เงิน เงิน เงิน

เงิน เงิน เงิน

เมื่อสมัยเด็กๆ ได้ยินคำขวัญของรัฐบาลสมัยนั้นเรื่องเงินว่า...งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข...รัฐบาลต้องการให้ทุกคนทำงาน

 เมื่อทำงานก็จะได้ค่าจ้างเป็นการตอบแทน แล้วก็เชื่อว่ามีเงินแล้วประชาชนก็จะมีความสุข เมื่อตอนไปเรียนหนังสือ ผมสนใจเรื่องของพฤติกรรมองค์กร (Organizational Behavior)มากที่สุด รวมทั้งเรื่องของทฤษฎีองค์กร (Organization Theory) และการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กร (Organizational Change and Development) และเมื่อกลับมาเมืองไทย ผมเริ่มสอน MBA โครงการแรกของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยสอนวิชาพฤติกรรมองค์กร

ผมชอบตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า ท่านคิดว่าเงินทำให้มนุษย์เรามีความสุขได้แค่ไหน ซึ่งคำตอบก็มีตั้งแต่ยิ่งมากยิ่งดี มีจำนวนหนึ่งมากกว่านั้นก็ไม่เพิ่มความสุข หรือแม้กระทั่งเงินไม่ได้ทำให้มีความสุข เงินซื้ออะไรไม่ได้ทุกอย่าง แต่คนเราก็ต้องการเงิน

ในทางพฤติกรรมองค์กรนั้น อธิบายว่าเงินนั้นในตัวของมันเองไม่ทำให้มนุษย์มีความสุข แต่มนุษย์มีความสุขจากการใช้เงิน แต่เมื่อมีเงินมากๆ เข้า เงินก็ไม่ใช่สิ่งที่จะบันดาลให้คนมีเงินมีความสุขเสมอไป เพราะคนมักต้องการอะไรที่นอกเหนือจากเงิน อย่างที่ Abraham Maslow อธิบายว่าถ้าดูความต้องการของมนุษย์ สิ่งแรกที่ต้องการคือสิ่งที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิตพื้นฐานที่เรียกว่าปัจจัย 4 มากสุด นอกเหนือจากนั้นก็จะต้องการสิ่งที่สูงขึ้นไป เช่น เกียรติยศ การได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งหมายถึงว่ายิ่งระดับสูงขึ้นไปเท่าใด เงินก็ซื้อไม่ได้มากขึ้นเท่านั้น

มนุษย์โดยทั่วไปนั้นยังคงเวียนว่ายอยู่กับความต้องการขั้นพื้นฐาน และในทางพฤติกรรมศาสตร์ อธิบายว่าความต้องการนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง หมายความว่าเมื่อมีเงินตามที่คาดหวังแล้วจะไม่ต้องการเงินอีกต่อไป แต่มนุษย์นั้นมีพฤติกรรมในการใช้เงินต่างจากสัตว์

สัตว์นั้นเมื่อกินอิ่มก็หยุดหาอาหาร จนเริ่มหิวใหม่ ก็หาอาหารใหม่แต่มนุษย์นั้น เมื่อมีเงินมากขึ้น ก็จะใช้จ่ายเงินมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่นเมื่อมีเงินน้อยก็หาซื้อสิ่งของที่พื้นๆ ราคาไม่แพง แต่เมื่อเริ่มมีเงินมากขึ้นก็จะซื้อหาของแบบเดียวกันแต่ราคาแพงขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าแบรนด์เนม หรือมีคุณภาพสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเงินที่ควรจะเหลือจากการมีรายได้เพิ่มขึ้นก็เลยไม่เหลือ พูดง่ายๆ ก็คือมีมากก็จ่ายมาก อันนี้เป็นไปตามทฤษฎีเงิน (Money Theory) ในทางพฤติกรรมศาสตร์ที่ต่างจากทฤษฎีเงินทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องอุปสงค์อุปทาน

ที่พูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะเช้าวันหนึ่งที่ไปประชุม อนุ กมธ.สาธารณสุข ครั้งแรกในฐานะที่ปรึกษา ได้รับทราบว่าการทำงานในหน้าที่นี้จะไม่มีค่าตอบแทนใดๆ แม้แต่เบี้ยประชุม ทุกอย่างเราต้องใช้เงินจากกระเป๋าตัวเอง ไม่ว่าจะไปประชุมที่ไหน นอกหรือในสถานที่

ในขณะตอนเย็นได้พบกับเพื่อนๆ สมัยเรียนหนังสือด้วยกัน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก็คุยกันเรื่องเงินหรือค่าตอบแทน เลยรู้ว่าค่าตอบแทนที่ปรึกษาของผู้บริหารสถาบันการเงินนี้สูงมากกว่าที่คิด ที่ปรึกษาผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนเกินเดือนละล้านเป็นเรื่องปกติ แต่ที่มากกว่านั้นคือเงินพิเศษ หรือที่เรียกว่าโบนัสนั้นพุ่งขึ้นระดับ 100-200 ล้านบาทเลย แล้วก็คุยกันว่าผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินหนึ่งที่เพื่อนเข้าไปเป็นกรรมการบอร์ดได้รับโบนัส 200 ล้านบาท ทางผู้ถือหุ้นใหญ่พยายามจะจำกัดเพดานที่ 200 ล้านบาทต่อปี แต่ตกลงกันไม่ได้ ก็เลยลาออกไป

เรื่องของเงินคงยากที่จะบอกว่าเท่าไรถึงจะพอ เท่าไรมากเกินไป เท่าไรน้อยเกินไปเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมเองสนใจทำงานให้กับบ้านเมือง ไม่ได้คาดหวังจะเงินเดือนค่าจ้างมากมายแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะไม่ต้องให้ความสนใจ เพราะถ้าให้ทำแต่งานแต่ไม่มีค่าตอบแทน รวมทั้งไม่มีสิทธิที่จะทำงานลงพื้นที่ พบปะประชาชน เพราะไม่มีงบประมาณให้ในขณะที่คนอื่นมีค่าตอบแทน หรือมีงินเดือนเป็นแสนๆ ก็เป็นเรื่องน่าคิด