เกษียณ 65 ปี ยาดีแก้วิกฤตหลัง “โควิด” ได้

เกษียณ 65 ปี ยาดีแก้วิกฤตหลัง “โควิด” ได้

เพียงประมาณ 3 เดือนกับความซบเซาแบบหยุดนิ่งของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจและผู้ประกอบการหลายแห่งถึงกับทรุดหนัก

กิจการอันเคยยิ่งใหญ่ที่รัฐเข้าไปมีส่วนถือหุ้นบางแห่งถึงขั้นเตรียมล้มละลาย นักเลงหุ้นที่สายป่านสั้นเอาเงินโอดี(กู้ยืม) มาลงทุนเก็งกำไรกลายเป็นหนี้ท่วมหัวทันตาเห็น สิ่งที่ตามมานอกจากการเลิกกิจการ หรือปล่อยให้สถาบันการเงินยึดทรัพย์สินชดใช้หนี้แล้ว เรื่องน่าสังเวชใจอีกประการ คือ การปลดลดคนงานลูกจ้างมีให้เห็นเป็นประจักษ์ เริ่มจากให้ลากิจไม่รับเงินเดือนบ้าง ให้รับในอัตราส่วนเท่านั้นเท่านี้สุดแต่จะเจรจาต่อรองกันได้ สำหรับข้าราชการซึ่งกินเงินเดือนของรัฐในอัตราที่ไม่สูงมาก ยังไม่ได้รับความเดือดร้อนมากนักเพราะส่วนใหญ่ “ประหยัด มัธยัสถ์ มีน้อยใช้น้อย” โดยเฉพาะข้าราชการที่ไม่มีตำแหน่งสูงมาก แต่คนเหล่านี้ด้วยเงินเดือนที่ไม่มาก “หนี้สินส่วนบุคคลและครัวเรือน” กลายเป็นปัญหาภูเขาใต้ก้อนน้ำแข็ง ที่อาจถูกมองข้ามไป

พวกเราที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่างทราบดีถึงพิษสงของมหาสงคราม 2 ครั้งของมนุษย์ในรอบร้อยปีมานี้ ระบบเศรษฐกิจของโลกเกิดการถดถอยครั้งมโหฬาร ใช้เวลาแรมปีกว่าจะพากันฟื้นตัวลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ ปัญหาคือการสู้รบกับไวรัสโควิดครั้งนี้ ต่างจากภัยร้ายทุกประการที่มนุษย์เคยประสบพบเจอมา เนื่องจาก “พิษร้าย” ของมันขยายออกไปในวงกว้าง ประเทศที่ร่ำรวยคิดว่าจะเยียวยาช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ได้ กลับโดนหนักกว่าเพื่อน เริ่มที่จีนซึ่งอาจพ้นวิกฤติไปได้บางส่วน แต่กรรมหนักไปตกอยู่กับยุโรปและสหรัฐ มหาอำนาจอันเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรของโลก ในอดีตประเทศเหล่านี้ไม่บอบช้ำมาก ยังผนึกกำลังช่วยฟื้นฟูทุกอย่างกลับมาหลังพ้นภัยสงคราม ในครั้งนี้ยังไม่แน่ว่าประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับมหันตภัยนี้ไปถึงจุดใด ภัยสงครามในอดีตส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศไทยนำไปสู่การ “ดุล” ข้าราชการ หรือการลดการปลดคนออกไปเพื่อพยุงสถานะทางการเงินของรัฐให้อยู่รอดต่อได้

เงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นรายจ่ายประจำปี เกือบครึ่งหนึ่งเป็นงบที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการพนักงานของรัฐ ถึงเวลานี้มีความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่งที่หากโควิดเปิด “เกมยาว” ไปเป็นปีอย่างที่มีการคาดการณ์อันเกิดจากปัญหาวินัยคนในสังคมที่ย่อหย่อน ขาดความร่วมมือร่วมใจกระทั่งรัฐต้องประกาศเคอร์ฟิวในที่สุด รวมถึงการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ทุ่มทุนแจกจ่ายเป็นแสนล้านในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากความเดือดร้อนของประชาชนในระยะสั้น แต่ยังไม่มีหลักประกันชัดเจนว่าจะเป็นยาแรงที่เห็นผลได้ชะงัด จึงอาจต้องเผื่อใจไม่มองโลกสวยว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ดังนั้น “ความเสี่ยงอย่างสูง” ที่น่าจะต้องประเมินไว้รับมือและเตรียมการเพื่อไม่ให้เดินหมากผิดพลาด คือ รัฐต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้จ่าย และมองการณ์ไกลถึงอนาคตในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า เพราะคราวนี้ไม่ใช่ว่าเรารอดฝ่ายเดียวแล้วทุกคนจะรอดด้วย หากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบในวงกว้างเช่นที่ว่า การทำมาค้าขาย การฟื้นฟูภายในของแต่ละประเทศย่อมเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดของแต่ละประเทศ ความพึ่งพาที่มีต่อกันมาแต่เดิมในหลายๆ ด้านทางระบบเศรษฐกิจจะกลายเป็นเรื่องยากในการปรับตัวทั้งของคนในประเทศและการบริหารจัดการภาครัฐ การเก็บหอมรอมริบหรือการมี “เงินคงคลัง” ไว้ในปริมาณมากเพื่อ “รักษาสภาพคล่องรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องสำคัญและน่าจะมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการแจกเงินนับแสนล้านที่จะมีขึ้นเป็นระลอกจากนี้ไป เพราะโอกาสจะมีรายได้ประจำเข้ามาจากการเก็บภาษีและอื่นๆ คงเป็นเรื่องยากยิ่ง จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับ “การรัดเข็มขัด” และ “การกู้หนี้ยืมสินมาใช้” ที่จะมีทั้งต้นและดอกเป็นภาระให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราจากนี้ต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ผมในฐานะเป็นหนึ่งในอดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช) ร่วมกับมวลหมู่สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่มีมติให้ความเห็นชอบในวาระการปฎิรูปและสนับสนุนให้รัฐมีนโยบายรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยการขยายเวลาเกษียณของข้าราชการเป็นการนำร่องออกไปจากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปี มาเมื่อหลายปีก่อน ต้องถือว่าขณะนี้ คือ เวลาที่เหมาะสมที่สุดที่รัฐบาลควรเลือก “มาตรการเร่งด่วนนี้” นำมาใช้เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการแก้ปัญหา “ภายหลังวิกฤตโควิด” ที่หลายฝ่ายพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องพบกับสภาวะ “ชักหน้าไม่ถึงหลังทั้งในระดับจุลภาคและในขั้นมหภาคของรัฐเอง” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการจะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ พนักงานของรัฐให้ไล่ทันกับค่าครองชีพที่วิ่งหนีห่างออกไปเรื่อยๆ ย่อมทำได้ยากยิ่ง ในอีกสถานะของผู้ที่อยู่ในระบบราชการ เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมคงพร้อมจะเสียสละไม่ประสงค์เรียกร้องสิ่งใดในเวลาคับขันของชาติในยามนี้ 

แต่สิ่งที่อาจเป็นขวัญกำลังใจเป็นการตอบแทนการเป็นผู้รับใช้ให้บริการสังคม อันเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่รัฐต้องแบกภาระงบประมาณจำนวนมาก ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่กำลังถาโถมเข้ามา หากมีการขยายเวลาเกษียณอายุออกไป รายจ่ายหลายประการที่รัฐจะต้องแบกรับภาระคนจำนวนหลายหมื่นคนในแต่ละปี(ที่เป็นตัวคูณจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าเงินบำเหน็จบำนาญ เบี้ยหวัด เงินกองทุน กบข ความซ้ำซ้อนของสวัสดิการแห่งรัฐประเภทต่างๆ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยสอดรับกับการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างประจวบเหมาะที่สุด

ที่สำคัญนอกจากลดรายจ่ายที่จะบานปลายออกไปแล้ว ยังเป็นการธำรงรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่ส่วนใหญ่มีคุณค่าและมากด้วยประสบการณ์ให้สามารถรับใช้สังคมส่วนรวมต่อไปได้ในระยะเวลาที่เหมาะสมตามอายุขัยที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ส่วนใครประสงค์จะขอพ้นไปก่อนถึงเวลาเกษียณหรือสมัครใจที่จะคงไว้ที่อายุ 60 ปีเช่นเดิมย่อมเป็นสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรม เหลือแต่ว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องจะเห็นความสำคัญและได้ตระหนักถึงแนวทางนี้เพื่อ ลดทอนการใช้จ่ายเงินแบบให้เปล่าที่กำลังเป็นอยู่และ เป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว