วาระแห่งชาติว่าด้วยชุดทักษะแห่งอนาคต

วาระแห่งชาติว่าด้วยชุดทักษะแห่งอนาคต

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้เขียนเตือนเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของประเทศไทยว่าสาเหตุใหญ่คือเสาหลักเรื่อง “ทักษะ”

ทั้งชุดทักษะของบัณฑิต และทักษะดิจิตอลของประชาชน(https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648788)มาถึงวันนี้ยิ่งต้องขอย้ำให้ตระหนักในความสำคัญของ ช่องว่างทางทักษะ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็น “ปัญหาใหญ่” ของประเทศไทยในอนาคต หากแต่ยังเป็น “ปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข” เนื่องจาก OECD ประเมินว่ามีตำแหน่งงานมากกว่าหนึ่งพันล้านตำแหน่งที่จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีตลอดทั้งทศวรรษข้างหน้า

ในขณะที่ World Economic Forum ประเมินว่าในอนาคตตำแหน่งงานต่างๆ ที่จะหายไปมีจำนวนน้อยกว่าตำแหน่งงานใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นทั้งข่าวดี และข่าวร้าย ข่าวดีคือ “การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่น้อยลง”แต่ข่าวร้ายที่ตามมาคือ “ทักษะหลักๆที่ต้องใช้ในงานเหล่านั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่” โดยคาดว่าอย่างน้อย 50% ของทักษะหลักในการทำงานจะต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับลักษณะงานในอนาคตซึ่งจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไปทั้งนี้ 

สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ภาระหน้าที่ของสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมต่าง ๆ ที่จะต้องช่วยกันปิดช่องว่างทางทักษะเหล่านี้พร้อม ๆ กับการช่วยสร้าง กำลังแรงงานแห่งอนาคตให้กับประเทศ

ปัญหาช่องว่างทางทักษะถือเป็นอันตราย 2 ชั้น เพราะจะเกิดทั้งปัญหา คนตกงาน และ “ขาดแคลนแรงงาน ไปพร้อม ๆ กัน กล่าวคือ ในด้านหนึ่งคนทำงานในปัจจุบันมีแนวโน้มจะตกงานเพราะงานจำนวนหนึ่งจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี (ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบกันแล้ว) ส่วนอีกจำนวนหนึ่งจะตกงานเพราะแม้ตำแหน่งงานจะยังคงอยู่แต่ทักษะคนทำงานในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ทักษะงานในอนาคต (ซึ่งจะเริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ) ในขณะเดียวกันก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะตำแหน่งงานใหม่ ๆ อาชีพใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องการ “ชุดทักษะแห่งอนาคต” ที่แตกต่างไปจาก “ชุดทักษะปัจจุบัน” นั่นเองโดยผลการศึกษาของ McKinsey Global Instituteในปี 2561 ได้ย้ำชัดถึงทักษะแห่งอนาคตที่ยังขาดอยู่ในปัจจุบันแต่จะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในระดับสูงมากในทุกอุตสาหกรรมมี 2 กลุ่มทักษะ คือ ทักษะเทคโนโลยี ซึ่งรวมตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำงาน การวิจัยอย่างเป็นระบบ และการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น กับ ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ ซึ่งได้แก่ การสื่อสารขั้นสูง การเจรจาต่อรอง การทำความเข้าใจกับคนอื่น การบริหารทีมงาน และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นต้น

ความสำคัญของการเร่งสร้างชุดทักษะแห่งอนาคตให้กับกำลังแรงงานของประเทศถือเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วนของโลกที่กำลังขยับไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนในแทบทุกมิติของการดำเนินชีวิตและการทำงาน ดังนั้นเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา World Economic Forum จึงได้ประกาศเชิญชวนประเทศต่าง ๆ ให้เข้าร่วมในแพลตฟอร์ม Reskilling Revolution ที่ตั้งเป้าหมายใหญ่ในการร่วมกันปรับเปลี่ยนทักษะคนทำงานหนึ่งพันล้านตำแหน่งของทั้งโลกให้พร้อมรับกับตำแหน่งงานใหม่ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ มีประเทศที่เข้าร่วมขับเคลื่อนแพลตฟอร์มนี้แล้วเช่น อินเดีย โอมาน สหพันธรัฐรัสเซียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดนมาร์ค สิงคโปร์ บาห์เรน และบราซิล โดยคาดว่าจำนวนประเทศที่เข้าร่วมจะขยับขึ้นเป็น 15 ประเทศภายในปีนี้ และหวังว่าประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 15 ประเทศดังกล่าว

แพลตฟอร์มดังกล่าวยังได้เสนอแนวทางการปิดช่องว่างทางทักษะด้วยการสร้างชุดทักษะแห่งอนาคตผ่านมาตรการ 4 กลุ่มหลัก คือ 1) ข้อมูลเชิงลึกของตลาดงานกับการคาดการณ์ทักษะแห่งอนาคต2) โมเดลทุนสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางทักษะ 3) ความพร้อมสำหรับการจ้างงานในอนาคต และ 4) การยกระดับทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งการศึกษาในระบบและการฝึกอบรม โดยความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเครื่องบินและการบิน พลังงาน ท่องเที่ยว บริการทางการเงิน สื่อ บันเทิง และสุขภาพ เป็นต้น

มาตรการทั้ง 4 กลุ่มข้างต้นเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน และเชื่อมโยงกันแบบบูรณาการเพื่อให้สามารถปิดช่องว่างทางทักษะและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมให้กับกำลังแรงงานแห่งอนาคตที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ธรรมชาติของรัฐบาลและราชการที่อาจจะขยับรับการเปลี่ยนแปลงไม่เร็วเท่าที่คาดหวัง สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงควรเริ่มต้นเดินหน้าไปก่อนเพื่อสร้างผลลัพธ์ในเบื้องต้นที่จะช่วยสร้างความตื่นตัว และทำให้ภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ขยับตาม ดังนั้น ธรรมศาสตร์จึงริเริ่มโครงการศึกษา และพัฒนากำลังแรงงานในอนาคตให้กับประเทศใน 5 กลุ่มวิชาชีพหลัก คือ นักบัญชี นักการเงินนักการตลาด นักเทคโนโลยี/โปรแกรมเมอร์ และ ผู้ประกอบการ/สตาร์อัพ โดยคาดว่าจะขยายไปสู่วิชาชีพที่สำคัญอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยินดีที่จะร่วมเป็นเครือข่ายให้กับสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้กับประเทศ

ด้วยเหตุที่เรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และต้องอาศัยการขับเคลื่อนระดับประเทศที่ต้องบูรณาการการทำงานจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงขออนุญาตส่งเสียงเตือนและเชิญชวนดัง ๆ ไปยัง 4 รัฐมนตรี แห่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ร่วมกันปรึกษาหารือและร่วมกันเสนอการสร้างชุดทักษะแห่งอนาคตให้เป็นวาระแห่งชาติในการยกระดับขีดความสามารถให้กับประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เท่าทันโลกอนาคตและเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2030 ต่อไป

โดย...

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ

อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์