ปัญหาธรรมาภิบาล ใน 3 องค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการ

ปัญหาธรรมาภิบาล ใน 3 องค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการ

บางคนอาจคิดว่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ที่ดูเหมือนจะตามจิกตามกัด 3 องค์กรนี้มาตลอด ก็ต้องตอบว่า ส่วนตัวนั้นไม่มีอะไร

 แต่ที่ติดตามและพูดถึงบ่อยเพราะเป็นองค์กรรัฐที่ใช้ภาษีของประชาชน ไม่ว่าจะมาจากภาษีสรรพสามิตหรืองบประมาณแผ่นดิน และบังเอิญช่วงที่ทำหน้าที่เป็นปรึกษากิตติมศักดิ์ของ กมธ.สาธารณสุข สนช. ที่ผ่านมานั้น มีโอกาสรับฟังคำชี้แจงของสำนักงานสร้างเสริมสุขาพแห่งชาติ หรือ สสส. และสำนักงานหลักประกันสุขภภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ทุกปี รวมทั้งได้ฟังการรายงานประจำปีต่อรัฐสภา จึงมองเห็นว่าหลายอย่างไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ แต่ก็ยังทำงานต่อเนื่องมานานนับสิบปีโดยไม่มีใครแตะต้อง

ปฐมเหตุเรื่องนี้มาจากการอ่านรายงานของคณะวิจัยต่างประเทศที่ทำการวิจัยเรื่องธรรมาภิบาลขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ (NGO) ในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเซียเมื่อไม่กี่ปีก่อน และผลการวิจัยสรุปว่าองค์กร NGO เกือบทั้งหมดมีปัญหาธรรมาภิบาลที่มีการทำงานในลักษณะที่ไม่เปิดเผย เป็นการทำงานของกลุ่มหรือคณะบุคคลเล็กๆ ไม่กี่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และข้อมูลนั้นไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้ถูกมองจากคณะวิจัยว่าไม่มีความโปร่งใส เพราะตรวจสอบไม่ได้ มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งประเทศไทยก็ไม่แตกต่างจากที่อื่น แต่ผลการวิจัยนี้ไม่ได้สรุปว่า แม้ว่าการทำงานจะไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการทุจริตคอรัปชั่นเสมอไป ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันในรายละเอียดของแต่ละองค์กร ผมเอง ส่วนตัวก็ไปร่วมประชุมกับบาง NGO ในเรื่องที่สนใจ และไม่พบการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือเรื่องคอรัปชั่น แต่ถ้าจะมี ก็เป็นเรื่องของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของการทำงานองค์กร NGO นั้นโดยเฉพาะ

แต่สำหรับองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการนี้ เป็นอะไรที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลมากกว่า NGO ภาคเอกชน เพราะเป็นองค์กรภาครัฐที่ทำงานเหมือน NGO โดยใช้ภาษีประชาชนมาดำเนินการ เรื่องธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

องค์กรแรกที่น่าสงสัยเรื่องธรรมาภิบาลก็คือ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 มีกฎหมายของตัวเองคือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสถานะเป็นองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการ เพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคมหรือไม่มีสวัสดิการข้าราชการ จากการศึกษา พ.ร.บ.สปสช.พบว่าการดำเนินการขององค์กรนี้เป็นไปในลักษณะคณะกรรมการดูแลกำกับเรื่องนโยบาย มีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ มีการประเมินการทำงานของสำนักงาน รวมถึงมีการตรวจสอบงบการเงินโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และประเมินผลโดยคณะกรรมการประเมินของสำนักงาน ดูเหมือนทุกอย่างได้ทำตามกฎหมายทั้งหมด แต่ปรากฎว่า การบริหารจัดการของสำนักงานในกองทุนต่างๆ ไม่เคยมีรายละเอียดว่าทำอย่างไร และได้ผลอย่างไร มีประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างไร การทำงานของ สปสช.ในการบริหารจัดการกองทุนไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะว่ามีการโยกเงินระหว่างกองทุนอย่างไร ใช้เงินอย่างไร กองทุนไหนประสบความสำเร็จ สำเร็จในระดับไหน แม้กระทั่งในรายงานประจำปีก็ไม่ปรากฎ มีแต่เพียงภาพรวมที่ใช้ตัวชี้วัดอื่นที่ไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

องค์กรที่ คือ สสส.หรือสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ สสส. มีลักษณะการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชนคล้ายกับ สปสช. โดยได้รับเงินจากาษีสรรพสามิตปีละ 4,000 ล้านบาท หรือ 2% ของรายได้จากธุรกิจสุรายาสูบ หรือภาษีบาป แต่ปรากฎว่าการทำงานของ สสส.ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อประมาณปีเดียวกับ สปสช. ก็ไม่ประสบความสำเร็จที่ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณรายปี ปีละหลายพันล้านบาท โรคภัยต่างๆ ไม่ลดลง อุบัติเหตุไม่ลดลง คนสูบบุหรี่ไม่ลดลง คนดื่มสุราไม่ลดลง เคยอย่างไรก็อย่างนั้น แต่ที่สำคัญคือ สสส.ไม่ได้ทำงานเอง แต่จ้างบุคคลภายนอกทำงาน และสสส.จ่ายค่าจ้างโดยไม่มีการประเมินผลงานรายโครงการว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงไร แต่ก็ยังอุดหนุนให้ทำโครงการต่อเนื่อง ไม่ปรากฎว่าการใช้เงินในแต่ละปีได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน สสส.ไม่เคยมีการประเมินผลโครงการต่างๆที่ได้รับเงินจาก สสส.รายโครงการ แม้ว่าจะดำเนินการต่อเนื่องหลายปี ทุกอย่างเหมือนจะเป็นความลับไปหมด มีเพียงการประเมินสำนักงาน สสส.ที่เป็นภาพรวม ที่ไม่ได้บอกอะไรนอกจากการใช้งบประมาณทำอะไรบ้าง

องค์กรทีวีไทยพีบีเอส เป็นองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการองค์กรที่ 3 ที่มีปัญหาธรรมาภิบาลอย่างมากอีกองค์กรหนึ่ง ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรที่ใช้เงินจากภาษีสรรพาสามิต 1.5% หรือไม่เกินปีละ 2,000 ล้านบาท แต่การบริหารจัดการขององค์กรมีปัญหามาโดยตลอดโดยเฉพาะการทำรายการต่างๆ ที่อาศัยผู้ผลิตอิสระเหมือน สสส.ที่จ้างคนนอกผลิตรายการ รายการทั้งหลายแม้จะได้รับการประเมิน แต่การใช้จ่ายเงินอย่างมีปัญหาของผู้บริหารคนแล้วคนเล่า รวมถึงการเอาเงินสะสมไปลงทุนกับภาคเอกชนที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรก็ไม่ได้มีการกล่าวโทษใคร แม้ผู้บริหารจะได้ลาออก ทุกอย่างยังคงปิดเงียบเป็นความลับ ในการรายงานประจำปีต่อวุฒิสภาก็มีเพียงเรื่องขยายฐานผู้ชม ตั้งเสาเครือข่าย แต่ไม่ปรากฎว่าได้รับการจัดอันดับที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วประเทศ เรทติ้งต่ำตลอดมา ไทยพีบีเอส ยังมีปัญหาที่ไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ.ไทยพีบีเอสที่ให้เสนอรายงานข่าวที่รอบด้าน เป็นกลาง รับฟังทุกภาคส่วน มีความเป็นเสรีในการทำข่าว เสนอข่าว แต่ก็พบว่าการทำงานรายงานข่าวแสดงถึงความไม่เป็นกลางและเลือกปฏิบัติต่อบางกลุ่มอย่างน่าคิด

ปัญหาธรรมาภิบาลเป็นปัญหาใหญ่สำหรับองค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ราชการอย่าง สปสช.สสส. และไทยพีบีเอส เพราะรับงบประมาณจากรัฐบาล และ/หรือได้งบประมาณจากภาษีเฉพาะ ซึ่งถ้าไม่ได้ใช้ก็ต้องคืนเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้นี้ให้กับรัฐบาลเพื่อไปใช้ในกิจการอื่นที่จำเป็นเพื่อประชาชน แต่ก็ปรากฎว่า องค์กร สสส.ก็ดี ไทยพีบีเอส ก็ดี ไม่เคยส่งเงินส่วนที่ใช้ไม่หมดคืนรัฐบาล แต่กลับเก็บไว้เอง และนำไปซึ่งการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ขององค์กรดังที่ปรากฎเป็นข่าว

ความไม่ชอบมาพากลขององค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการนี้อาจมีกับอีกหลายองค์กรที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ที่แม้ไม่ถือว่าเป็นความลับแต่ก็เหมือนเป็นความลับ เพราะไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณะตรวจสอบได้ การดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้เช่นว่านี้ จึงไม่ต่างจากการทำงานโดยไม่มีธรรมาภิบาลนั่นเอง