นวัตกรรมภายใต้ความปกติใหม่

นวัตกรรมภายใต้ความปกติใหม่

คำกล่าวโบราณที่กล่าวว่าในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ยังไม่ล้าสมัยในสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น

ถึงแม้การเกิดโรคระบาดที่ส่งกระทบไปทั่วโลกเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากจะให้เกิดขึ้น แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็จะพบว่าสถานการณ์นี้กลับเป็นโอกาสและตัวผลักดันที่นำไปสู่นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ

ประเทศ องค์กร และประชาชนต้องปรับตัวอย่างมากมายภายใต้วิกฤติโควิดที่ผ่านมา และผลจากการปรับตัวดังกล่าวก็นำไปสู่การคิดค้นในสิ่งใหม่ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการทำงาน รูปแบบธุรกิจ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุกคนกำลังประสบ ที่สำคัญคือไม่ใช่การมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดเท่านั้น แต่นวัตกรรมเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในอัตราความเร็วที่เร็วกว่าในสถานการณ์ปกติอย่างเทียบไม่ได้

นวัตกรรมทางธุรกิจ ที่เกิดขึ้นมาจากสถานการณ์โควิดในช่วงแรกนั้น จะเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 2 ประการ กรณีแรกคือ เป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา เพื่อดูแลสุขภาพทั้งในด้านการป้องกันและรักษาโรค ตัวอย่างที่เห็นในช่วงแรกของการระบาดคือ ห้องคัดกรองและตรวจผู้ป่วยเสี่ยงติดโควิดโดยกลุ่ม SCG ที่ใช้เวลาติดตั้งเพียงแค่ 2 วัน เพื่อดูแลสุขภาพของแพทย์ พยาบาล ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง หรือ ล่าสุด เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและมีการเปิดเมือง ร้านอาหารต่างๆ เปิดมากขึ้น ฉากกั้นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อติดตั้งในร้านอาหาร เพื่อป้องกันโอกาสในการติดเชื้อผู้ที่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน

กรณีที่สองคือ เป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอยู่รอดในระยะสั้น ทั้งนี้เนื่องจากโควิดทำให้ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบในหลากหลายรูปแบบ ทุกธุรกิจก็จำเป็นต้องดิ้นรนด้วยรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ เพื่อหารายได้และความอยู่รอด ซึ่งนวัตกรรมที่พบในมิตินี้มักจะออกมาในรูปของ Business model innovation เสียมากกว่า อาทิเช่น บริษัททัวร์ที่ต้องหยุดกิจการก็หันปรับเอาสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญ (คือการทำอาหารไทยให้ลูกทัวร์เวลาเดินทางไปต่างประเทศ) มาสร้างธุรกิจใหม่เป็นการทำครัวและส่งอาหาร โดยกลุ่มเป้าหมายยังเป็นกลุ่มลูกทัวร์ที่เคยเดินทางไปด้วยกันและประทับใจในรสชาดอาหาร หรือ เจ้าของสวนทุเรียนที่ปกติจะส่งทุเรียนออกไปสู่ต่างประเทศก็หันมาจำหน่ายทุเรียนออนไลน์แทน และเพื่อลดค่าขนส่งสำหรับลูกค้า ก็จะใช้วิธีการขับรถเข้ามาจอดในใจกลางเมืองและกระจายทุเรียนโดยการเรียกบริษัทขนส่งมารับจากใจกลางเมือง

นวัตกรรมทั้ง 2 ประเภทข้างต้น เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขต่อปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและกำลังจะเกิด New Normal ขึ้น องค์กรธุรกิจ ก็ควรจะตั้งสติและลองคิดพิจารณาว่าจาก New Normal ที่เกิดขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดโอกาสสำหรับนวัตกรรมทางธุรกิจในระยะกลางและยาวได้อย่างไร

เชื่อว่าในระดับโลกนั้นจะมี Startup ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากความปกติใหม่ ที่เกิดขึ้น โดย Startup เหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ Pain point ที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นหลังโควิด อย่างไรก็ดี ความปกติใหม่ของแต่ละประเทศนั้นย่อมจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้น สำหรับในประเทศไทยแล้ว นี่คือโอกาสสำหรับทั้งธุรกิจที่มีอยู่แล้ว และ Startup ต่างๆ ที่จะเริ่มมองหาโอกาสในการคิดนวัตกรรมและธุรกิจใหม่เนื่องจากความปกติใหม่ (New Normal) ที่กำลังจะเกิดขึ้น

การมองหานวัตกรรมภายใต้ความปกติใหม่นั้น ก็อาจจะเริ่มง่ายๆ จากการสังเกตพฤติกรรมของประชาชนทั่วๆ ไปว่าในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความปกติใหม่นั้น มีสิ่งใดที่เป็นปัญหา อุปสรรค หรือ Pain point บ้าง จากนั้นธุรกิจจะพัฒนาสินค้า บริการ หรือ ทางออกสำหรับปัญหา อุปสรรคดังกล่าวได้อย่างไร

สรุปว่าไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ใด นวัตกรรมยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่ยุคหลังโควิดนั้นอาจจะต้องมุ่งเน้นนวัตกรรมภายใต้ความปกติใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น