เสียงสะท้อนจุดอ่อนจุดแข็ง “วิกฤตโคราช”

เสียงสะท้อนจุดอ่อนจุดแข็ง  “วิกฤตโคราช”

ต้องเรียนว่าผมต้องเขียนบทความชิ้นนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะในสถานการณ์ที่อ่อนไหว ในเวลาที่สังคมกำลังตื่นตระหนกเช่นนี้

แม้ผมจะเรียกตนเองว่าเป็น “นักอาชญาวิทยา” ได้เต็มปากเต็มคำ ด้วยร่ำเรียนถึงปริญญาเอกมาโดยตรง แต่เมื่อคำนึงถึงจริยธรรมทางวิชาการ ได้ตัดสินใจงดการให้ความเห็นในวันแรกที่เกิดปัญหาขึ้น เพราะเมื่อติดตามข่าวสารการนำเสนอของสื่อทำให้ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นจะถูกต้องหรืออาจยิ่งไปสร้างความสับสนในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ 

บังเอิญด้วยการมีกลุ่มสนทนาที่มากด้วยผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ จึงค่อยๆ แกะรอยหารือพูดคุยกันภายในกลุ่ม กระทั่งชัดเจนและมั่นใจแล้ว จึงมาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวแห่งหนึ่งในภายหลัง ซึ่งเสียงสะท้อนทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผสมผสานมาจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งการตั้งคำถาม ข้อเสนอแนะและข้อทักท้วงอันอาจจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเผชิญหน้ารับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

มีคำถามเกิดขึ้นว่าผู้ร้ายมีการเตรียมการหรือไม่ จากการวิเคราะห์แล้วเชื่อว่าไม่ใช่เหตุซึ่งหน้า มีการตระเตรียมวางแผนการมาค่อนข้างรัดกุม อย่างน้อยที่สุดก็อาจเชื่อได้ว่า “หากวันนี้ไม่ได้เงิน ฉันจะฆ่าให้โลกจดจำ” เพราะเป้าหมายเมื่อมีการสังหารผู้บังคับบัญชากับญาติของพันเอกนายนั้นแล้ว ปรากฏคลิปของพระภิกษุที่เปิดเผยในเวลาต่อมาก่อนการมุ่งหน้าไปยึดห้างสรรพสินค้า ที่เห็นถึงความอำมหิตในการสังหารเหยื่อ ตั้งแต่เด็กนักเรียนและคนขับรถผ่านมาที่ไม่เกี่ยวข้องและเชื่อได้ว่าไม่รู้เห็นหรือจะเข้าไปจับกุมคนร้าย แต่กรณีตำรวจที่พระภิกษุโทรศัพท์แจ้งไป และมีรถสายตรวจมาระงับเหตุอีก 2 นาย เมื่อชมคลิปการให้สัมภาษณ์ของพระภิกษุมีการกล่าวว่า ผู้ร้ายได้เตรียมดักซุ่มยิงทันทีที่ตำรวจลงมาจากรถ แม้คนร้ายจะมีการโพสต์ในเฟสบุ๊คในเวลาต่อมาว่า ที่ทำไปเพื่อป้องกันตัวเอง แต่พฤติกรรมบ่งชี้ว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะปรากฏคลิปการให้สัมภาษณ์ของผู้หลบซ่อนในเวลาต่อมาว่า ได้ยินเสียงเพลงน่าจะมาจากโทรศัพท์ของคนร้ายเดินผ่านไปในระยะเวลาที่ถูกกดดัน ถ้าจะบอกว่าคนร้ายอยู่ภายใต้ฤทธิ์ยาหรือสารเสพติดก็ต้องพิสูจน์แต่ไม่น่าจะออกฤทธิ์นานผ่านเป็นสิบชั่วโมง และภายหลังยังมีภาพคนร้ายออกมาถือปืนเล็งอย่างระแวดระวังตามยุทธวิธีของมืออาชีพ อันจะเห็นได้ว่าเขาไม่มีทีท่าใดๆ ที่จะยอมจำนนและพร้อมจะสู้แบบเข้าแลก

บทเรียนที่น่าจะเป็นอุทธาหรณ์สำคัญในกรณีนี้ คือ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมของเรา ตำรวจแม้จะไม่ได้รับแจ้งว่าคนร้ายมีอาวุธร้ายแรงหรือไม่ การประเมินสถานการณ์ที่มีรายงานถึงการฆ่าคนตายต่อเนื่อง และเจ้าหน้าที่มิได้ถูกฝึกมารับกับเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะมิใช่อาชญากรรมปกติทั่วไป ถึงกระนั้นกรณีดังกล่าวย่อมไม่อาจโทษฝ่ายหนึ่งฝายใดได้ด้วยเกิดจากความมุ่งร้ายของผู้ก่อเหตุ จึงมองว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย

แต่กลายเป็นกรณี “ดรามา” หนักขึ้นไปอีก เมื่อมีภาพทางสื่อปรากฏให้เห็นการไปนำตัวมารดาของผู้ร้ายเพื่อมาทำการเจรจา ในสภาพที่เหมือนกับช๊อคในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการร่ำไห้อย่างน่าเวทนา เรียกความเห็นใจกลับมาทางฝ่ายผู้ก่อเหตุได้ในขั้นหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่อาจตำหนิผู้ที่มีเจตนาดีแต่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเรื่องเช่นนี้ หากไม่บอกสื่อก็คงไม่มีสื่อใดจะรู้เท่าทันขนาดตามไปเก็บภาพได้ แต่หากการประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำ ย่อมมองเห็นชัดว่า มิใช่การก่อเหตุลักษณะ การพยายามฆ่าตัวตาย หรือการต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงานในเหตุอุกฉกรรจ์ธรรมดา การเกลี้ยกล่อมน่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เว้นแต่จะใช้เป็นยุทธวิธีในการหน่วงเหนี่ยวเวลาในขณะที่คนร้ายอ่อนล้าหรือมีแนวโน้มจะยอมจำนน

ปรากฎการณ์ตรงนี้มีคนนำไปเปรียบเทียบกับ 2 เหตุการณ์ความรุนแรงที่เป็นการกราดยิงคนไม่เลือกหน้า ทั้งที่สหรัฐ กรณีเมือง “โคลอมไบน์” เมื่อปี 1999 และเหตุการณ์สังหารชาวมุสลิมในสุเหร่าหลายสิบชีวิตในนิวซีแลนด์ พร้อมมีการไลฟ์สดในทุกขั้นตอนของการดำเนินการ แต่ก็ยังมีคนที่ยังไม่ลืมวิกฤตการณ์ยึดตัวประกันชาวรัสเซีย ในโรงละครแห่งชาติ กลางกรุงมอสโคว์ กับการจับตัวประกันที่เป็นเด็กเล็กในรัสเซียของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย ซึ่งประธานาธิบดีปูติน ในขณะนั้น ใช้นโยบายแข็งกร้าวเป็นที่รู้กันดีว่า “หากเป็นการก่อการ้าย สิ่งที่รัฐจะหยิบยื่นให้คือความตาย” ซึ่งนับแต่นั้นมา การก่อการร้ายในลักษณะเช่นว่านี้ไม่เกิดขึ้นอีกเลย แม้กระทั่งเมื่อมีการผนวกบางส่วนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียก็ไม่มีการต่อต้านใดๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ประเมินสถานการณ์ของผู้บังคับบัญชาให้ถูกต้อง แม่นยำว่า หากเป็นการก่อการร้ายแล้ว “การเจรจา” อาจเป็นสิ่งที่มักเป็นทางเลือกสุดท้ายด้วยความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งจากการมีตัวประกันหรือการเตรียมก่อวินาศกรรมที่อาจเป็นเงื่อนไขต่อรองของคนร้าย มิฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องปฎิบัติ คือ “การดำเนินการกับผู้ก่อการร้าย ด้วยความรวดเร็ว และเฉียบขาด

ประเด็นปัญหาที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากอีกเรื่อง คือ ข้อกล่าวหาว่า “โซเชียลมีเดียเป็นพิษภัยร้ายแรง” หรือไม่ เรื่องนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า “ดาบมีสองคม เหรียญมีสองด้าน” ขึ้นกับการเลือกใช้ จะเห็นว่าทั้งคนร้ายและฝ่ายที่ต่อสู้กับคนร้าย ล้วนใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในการสร้างความได้เปรียบให้กับตนเอง แต่ภาพเหตุการณ์ที่สื่อนำเสนอและเผยแพร่หลายภาพ เป็นประจักษ์พยานสะท้อนความน่ายกย่องและล่อแหลมในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจมีผู้ไม่หวังดีนำไปบิดเบือนได้ ดังเช่น ภาพที่หลายสื่อนำมาเผยแพร่เมื่อมีการกดดันคนร้ายกระทั่งเข้าไปหลบซ่อนอยู่ที่ชั้น LG อันเป็นที่มาของการสูญเสียนายตำรวจเพิ่มอีก 2 นาย ได้ปรากฎภาพการยิงมุมสูงกดลงมาที่พื้นด้านล่าง พร้อมเสียงปืนดังรัวอย่างสนั่นหวั่นไหว มีการอ้างว่าอาจเป็นฉากสุดท้ายก่อนที่ผู้ร้ายจะถูกวิสามัญ แต่เมื่อหน่วยชันสูตรได้เข้าไปในห้องเย็นที่โดรนบินค้นพบ ปรากฏคลิปอีกชุดหนึ่งมีภาพเด็กหญิงเสียชีวิต พร้อมด้วยหญิงสาวและบุคคลอื่นภายในห้องรวมทั้ง ผู้ร้ายเป็นจำนวน 4 ราย ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นโดยไม่มีความต้องการจับผิดฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ญาติผู้ตายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งสังคมอาจมีการตั้งคำถามได้ว่า บุคคลเหล่านั้นเสียชีวิตก่อนหรือหลังการจู่โจมหรือระดมยิงในครั้งสุดท้าย เพราะภาพถ่ายจากโดรนที่ถ่ายทอดมานั้น ชัดเจนว่าในเวลาก่อนการวิสามัญคนร้าย ภาพที่จับความร้อนได้ไม่ปรากฏผู้ใดให้เห็นเว้นแต่มีการปิดไฟในห้องเย็น ที่อาจเป็นความฉลาดของคนร้ายที่เฝ้าติดตามโซเชียลมีเดียจึงรู้ว่ามีการใช้อากาศยานไร้คนขับติดตามตนเอง แต่ในเวลานั้นไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลผู้บริสุทธิ์ ทั้ง 3 รายนั้นอาจเสียชีวิตไปแล้วหรือไม่ 

สิ่งที่จะทำให้เกิดความกระจ่าง คือ ร่องรอยวิถีกระสุนลักษณะบาดแผลประเภทอาวุธที่เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายย่อมเป็นประจักษ์พยานที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ นี่คือเหตุผลที่การปฎิบัติหน้าที่ของมืออาชีพจึงต้องสวมใส่หน้ากากปิดบังอำพรางและไม่มีใครเปิดเผยใบหน้าหรือตัวตนให้สาธารณะรู้ว่าใครเป็นพลแม่นปืน ต่างจากภาพที่เห็นที่มีการเปิดเผยว่าเป็นใครต่อใครโดยสื่อหลายแขนงต่อเนื่อง อันสุ่มเสี่ยงต่อผลทางจิตวิทยาหากมีข้อผิดพลาด และที่ได้สนทนากับผู้มีประสบการณ์ก็ได้มีความเห็นเพิ่มอีกว่า การระดมยิงเช่นนั้นจะต้องแน่ใจแล้วว่า ไม่มีเหยื่อรายอื่นๆ เหลืออยู่ พึงเป็นหน้าที่ของหน่วยที่ฝึกปรือมาเฉพาะภารกิจจู่โจมระยะประชิดที่มีหน้าที่เข้าไปเด็ดชีพโดยตรง ซึ่งจะมีความแม่นยำมากกว่า และจะไม่ผิดพลาดกลายเป็น friendly fire หรือการยิงพลาดเป้าทั้งโดนเหยื่อหรือโดนพวกเดียวกันเองโดยมิได้ตั้งใจ