ความเสี่ยงการส่งออกไทย มีมากกว่าโควิด-19

ความเสี่ยงการส่งออกไทย มีมากกว่าโควิด-19

เดิมมีการคาดการณ์กันว่าทิศทางส่งออกไทยในปี 2563 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562

จากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างสหรัฐฯและจีน วัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว รวมไปถึงความชัดเจนของการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กลับมีปัจจัยใหม่ที่ถาโถมเข้ามากดดันการส่งออกไทยในปี 2563

หลายฝ่ายมองว่า สถานการณ์ของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก มีแนวโน้มกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและคาดว่าจะส่งผลกระทบแรงต่อภาคการส่งออกไทยในปีนี้ จากผลกระทบต่อซัพพลายเชนโลกที่ต้องหยุดชะงัก ทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ แรงงาน การเข้าถึงแหล่งต้นทางของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบและกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิต การขนส่ง การบริโภคและการจ้างงาน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง

ห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ขาดตอน การค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงัก ทำให้มีการประเมินต่อไปว่า ถ้าหากปัญหาโควิด-19 คลี่คลายหรือเป็นปัจจัยชั่วคราว การส่งออกไทยก็น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้

แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยที่กดดันการส่งออกยังมีอยู่อีกมาก ทั้งภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และเงินบาทแข็งค่า นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่ไทยถูกสหรัฐฯตัดสิทธิ GSP และการบรรลุข้อตกลง FTA สหภาพยุโรป (อียู) -เวียดนาม เหล่านี้อาจสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

การยืนยันตัดสิทธิ GSP จำนวน 573 รายการของสหรัฐฯที่มีต่อสินค้าไทยที่จะมีผลในเดือนเม.ย.63 โดยสหรัฐฯอ้างเหตุผลปัญหาสิทธิมนุษยชน ทำให้สินค้าไทยที่ถูกตัดสิทธิต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือมีต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเล ผักและผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักและผลไม้ อุปกรณ์เครื่องครัว ประตู หน้าต่าง ไม้อัดและไม้แปรรูป เครื่องประดับ แผ่นเหล็ก และสแตนเลส อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิดังกล่าวต่อการส่งออกของไทยอาจไม่มาก เนื่องจากมูลค่าสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP มีสัดส่วนประมาณ 4-5% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ

ข้อตกลง FTA ระหว่างอียู - เวียดนามที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค.63 จะเป็นการเพิ่มแต้มต่อให้กับเวียดนาม  และเอื้อประโยชน์ต่อสินค้าของเวียดนามให้เข้าสู่ตลาดอียูมากขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้าจากภาษีนำเข้าที่ลดเหลือ 0% จาก 12% เป็นเวลา 7 ปี และเวียดนามจะได้ประโยชน์ต่อเนื่องเมื่ออียูคว่ำบาตร กัมพูชา ในเดือนส.ค.63 ขณะเดียวกันก็ทำให้เวียดนามได้เปรียบการส่งออกสินค้าไทยมากขึ้น โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ

กล่าวโดยสรุป การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เครือข่ายโลจิสติกส์ปั่นป่วนและกระทบซัพพลายเชนทั่วโลก ขณะที่ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยยังมีอีกมาก ทั้งการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯที่มีต่อสินค้าไทย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนส่งออกสินค้าไทยบางประเภทสูงขึ้น การบรรลุข้อตกลง FTA อียู-เวียดนาม ซึ่งจะทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบการส่งออกสินค้าไทย เนื่องจากอียูจะหันไปนำเข้าสินค้าจากเวียดนามมากขึ้น

ผู้เกี่ยวข้องจึงควรเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ไทย-อียู ไทย-อังกฤษ และเร่งลงนามอาร์เซ็ป เพื่อช่วยชดเชยการพึ่งพาตลาดหลักและกระจายความเสี่ยง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็ควรเตรียมพร้อมรับมือเพื่อหนีคู่แข่งสู่ระดับสูงขึ้น อาทิ การมุ่งสู่สินค้าเทคโนโลยีสูงและนวัตกรรมใหม่มากขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติพิเศษ การสร้างตราสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ตลอดจนการขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้น