เมื่อโควิด-19 ชี้ทางสว่างให้การศึกษา 4.0

เมื่อโควิด-19 ชี้ทางสว่างให้การศึกษา 4.0

ก่อนจะโดนโควิด-19 บังคับให้ย้ายจากห้องเรียนปกติไปเป็นห้องเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ

หลายคนเชื่อ นี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษายุค 4.0 ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นหัวใจหลัก ไม่ต่างอะไรกับกระแสที่เคยเชื่อกันว่าอีบุ๊คจะทำให้หนังสือเล่มสูญพันธุ์

บางคนเชื่อกันถึงขนาดว่าต่อไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยคงไม่มีความจำเป็น เพราะทุกคนสามารถเรียนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถเลือกเรียนตามความสนใจของตนเอง การสอนออนไลน์เต็มรูปแบบช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า โลกสุดโต่งที่หลายคนวาดภาพไว้นั้นคงยังไม่เป็นจริงในเร็ววัน

ความเชื่อหลักเกี่ยวกับการศึกษา 4.0 ที่ถูกหักล้างด้วยการได้ลองสอนออนไลน์จริงๆ เพียง 2 เดือน มี 3 ด้านด้วยกัน

ความเชื่อแรกที่ถูกหักล้างคือ ใครๆ ก็เรียนออนไลน์ได้ คนที่เรียนออนไลน์ได้ดีต้องมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี รู้แหล่งเรียนรู้ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้แล้ว การเรียนรู้ออนไลน์ซึ่งผู้เรียนมีอิสระในการเลือกช่วงเวลาและรูปแบบการเรียนของตนเองได้ ผู้เรียนคนนั้นต้องมีแรงจูงใจมากถึงจะสามารถกระตุ้นตัวเองให้เรียนออนไลน์ได้ตลอดรอดฝั่ง และประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการ

ผู้เรียนที่มีคุณสมบัติแบบนี้ต้องถูกเลี้ยงดูและฝึกฝนเพื่อให้ตัวเองพร้อมกับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ ถ้าจู่ๆ โยนคนที่เคยเรียนแบบเดิมไปเรียนออนไลน์โดยขาดการเตรียมพร้อมและขาดแรงจูงใจมากพอ ผลที่ได้จะแย่กว่าการเรียนปกติเสียอีก

นอกจากนี้ หากเอาช่วงอายุมาเป็นเกณฑ์ สำหรับเด็กการเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว ต่อให้ออกแบบมาดีแค่ไหนก็จะสอนได้แค่องค์ความรู้ แต่ไม่สามารถสอนความเป็นมนุษย์ ความเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึก หรือทักษะการเข้าสังคมได้ สำหรับการศึกษาของเด็กเทคโนโลยีควรเป็นแค่พระรองที่เข้ามาช่วยจัดการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียนมากขึ้น

จากประสบการณ์ของผู้สอนระดับปริญญาตรีหลายคนพบกับปัญหาเหมือนกันว่า แม้แต่นักศึกษาระดับปริญญาตรีเองก็ยังไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ดีเหมือนที่การศึกษายุค 4.0 วาดภาพไว้

ความเชื่อที่ 2 ที่ถูกหักล้างคือ ห้องเรียนออนไลน์สามารถแทนที่ห้องเรียนปกติได้การเรียนในห้องเรียนปกติไม่ใช่แค่การทำตามคำบอก อ่านข้อความบนจอ แต่ยังรวมไปถึงความรู้สึกของการได้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลานั้น ซึ่งเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นและผู้สอน ความรู้สึกเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนมีสิ่งยึดโยงทางความรู้สึก และช่วยให้ซึมซับบทเรียนได้ดีกว่าเดิม

ในห้องเรียนปกติ การจะดึงให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมได้มีหลายวิธี เช่น การสบตา การเรียกชื่อ การเดินเข้าไปหา หรือใช้ท่าทางช่วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยากในการเรียนออนไลน์ เพราะที่ทำได้ก็มีแค่เรียกชื่อ หรือส่งคำถามออนไลน์ให้ผู้เรียนตอบ หากเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้เรียนจะสามารถกระตุ้นให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมได้

เมื่อประสบการณ์เหล่านี้หายไป เสน่ห์ของการเรียนก็แห้งเหือดตามไปด้วย

ความเชื่อที่ 3 ที่ถูกหักล้างคือ เทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเทคโนโลยีที่เคยเป็นความหวังว่าจะบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้กลายเป็นลิ่มตัวใหญ่ตอกให้รอยแยกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างคนที่พร้อมกับไม่พร้อมขยายใหญ่ขึ้น ลำพังแค่จะให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ทั่วถึงก็เป็นเรื่องยากแล้ว การจะให้มีอุปกรณ์พร้อมยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าพื้นฐานการเรียนรู้ไม่ดีด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ กลายเป็นว่าคนที่มีอุปกรณ์พร้อมกว่า มีพื้นฐานการเรียนรู้ดีกว่าจะทะยานไปข้างหน้าได้เร็วกว่า ทิ้งคนที่ไม่พร้อมไว้ข้างหลัง

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการศึกษา 4.0 คือ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ลดทอนคุณค่าของการศึกษาให้เป็นแค่เครื่องมือสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคน เลยคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คนมีทักษะให้เร็วที่สุด ให้ครบถ้วนที่สุด เพื่อให้ปรับตัวให้เท่ากันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ

นี่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีไม่สำคัญ เพียงแต่ที่ทางของเทคโนโลยีสำหรับการศึกษา 4.0 คือการยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนค้นหาตัวเองได้ ช่วยให้ผู้สอนสามารถปรับการสอนให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียนแต่ละคน ลดภาระในการประเมินผลการเรียน และช่วยให้เราสามารถดูแลผู้เรียนที่ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษได้ดีขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่าการศึกษามีคุณค่ามากกว่าแค่การทำคะแนน การมีงานทำ การได้เงินเดือนสูงๆ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือ มนุษย์คนหนึ่งซึ่งเข้าใจเรื่องนี้ดี เขาเคยพูดไว้ว่า “การศึกษาคือสิ่งที่เหลืออยู่หลังจากผู้เรียนได้ลืมทุกอย่างที่เรียนไปหมดแล้ว” ไม่ว่าสิ่งที่เขาเรียนนั้นเป็นการเรียนในห้องเรียนหรือเรียนออนไลน์

โดย...

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว