คนใช้ไม่ได้หาเงิน คนหาเงินไม่ได้ใช้

คนใช้ไม่ได้หาเงิน คนหาเงินไม่ได้ใช้

เมื่อครั้งที่ประชุม กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ได้พูดกันถึงเรื่องอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในระบบสาธารณสุข

พอเข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็เลยเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือพิมพ์ 2 - 3 ฉบับมีข่าวว่า รัฐบาลกำลังจัดระบบข้าราชการใหม่ โดยมีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( กพ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ( กพร.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ร่วมกันพิจารณายกเลิกระบบข้าราชการ แล้วเสนอรูปแบบพนักงานของรัฐหลากหลายรูปแบบพร้อมทั้งกำหนดให้ประมาณ 36 อาชีพราชการสามารถขยายระยะเวลาทำงานหลังอายุครบ 60 ปี ทั้งในรูปแบบผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และพนักงานอาวุโส

สำหรับระบบสาธารณสุขนั้น ดูเหมือนจะยังมีความต้องการเกือบจะทุกวิชาชีพ ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในระบบสาธารณสุขจึงยังเป็นที่ต้องการแม้ว่าจะเกษียณอายุ แต่ก็ขึ้นอยู่สมรรถนะเฉพาะด้าน สมรรถภาพเฉพาะแต่ละคนซึ่งต้องพิจารณาเป็นช่วงๆ ไปจึงเชื่อว่า แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลจะลดจำนวนข้าราชการในระบบสาธารณสุข แต่ก็คงไปเพิ่มในสถานะอื่นๆ ไม่ใช่หายไปจากระบบ

วันก่อน ขับรถไปส่งลูกที่สนามบินสุวรรณภูมิ ลูกเป็นอาจารย์แพทย์มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เพราะแม้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ก็ออกนอกระบบไปแล้ว จะไปประชุมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ต่างประเทศเลยถือโอกาสถามหลายเรื่องที่ปกติไม่ค่อยได้คุยกัน เพราะลูกไม่อยู่บ้าน จะกลับมาเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ถามว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังจะลดข้าราชการ ซึ่งในปีหน้านี้จะไม่รับบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์เป็นข้าราชการ และเชื่อว่าต่อไปก็คงขยายไปสาขาวิชาชีพอื่นไม่ว่าแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เรื่องนี้เพื่อนๆ แพทย์รุ่นลูกเขาคุยกันบ้างไหมลูกบอกว่า ก็คุยกันว่าน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะตอนนี้ดูเหมือนแพทย์รุ่นใหม่ก็ไม่อยากเป็นข้าราชการเท่าไร ยิ่งไม่ต้องมีการรับทุนใช้ทุนก็ยิ่งมีอิสระมากขึ้น ถือเป็นเรื่องดีสำหรับนักเรียนแพทย์รุ่นใหม่ๆ

ถามว่าพวกเพื่อนๆ ที่เป็นแพทย์ใช้ทุนไปทำงานโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศนั้น มีความพึงพอใจในการทำงานและรายได้แค่ไหนลูกบอกว่า เห็นคุยกันว่ามีรายได้ประมาณเดือนละเกือบแสนบาท แต่ก็ดูเหมือนว่ายังอยากออกจากราชการ เพราะค่าตอบแทนภาคเอกชนสูงกว่า 2 - 3 เท่า แต่ละคนมีเป้าหมายของตัวเองที่แตกต่างกันฟังแล้วก็คิดต่อว่า ขนาดเรามีแพทย์ใช้ทุนประคับประคองรักษาระดับจำนวนแพทย์ในปัจจุบัน เรายังขาดแคลนแพทย์ขนาดนี้ ถ้าเราไม่มีแพทย์ใช้ทุนเลย จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขภาครัฐ

วันก่อน คุณหมอท่านหนึ่งที่เป็นที่ปรึกษา กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ด้วยกันบอกว่า ตอนนี้กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีเงินลงทุนระดับแสนล้านบาทกำลังรุกตลาดสุขภาพในทุกรูปแบบ โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ผุดขึ้นทั่วไป อย่างน้อยก็ระดับ 400-500 เตียง ลูกค้านั้นไม่ต้องหา เพราะแค่ลูกจ้างพนักงานของกลุ่มบริษัทก็มีเป็นแสนๆคนอยู่แล้ว เป็นเรื่องอัฐยายขนมยายเงินทองไม่กระเด็นออกนอกกระเป๋า ไม่ต้องจ่ายให้ใคร ทำงานกับบริษัทเจ็บป่วยรักษากับสถานพยาบาลของบริษัท เงินทองไม่รั่วไหล

ระบบประกันสังคมเดี๋ยวนี้ก็เพิ่มเงินค่าบริการต่อหัวให้สถานพยาบาลคู่สัญญามากขึ้น แค่รับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็อยู่ได้แล้ว ยิ่งมีผู้เอาประกันมาใช้มากต้นทุนเฉลี่ยก็ลดลงสำนักงานประกันสังคมประกาศว่ามีผู้ประกันตนในระบบเพิ่มจาก 13 ล้านคนเป็น 16 ล้านคนแล้ว จากการเปิดรับผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ที่เคยอยู่ในระบบมาก่อนกลับเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ๆ

ที่พูดๆ มานี้ เพียงเล่าสู่กันฟังว่าคนรุ่นใหม่เขาก็ไม่อยากเป็นข้าราชการกันสักเท่าไร ค่าตอบแทนจากการทำงานราชการเมื่อเทียบกับภาคเอกชนก็น้อยกว่ามาก ไม่มีอะไรที่เป็น incentive จูงใจให้อยู่กับราชการสักเท่าไรในขณะที่เราต้องการบุคคลากรทางการแพทย์มากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เต็มไปด้วยอาการเจ็บป่วยตามวัยและเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน ช่วยตัวเองไม่ได้ด้วย

อ้อ...ที่จั่วหัวข้อ คนใช้เงินไม่ได้หาเงิน คนหาเงินไม่ได้ใช้เงินนั้นที่จริงเป็นเรื่องในครอบครัว เพราะคุณลูกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมีเงินเดือน 20,000 บาทบวกค่าวิชาชีพ 5,000 บาท หักภาษีและค่าหอพักแพทย์เดือนละ 12,000 บาท เหลือเงินติดกระเป๋าเดือนละหมื่นบาทไอ้ที่รูดปรื๊ดๆๆ นั้น ก็เลยเป็นธุระของคุณพ่อ แต่เพียงผู้เดียวถ้าเป็นแพทย์ใช้ทุน หาเงินได้เดือนละเป็นแสนเหมือนคนอื่นๆ ก็คงไม่กระทบกระเป๋าพ่อเกิดเป็นพ่อแล้ว เป็นแล้วเป็นเลย เลิกไม่ได้เสียด้วยเท่านั้นเอง