สวนกระแสซบเซา "ธุรกิจ Delivery"

สวนกระแสซบเซา "ธุรกิจ Delivery"

สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทุกทวีปทั่วโลก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบต่อกันเป็นโดมิโน รวมถึงไทยด้วย

ขณะที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อสร้างเกราะป้องกันและลดการติดเชื้อ เช่น การปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง สถานประกอบการบางประเภท และการปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นโซนซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้าน (takeaway) และร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจผู้ประกอบการและลูกจ้างหลายประเภท

แต่นี่ก็กลับเป็นโอกาสที่ทำให้ธุรกิจบริการจัดส่ง หรือ Delivery เป็นธุรกิจที่มีความต้องการในตลาดของไทยเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อประชาชนไม่ต้องการออกจากบ้าน การเรียกใช้บริการจัดส่งสินค้า/อาหารบนแฟลตฟอร์มจึงเกิดความต้องการสูงขึ้นมาก เช่น Grab ประเทศไทย ผู้ให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ "GrabFood" เปิดเผยว่าในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาด ยอดการสั่งอาหารมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 3 เท่าเทียบกับช่วงเวลาปกติ โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการเดิมและผู้ใช้บริการใหม่

ธุรกิจบริการจัดส่งสามารถลดความตื่นตระหนกสำหรับประชาชนได้ เนื่องจากความกังวลว่าจะขาดแคลนสินค้าและอาหารในช่วงการประกาศปิดเมือง หลายครอบครัวเริ่มกักตุนอาหาร ส่งผลให้สินค้าบางจำพวกขาดตลาด หรือมีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก เช่น ไข่ไก่ อีกทั้งยังขาดตลาด หาซื้อได้ยากขึ้น เมื่อมีธุรกิจบริการจัดส่งให้บริการ จึงทำให้สามารถลดการกักตุนลงได้ เนื่องจากประชาชนยังสามารถสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านช่องทางออนไลน์

รวมถึงผลักดันให้ร้านอาหารที่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียงมากนักเข้าสู่วงจรการขายสินค้าอาหารออนไลน์ และเข้าสู่ระบบดิลิเวอรี่มากขึ้น ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกในการสั่งซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพและการบริการที่ดี ผู้ซื้อมีโอกาสได้สั่งซื้อสินค้าคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังเกิดความต้องการกลุ่มแรงงานสำหรับการเป็นพนักงานรับส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัท CP All ได้ประกาศรับสมัครพนักงานดิลิเวอรี่ 2 หมื่นรายทั่วประเทศ ส่งของในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า Grab Lineman FoodPanda ประกาศรับสมัครไรเดอร์หรือพนักงานรับส่งสินค้าจำนวนมาก ทำให้ผู้ว่างงานหรือผู้ที่ตกงานจากมาตรการการกักกันเชื้อโควิด-19 สามารถสร้างรายได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้

อีกทั้งการเป็นพนักงานรับส่งสินค้า/อาหารบนแฟลตฟอร์มหรือร้านอาหารทั่วไป ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะหรือความเชี่ยวชาญมากนัก จึงทำให้ประชากรกลุ่มวัยแรงงานที่กำลังตกงานในช่วงมาตรการกักกันโรค สามารถเข้าสู่ช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบตัวได้ ซึ่งนับว่าเป็นการกระตุ้นและช่วยเหลือเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาสำหรับหลายกิจการได้

ธุรกิจ Delivery จึงกลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการในการสั่งซื้อสินค้า/อาหาร ที่ต้องการความรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถเลือกออเดอร์หลายๆ ร้านค้าได้ในเวลาเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกบ้าน เข้าสู่กระบวนการเว้นระยะห่างทางสังคมตามความต้องการของรัฐบาล

World Economic Forum ได้พูดถึงนวัตกรรมของธุรกิจ Delivery ในประเทศจีนว่าบริษัทต่างๆ ได้พัฒนารูปแบบตอบโจทย์กับความท้าทายวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากหลีกเลี่ยงซูเปอร์มาร์เก็ตและเลือกที่จะอยู่บ้านมากกว่า ทำให้เกิดความต้องการการส่งมอบสินค้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านพนักงานที่จัดส่งสินค้าถึงบ้านอยู่ดี

บริษัทบางแห่งหันไปใช้ยานยนต์พาหนะขนส่งอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles : AVs) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจัดส่งและจัดให้มีระบบไร้สัมผัส (touchless system) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไวรัสอีกด้วย อาทิ JD.com มีการส่งมอบครั้งแรกของพวกเขาในอู่ฮั่นโดยยานพาหนะขนส่งอัตโนมัติในวันที่ 6 ก.พ. จากหน่วยธุรกิจ JD X ไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสถานีขนส่ง JD.com ซึ่งยานพาหนะคันหนึ่งสามารถส่งคำสั่งซื้อแพ็คเกจขนาดเล็กได้ 24 คำสั่งต่อการจัดส่งหนึ่งเที่ยวด้วยความเร็วในการเดินทาง 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Meituan ก็เพิ่งเริ่มดำเนินการนำร่องใช้ยานยนต์พาหนะขนส่งอัตโนมัติ หรือ AVs เพื่อส่งมอบในเขตซุนยี่ (Shunyi) กรุงปักกิ่ง โดยยานพาหนะขนส่งจาก Meituan สามารถเดินทางได้สูงสุด 100 กิโลเมตรสามารถบรรทุกได้ 100 กิโลกรัมด้วยความเร็วสูงสุด 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งผักและอาหารสด

ทั้งนี้ China Unicom ทำงานร่วมกับ Meituan เพื่อให้การสนับสนุนเครือข่าย 5G สำหรับยานยนต์พาหนะขนส่งอัตโนมัติอีกด้วย นอกจากนี้บริษัท Keenon Robotics ยังใช้หุ่นยนต์ส่งอาหารเพื่อเข้าถึงผู้คนในโรงพยาบาลและเขตกักกันในกว่า 40 เมือง

นี่จึงทำให้เราเห็นได้ว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เปิดโอกาสให้เกิดการทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับธุรกิจ Delivery และมีโอกาสเติบโต สวนกระแสเศรษฐกิจที่ซบเซาอีกด้วย

 

โดย...

ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้อำนวยการหลักสูตร DNAbySPU.com

ประกาย ธีระวัฒนากุล กรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation