ทางเลือกที่มีไม่มากนักของ “ผู้นำ”

ทางเลือกที่มีไม่มากนักของ “ผู้นำ”

ผมและหลายท่านที่กำลังอ่านบทความนี้ใช้เวลามาครึ่งค่อนชีวิตที่จะต้องตัดสินใจเรื่องต่างๆ ส่วนใหญ่เรามีทางเลือกไม่มาก และมักมีเพียงสองทางเลือก

คือ เลือกที่จะรับเอาหรือปฎิเสธทางเลือกที่อยู่ข้างหน้าของเรา ผู้นำของแต่ละประเทศในภาวะที่ขณะนี้หลายคนเรียกว่า เป็นภาวะสงคราม น่าจะไม่ต่างกับคนรุ่นเก่าแก่ที่เราเคยฟังเรื่องเล่าถึงสงครามการรบพุ่งระหว่างมนุษย์ มาวันนี้มาเป็นสงครามระหว่างมนุษย์กับไวรัสที่เรายังหาวัคซีนมาสู้รบปรบมือกับมันไม่สำเร็จ

ด้วยทางเลือกที่มีไม่มากดังกล่าว จึงมีโอกาสสูงที่บางทีเราอาจเลือกทางเดินที่ผิดพลาด เหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ มหาอำนาจฝั่งอเมริกาเหนือ เหมือนบอริส จอห์นสัน ผู้นำอังกฤษที่ตัวเขาเองก็ติดโควิท 19 เพียงเพราะประเมินศักยภาพของไวรัสต่ำเกินไป ทำให้มาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาต่อกรกับมันล่าช้าและดูจะเดินตามหลังอยู่หลายก้าว รวมทั้งด้วย “ความเชื่อมั่น” หรือจะเรียกว่าอีโก้ (ego) ส่วนตัวอย่างสูงยิ่ง พวกเขาจึงประณามคนตั้งคำถามท้าทายหรือวิจารณ์การทำงานอย่างรุนแรงทุกครั้งเมื่อถูกซักถามถึงความผิดพลาดอันเกิดจากการตัดสินใจ

จะว่าไปแล้ว การตัดสินใจของผู้นำในระดับรัฐบาลหลายเรื่องก่อนมาถึงขั้นท้ายสุด จะต้องผ่านการกลั่นกรอง นำเสนอข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกมาให้อย่างเกือบครบถ้วน แต่ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้น คือ ความผิดพลาดจากฐานคิดหรือข้อมูลที่นำเสนอมาจากคนที่อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้นำในแต่ละยุคสมัย คนพวกนี้บางทีอาจไม่อยู่ในฐานะคนใกล้ชิดที่ใกล้ตัวผู้นำ แต่เป็นนักวิชาการบ้าง เป็นนักการเมืองที่มีความทะเยอทะยานหวังจะก้าวกระโดดไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็วก็มีปะปนกัน “นักตะกายดาว” เหล่านี้จะด้วย “ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์” อันเป็นคำซึ่งเป็นที่นิยมในการกล่าวอ้างของคนทำผิดในยุคนี้ หรืออาจด้วยความไม่รู้ถึงแก่นแท้ในเรื่องราวนั้นๆ ทำให้ผู้นำได้รับสารที่ผิดพลาด การตัดสินใจจึงผิดพลาดตามไปด้วย

แต่กลไกในการป้องกันตัวเองของคนเหล่านี้ เวลาถูกตั้งคำถามก็มักจะตอบด้วยความยโสเย่อหยิ่งว่า เราทำแล้ว เราคิดไว้ล่วงหน้าแล้ว เรามีวิธีการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว และเมื่อถูกต้อนเข้ามุม วาทะประจำที่นักตะกายดาวเหล่านี้มักยกมาตอบโต้คือ ให้รักชาติ อย่าสร้างความขัดแย้ง” กลายเป็นว่าคนที่หวังดีต่อประเทศหากเห็นแย้งกับพวกเขาจะถูกยัดเยียดเป็นคนอีกกลุ่มไปโดยปริยาย ทั้งที่จริงแล้ว “เราทุกคนล้วนรักชาติบ้านเมืองไม่ต่างกัน

เรื่อง “นักตะกายดาว” เหล่านี้เป็นเรื่อง “น่าห่วงใย” มากกว่า โควิท19 ยิ่งผสมโรงกับหลายเรื่องที่มาพร้อมกับโควิท โดยเฉพาะปัญหาธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเครื่องมือเวชภัณฑ์ การมี “เอตทัคคะ” ที่มากมายเหลือเกินในประเทศนี้ กระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องออกมาปรามสื่อทำนองว่า “ขอให้แพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขได้ทำงานกันอย่าไปรบกวนขอเวลาสัมภาษณ์มากนัก” เพราะในเวลานั้นประชาชนจำนวนมากสับสนอลหม่าน คนที่ออกมาให้สัมภาษณ์บางคนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง บางคนเป็นหมอก็มี แต่เป็นหมอที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ใช่ผู้ทำงานด้านการแพทย์มานานมาก แม้ผมจะไม่ใช่หมอ แต่เมื่อวิเคราะห์ตามตัวแบบทางคณิตศาสตร์ที่มีผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศทำออกมาก่อนหน้านี้ แล้วทางบ้านเราก็ทำตามๆ กัน ก็ยังเชื่อว่าในที่สุดโควิท19 จะกลายเป็นอดีตในไม่ช้า และด้วยตัวเลขที่มีการแถลงผ่าน “ศบค” ที่ตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดฯ จะเห็นได้ว่ากว่าสามเดือนนับแต่การระบาดใหญ่ในอู่ฮั่นประเทศจีน ตัวเลขคนติดเชื้อของไทยในระยะหลังอาจจะสูง แต่ที่ทำให้กังวลน้อยลงเพราะเรารับรู้ชัดเจนว่า มาจากกลุ่มเสี่ยงหลายกลุ่ม ทั้งคนที่เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งคนที่หลบหนีเข้าเมืองซึ่งขอกลับภูมิลำเนา ผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพหลังการประกาศล๊อกดาวน์ห้างสรรพสินค้าและหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้สัมพันธ์กับกลุ่มเสี่ยงของสนามมวยที่จัดการแข่งขันในเวลาที่ไม่สมควร รวมทั้งการคบค้าสมาคมอย่างใกล้ชิดของผับบาร์ในหลายพื้นที่ทั้งทองหล่อ รวมทั้งอีกหลายแห่งในกรุงเทพและต่างจังหวัดตามตัวเลขที่ปรากฏเป็นข่าว อันเป็นการสะท้อนข้อเท็จจริงว่า เราสืบสาวราวเรื่องอุบัติการณ์ของโรคได้ว่า มีที่มาที่ไป

อาจเป็นโชคดีที่นายกรัฐมนตรียังไหวตัวทัน และรับรู้ถึงการหักโค่นกันทางการเมือง จึงใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักกระทั่งถึงวันที่จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อดำเนินการกำกับดูแลถ่ายโอนอำนาจสำคัญมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีโดยตรง มอบหมายให้ปลัดกระทรวงรวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านต่างๆ สะท้อนให้เห็นความไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่ถึงแม้จะให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ ศบค แต่การตัดสินใจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีโดยตรง และกำหนดให้ศูนย์แถลงข่าวของรัฐบาล เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ เพื่อลดทอนสภาวะการเผยแพร่ข่าวที่จริงบ้างเท็จบ้างหรือมาจากหลายแหล่งของผู้รอบรู้จำนวนมากที่อาจทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนทั่วไป