สงครามไวรัส(จบ)

สงครามไวรัส(จบ)

ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนในวันที่ 6 ก.พ. และมีคนขับแท็กซี่คนไทยสองคนติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีพอควรในช่วงแรกๆ ของการตรวจพบผู้ป่วย (ถึงแม้รัฐบาลไทยไม่ยอมปิดประเทศ ตามที่แพทย์หรือนักวิชาการสาธารณสุขเรียกร้อง ยังปล่อยให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาด หรือกลุ่มเสี่ยง เดินทางเข้าประเทศได้ แม้จะมีมาตรการตรวจไข้และแยกผู้มีอาการ แต่ผู้ที่มีเชื้อแล้วและยังไม่มีอาการก็อาจแพร่เชื้อได้ จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ)

กล่าวคือมีผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จนกระทั่ง 20 มี.ค.ที่มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จากกลุ่มประชาชนที่ไปสนามมวย และจากผู้คนในผับที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ หลายๆ ประเทศจึงมองว่าไทยก็เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคนี้

ขณะที่เขียนบทความนี้ (27 มี.ค.2563) มีการระบาดไปทั่วโลก ตัวเลขผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันคือ 462,684 ราย ตรวจพบผู้ป่วยใหม่ 49,219 ราย เสียชีวิต 20,534 ราย ผู้ป่วยพบมากที่สุดคือสหรัฐ 83,672 ราย ผู้ป่วยใหม่ 15,461 ราย จีน 81,285 ราย ไม่มีผู้ป่วยใหม่ อิตาลี 80,589 ราย ผู้ป่วยใหม่ 6,200 ราย ถัดมาคือสเปน เยอรมนี อิหร่าน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ซึ่งยังอยู่ในช่วงกำลังมีการระบาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยมีผู้ป่วยทั้งหมด 1,045 ราย มีผู้ป่วยใหม่ 111 ราย เสียชีวิต 3 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มี.ค.2563) 

จะเห็นได้ว่าจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้ในเวลาประมาณ 3 เดือนเศษ ในขณะที่หลายๆ ประเทศทั้งในสหรัฐ อิตาลี สเปน เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และไทย ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ดำเนินการแบบจีน คือปิดเมือง แยกผู้ป่วย ผู้ไม่ป่วย และผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยออกจากกันอย่างเด็ดขาด จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ขยายกระจายไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง

แต่ในขณะนี้ทุกประเทศต่างก็หันมาทำตามจีนกันแล้ว

ไทยเพิ่งมีการประกาศปิดเมืองจากวันที่ 22 มี.ค.ถึงวันที่ 30 เม.ย. ที่ในขณะนี้ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละไม่ต่ำกว่า 100 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มมีรายงานผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น

หากเราศึกษาถึงการควบคุมการระบาดจากจีนที่ประสบความสำเร็จในเวลาไม่นาน พบว่ามาตรการในการควบคุมการระบาดเข้มข้นมากดังนี้

1.ปิดเมืองโดยเด็ดขาด ป้องกันไม่ให้คนเข้าเมือง ออกจากเมือง เลิกบริการสาธารณะที่จะทำให้คนมาชุมนุมกันอย่างใกล้ชิด เช่นการบริการสาธารณะทางคมนาคม ทั้งหยุดให้บริการทางการบิน รถไฟ รถใต้ดิน รถประจำทาง งดการจัดกิจกรรมทางสังคม

2.ตรวจหาผู้ติดเชื้อโดยการวัดไข้ ถ้าพบว่ามีไข้จะส่งไปยังคลินิกผู้มีไข้โดยเฉพาะ ซึ่งมีทางเข้าแยกต่างหากจากผู้ป่วยอื่น แล้วทำการซักประวัติ ส่งไปตรวจเลือด เพื่อดูว่าเป็นปอดบวมจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ถ้าผลบ่งชี้ไปทางไวรัส ส่งไปทำซีทีสแกน ถ้าพบฝ้าขาว เป็นปอดบวม ส่งไปทำการตรวจแล็ป พีซีอาร์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส

3.ถ้าผลตรวจเป็นบวก ส่งไปกักตัวเฝ้าสังเกตอาการ ไม่ให้กลับบ้าน เนื่องจากพบว่าผู้ป่วย 75-80เป็นผู้ป่วยที่ติดมาจากสมาชิกในครอบครัวเป็นการตัดวงจรการระบาดในครอบครัว

4.ถ้าป่วยอาการไม่หนัก (ประมาณ 80%) ไม่ต้องให้ออกซิเจน ไม่ต้องไปอยู่ รพ. เพื่อเก็บเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยหนักจริงๆ ป้องกันการมีเตียงไม่พอรองรับผู้ป่วย

ส่วนประเทศทางยุโรปและสหรัฐไม่มีมาตรการปิดเมืองและไม่ห้ามการมีกิจกรรมทางสังคม จำนวนผู้ป่วยจึงเพิ่มมากและเสียชีวิตมาก ในอิตาลีต้องเลิกรักษาผู้ป่วยสูงอายุเพราะต้องเลือกว่าจะมีเครื่องช่วยหายใจและเตียงพอสำหรับช่วยรักษาผู้ที่คาดว่าจะรอดชีวิตเท่านั้น แต่เมื่อจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ทุกประเทศก็ต้องหันกลับมาใช้มาตรการปิดเมือง เพื่อยุติการระบาดไม่ให้รุนแรงมากขึ้นกว่านี้ และมีความพยายามหายามารักษา และหาทางพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ต่อไป

ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มใช้มาตรการปิดมือง หลังจากที่พบผู้ป่วยโรคนี้แล้วนานเกือบ 2 เดือน (6 ก.พ.- 22 มี.ค.) ผู้เขียนขอตั้งความหวังว่าการระบาดในไทยจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้ ถ้าประชาชนทุกคนร่วมมือกันทำตามที่รัฐบาลแนะนำ คืออยู่บ้าน งดกิจกรรมรวมกลุ่มทางสังคม รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้สะอาด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปธุระนอกบ้าน กินอาหารสุก สะอาด ร้อน ไม่กินข้าวร่วมวงกับผู้อื่น กินอาหารครบ 5 หมู่ทุกวัน ออกกำลังกาย และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่

และอย่าเครียดเพราะต้องถูกจำกัดให้อยู่บ้าน ควรออกกำลังกายและหางานอดิเรกทำ พูดคุยกับเพื่อนฝูงและญาติมิตรด้วยโทรศัพท์ หรือออนไลน์ ไม่ต้องไปจับกลุ่มพบปะสังสรรค์ตัวเป็นๆ ทำงานจากบ้าน ใช้เทคโนโลยี 4-5 จี สมกับคำขวัญประเทศไทย 4.0 

โดย... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา