รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาลในการกู้เงิน

รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาลในการกู้เงิน

การออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ฉุกเฉินหรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับของรัฐบาล วงเงินเบื้องต้น 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะการแก้วิกฤติเป็นเรื่องจําเป็นและสําคัญ ครั้งแรกที่มีข่าวมีการพูดถึงวงเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท ล่าสุด เพิ่มเป็น 1.9 ล้านล้านบาท ทําให้ประชาชนเริ่มไม่มั่นใจว่า เงินที่รัฐบาลจะกู้คือเงินที่รัฐบาลจะนําไปใช้แก้วิกฤติทั้งหมดหรือไม่ หรือรัฐบาลจะใช้วิกฤติเป็นเหตุผล ทําให้ตัวเลขเงินกู้สูงเกินจําเป็น นี่คือข้อห่วงใย

ความห่วงใยนี้เป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ เพราะ 1.9 ล้านล้านบาทเป็นวงเงินที่สูงมาก คือมากกว่า 11% ของรายได้ประชาชาติ และมากกว่าวงเงินที่ประเทศไทยเคยกู้ไอเอ็มเอฟตอนวิกฤติ ปี 2540 เกือบ 4 เท่า เป็นหนี้ของประเทศที่ต้องมีการชําระคืน แม้การกู้เงินจะจําเป็นและทุกประเทศกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา แต่สิ่งที่จะต้องให้ความสําคัญควบคู่ไปด้วยคือความมีประสิทธิภาพของการใช้เงินกู้ นั้นคือวินัยของนโยบายการเงินการคลังของประเทศ คือ ต้องทําให้การกู้เงินเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ตรงความจําเป็นที่ต้องกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา ใช้จ่ายเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล ตรวจสอบได้ และมั่นใจได้ว่าการกู้เงินครั้งนี้จะไม่นําประเทศไปสู่วิกฤติด้านการคลังหรือการเงินในอนาคต

ในแง่นโยบายสาธารณะ มี 3 เรื่องที่รัฐบาลสามารถดําเนินการได้เพื่อกําหนดวินัยและธรรมาภิบาลของพ.ร.ก. เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับที่จะสร้างความมั่นใจว่า มีการใช้เงินกู้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแก้วิกฤติ มีการใช้จ่ายเงินที่กู้มา ตามเป้าหมาย เบิกจ่ายรัดกุม และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งหมดจะลดทอนความห่วงใยที่ประชาชนมีกับการกู้เงินครั้งนี้

เรื่องแรก เงินที่กู้มาต้องนําไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติที่กําลังเกิดขึ้นเท่านั้น นั้นคือหยุดการระบาดของไวรัส ดูแลผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้แรงงานและบริษัทธุรกิจจากมาตรการของภาครัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่มีการระบาด และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ นี่คือหัวใจของปัญหาที่ต้องแก้ไขที่เป็นเรื่องฉุกเฉินที่ต้องการใช้เงินเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้นการใช้เงินกู้จึงไม่เกี่ยวกับมาตรการอื่นๆ ที่จะมีตามมาหลังการระบาดยุติลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน การอบรมฝึกทักษะ มาตรการเหล่านี้สามารถตั้งงบงบประมาณปี 2564 ที่จะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้รองรับได้ การแยกแยะดังกล่าวมีความจําเป็นและสําคัญในแง่วินัยการคลัง เพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่จําเป็นไม่ฉุกเฉินถูกสอดแทรกเข้าไปเป็นภาระให้กับการกู้เงิน ที่สําคัญงบกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดจบลงที่บรรจุในงบประมาณปี 2564 จะได้ประโยชน์จากการให้ความเห็นและตรวจสอบตามขั้นตอนปกติของกลไกระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

 เรื่องที่ 2 การใช้จ่ายจากเงินกู้ควรจํากัดไว้เฉพาะการใช้จ่ายเพื่อหยุดการระบาดและประคองเศรษฐกิจให้กลับมาทํางานเป็นปกติเมื่อการระบาดจบลงเท่านั้น หมายถึงใช้เงินกู้ เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ รักษาระบบการผลิตกําลังแรงงาน และระบบการเงินของประเทศให้สามารถตั้งรับผลกระทบจากการระบาดและช่วยระบบเศรษฐกิจให้กลับมาทํางานได้อย่างเป็นปกติเมื่อการระบาดจบลง

ดังนั้น การใช้เงินกู้ควรจํากัดไว้เฉพาะกับ 4 เรื่องที่สําคัญต่อการแก้ปัญหา 1.ใช้จ่ายเพี่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีความพร้อมที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดและรักษาผู้ที่เจ็บป่วย รวมทั้งดูแลความปลอดภัยของแพทย์และพยาบาล 2.เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐซึ่งจําเป็นมาก และควรทําเต็มที่ เพราะถ้าทําได้ไม่ดี ไม่ทั่วถึง หรือถูกมองว่าไม่เป็นธรรม ความร่วมมือของประชาชนและภาคธุรกิจกับมาตรการลดการระบาดก็จะมีน้อย ทําใหัมาตรการลดการระบาดไม่ประสบความสําเร็จ การระบาดจะยืดเยื้อ และทั้งวิกฤติไวรัสและวิกฤติเศรษฐกิจยิ่งมีปัญหา 3.ให้ความช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเพื่อให้ระบบการผลิตของประเทศสามารถเดินต่อได้หลังการระบาดจบลง อันนี้จําเป็นมากเพราะถ้าบริษัทธุรกิจเสียหาย ต้องหยุดหรือปิดกิจการ คนตกงานจะมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้า ในเรื่องนี้ การช่วยเหลือบริษัทนอกเหนือจากที่รัฐได้ให้กับบริษัทเป็นการทั่วไปเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นการชั่วคราว ควรยืนอยู่บนหลักการว่ารัฐจะช่วยเฉพาะบริษัทที่เข้ามาช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติเท่านั้น เป็นการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข คือตอบแทนสิ่งที่บริษัทได้ช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤติ เช่น ไม่เลิกจ้างพนักงาน หรือปรับไลน์การผลิตมาผลิตสินค้าที่คลาดแคลน 4.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เพื่อให้ระบบการเงินสามารถสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงในช่วงการระบาดเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถทํางานได้และกลับมาฟื้นตัวได้หลังการระบาดจบลง

นี่คือ 4 มาตรการที่จําเป็นต่อการแก้ไขวิกฤติขณะนี้ เป็น 4 มาตรการที่พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินจะต้อางจํากัดการใช้จ่ายเงินกู้ไว้เฉพาะกับสี่เรื่องนี้เท่านั้น

เรื่องที่ 3 คือการวางแนวปฎิบัติด้านธรรมาภิบาลเพื่อให้การกู้เงินและการใช้เงินกู้มีความโปร่งใส มีความรับผิดรับชอบและสามารถตรวจสอบได้ ในเรื่องนี้มีแนวปฎิบัติที่ดี 4 ข้อเกี่ยวกับการบริหารเงินกู้ที่รัฐบาลสามารถนํามาใช้ได้คือ 1.กําหนดเงื่อนเวลาชัดเจนในการเบิกใช้เงินกู้ เช่น 6 เดือนหรือจบเมื่อการระบาดสงบลงและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ทําให้ความเป็นหนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อจําเป็นต้องใช้เงินแก้ไขปัญหา 2.ให้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงหรือหน่วยงานหลัก 3 แห่ง ตามมาตรการแก้ปัญหาที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ คือไม่รวมศูนย์ เช่น ก.สาธารณสุขรับผิดชอบการหยุดการระบาด การรักษาและการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ก.คลังด้านการเยี่ยวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและบริษัทที่ขอความช่วยเหลือ และธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยแต่ละหน่วยงานแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอิสระจากภายนอกเป็นประธาน ทําหน้าที่กํากับดูแลการใช้เงินกู้ 3.แยกบัญชีการใช้จ่าย โดยผู้สอบบัญชีอิสระจากภายนอก 4.รายงานผลการใช้จ่ายและบัญชีให้ประชาชนและสภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อการตรวจสอบ

ทั้งหมดคือขั้นตอนด้านธรรมาภิบาลที่ควรมี สําหรับการกู้เงินครั้งนี้และรัฐบาลสามารถจัดให้มีได้เพื่อให้การกู้เงินเป็นไปอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทําให้การทํางานเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งสําคัญมากต่อรัฐบาลและอนาคตของประเทศ