเป็นจุดร่วมที่จะนำระบบ EPR (Extended Producer Responsibilities) มาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของกม. 

มาดูกันว่าในระยะเวลา 10 ปี รัฐบาลและเอกชนของประเทศญี่ปุ่นทำอะไรบ้าง ในช่วง 3 ปีแรก (พ.ศ.2535-2537) กลุ่มผู้ผลิตได้ออกคู่มือการคัดแยกซากฯผลิตภัณท์ และปรับปรุงเพื่อให้ได้ร้อยละการรัไซเคิลสูงที่สุด 3 ปีถัดมา (พ.ศ.2538-2540) ได้เน้นที่การศึกษาวิจัยและทดลองรูปแบบและวิธีการตั้งแต่การแนวทางรวบรวม, การออกแบบโรงงานถอดแยกและอุปกรณ์เสริม, และการทดลองถอดแยกเพื่อศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างโรงงานถอดแยกเพื่อเตรียมสำหรับโครงการนำร่อง ในปี2541 รัฐบาลได้เริ่มโครงการนำร่องร่วมกับภาคเอกชนเพื่อทดลองและเตรียมความพร้อมตั้งแต่การรวบรวมขนส่ง, ถอดแยก, ใบกำกับการขนส่ง (เอกสารส่งคืนซากฯ) หลังจากนั้นจึงได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมซากฯ 380 แห่งทั่วประเทศ ก่อนที่พพ.ร.บ.เรื่องการจัดการซากอิเลคโทรนิคส์จะประกาศในเดือน พ.ค.2541

 โดย... พูนศักดิ์ จันทร์จำปี