สิทธิในอากาศสะอาด

สิทธิในอากาศสะอาด

ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวลดลง ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร สุขภาพของลูกจ้าง และปริมาณการบริโภคโดยรวมที่ลดลง โดยรายงานของ OECD ระบุว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสร้างมูลค่าความเสียหายทั่วโลกสูงถึงสามล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี

บางครั้งการเคลื่อนไหวในภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหานี้ก็อาจจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2560 องค์กรการกุศลด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ชื่อว่าClient Earth ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลอังกฤษว่าแผนการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศที่รัฐบาลได้จัดทำไม่เพียงพอที่จะใช้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งต่อมาศาล High Court ของอังกฤษเองก็เห็นด้วยกับ Client Earth โดยตัดสินว่า แผนการแก้ไขคุณภาพอากาศไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะปฏิบัติตามคำสั่งของสหภาพยุโรปว่าด้วยคุณภาพอากาศ (Directive 2008/50/EC)รวมถึงไม่มีรายละเอียดเรื่องกำหนดระยะเวลาของการปฏิบัติตามแผนประมาณการคุณภาพอากาศภายหลังการปรับปรุงตามแผน และประมาณการระยะเวลาที่จะปฏิบัติตามแผนให้แล้วเสร็จ จึงได้สั่งให้มีการแก้ไขแผนดังกล่าว

นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีที่ประชาชนที่อยู่อาศัยในจาการ์ต้ายื่นฟ้องรัฐบาลอินโดนิเซียเมื่อกลางปีที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งหลังจากที่ประชาชนได้พยายามใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อกดดันรัฐบาลแต่ไม่สำเร็จ โดยประชาชนผู้ฟ้องคดีได้กล่าวว่าการนิ่งเฉยของรัฐบาลถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งเพราะรัฐบาลเองก็ทราบดีว่ามลพิษทางอากาศอาจส่งผลต่อชีวิตของประชาชนได้แต่ก็ยังละเลยไม่แก้ไข ก่อนหน้านี้ประชาชนในกรุงปักกิ่งก็มีการฟ้องคดีต่อรัฐบาลของตนในทำนองเดียวกัน

สำหรับประเทศไทยเองนั้น กฎหมายก็เปิดช่องให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่ รวมถึงเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าวล่าช้าได้(มาตรา 9(3) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) แต่ก่อนที่จะฟ้องคดีได้นั้นผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวดำเนินการแก้ไขเสียก่อน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา คงเหลือแต่จะต้องเฝ้าติดตามต่อไปว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และหากดำเนินการไปแล้วไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจไว้ จะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไรต่อไป

พบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ]

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

Purita.Thanachoksopon@allenovery.com