การเติมน้ำใต้ดิน ใช่ว่าจะทำที่ไหนก็ได้ (2)

การเติมน้ำใต้ดิน ใช่ว่าจะทำที่ไหนก็ได้ (2)

เมื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมามากจะด้วยความจำเป็นของพื้นที่ขาดน้ำอุปโภคบริโภค หรือเพราะภัยแล้ง การจัดการเติมน้ำใต้ดิน (Managed Aquifer Recharge)

การจัดการเติมน้ำใต้ดิน (Managed Aquifer Recharge, MAR) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ แต่ปัญหาคือควรทำวิธีไหน และจุดจุดไหนกันจึงจะเหมาะสม

น้ำประปาในกรุงเทพฯ ใช้น้ำจากผิวดิน แต่ในอุตสาหกรรมบางประเภทก็ใช้น้ำบาดาล ดร.โพยม บอกว่า "น้ำบาดาลในกรุงเทพฯ จะเค็มเป็นชั้นๆ ไม่ได้เค็มทุกชั้น ส่วนใหญ่จะเค็มชั้นบนข้างล่างจืด การเจาะบ่อบาดาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพราะต้องผ่านชั้นบนไปให้ถึงชั้นน้ำจืดและต้องเติมน้ำให้พอดีกับที่เราใช้ ไม่เช่นนั้นน้ำเค็มจากน้ำทะเลจะเข้ามาได้ เหมือนน้ำที่ปากแม่น้ำ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งเฝ้าระวังอยู่แจ้งว่าทั้งระดับน้ำทะเลและความเค็มยังเป็นปกติ แต่มีความแปรปรวนอันเนื่องจากน้ำในแผ่นดินเป็นหลัก นั่นคือน้ำทะเลเหมือนเดิม แต่น้ำที่ไหลลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยาถ้ามีน้อย ความเค็มก็จะรุกเข้ามาได้มาก

เช่นเดียวกับดินเค็มในภาคอีสานเป็นดินเค็มในพื้นที่เกษตรกรรม มีความเค็มหลายระดับ เค็มน้อย เค็มปานกลาง และเค็มมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีระดับความเค็มน้อย เราจึงพยายามจัดการพื้นที่ดินเค็มน้อย ควบคุมไม่ให้ขยายตัว และปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมตามศักยภาพ เช่น ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งชอบดินเค็มนิดๆ ฉะนั้นในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.สุรินทร์ หรือเขตใกล้เคียงก็ใช้ประโยชน์ได้ แต่อาจจะได้ข้าวไม่มากเช่นที่อื่น หรือในพื้นที่ดินเค็มจัดก็ส่งเสริมการเลี้ยงปลาที่ชอบน้ำกร่อย ปลูกพืชอินทรีย์ หรือสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น

ฝนตกลงมา น้ำใต้ดินไหลเอาเกลือเหล่านี้ไปแพร่กระจาย และปัญหาที่สูบใช้น้ำใต้ดินเค็มมาทำเกลือมากก็ทำให้เกิดหลุมยุบจากกระบวนการเอาเกลือขึ้นมาทำนาเกลือ หรือ Solution Mining ก็คือเอาน้ำไปละลายเกลือและสูบขึ้นมาใช้ จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าถ้าเราบริหารจัดการดีๆ ควบคุมระดับน้ำใต้ดินได้ก็สามารถควบคุมการแพร่กระจายความเค็มได้ด้วย แต่ปัญหาที่กังวลคือเรื่องการเติมน้ำใต้ดิน

ในเมื่อเราเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรพยายามที่จะไม่ให้มันเกิดเพิ่มขึ้นอีกหรือแพร่กระจายมากขึ้น เพราะถ้าเราสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากๆ จะเกิดการแทรกตัวของน้ำเค็มได้ สิ่งที่ควรทำคือจัดการให้มีการเติมน้ำใต้ดินที่เรียกว่า Managed Aquifer Recharge หรือ MAR ให้เท่าๆ กับที่เราใช้ โดยหลักการคือ เราใช้เท่าไร เราควรจะเติมเท่านั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำของพื้นที่ แต่ต้องเข้าใจเรื่องชั้นดินชั้นหิน คุณภาพน้ำ และระบบการไหลด้วยว่า เติมแล้วจะไปเกิดผลกระทบกับพื้นที่คนอื่นหรือไม่ ระบบจะยั่งยืนหรือไม่และการดูแลรักษาระบบอย่างไร เป็นเรื่องนี้ต้องมีหน่วยงานลงไปกำกับดูแล เราต้องวางแผนการเติมน้ำทั่วประเทศ

การเติมน้ำใต้ดินเป็นเรื่องที่ทุกๆ ประเทศทั่วโลกทำกัน ทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนีอินเดีย จีน แต่จะมีการวางแผนแม่บทการเติมน้ำใต้ดิน มีคู่มือที่เป็นมาตรฐาน และมีหน่วยงานกำกับดูแลติดตามเพื่อป้องกันปัญหาด้านคุณภาพน้ำที่จะตามมา เพราะเรื่องนี้เป็นการบูรณาการการจัดการน้ำผิวดิน-ใต้ดิน และช่วยแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มได้เป็นอย่างดี แต่ก็เปรียบเสมือนยาแรง กินผิดวิธีแทนที่จะหายป่วยก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายแทนได้

นอกจากนี้ยังต้องเป็นการบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาลที่เรียกว่า Well Field การวางตำแหน่งบ่อบาดาลต้องไม่แย่งน้ำกัน คือบางแห่งบ่อเดียวพอดีอยู่แล้ว ถ้าจะเจาะอีกบ่อควรจะเป็นตรงไหน ห่างกันเท่าใด จึงไม่เกิดการทำให้ความเค็มถูกดึงขึ้นมาจากระดับลึกลงไป เรื่องนี้ในประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายกำกับไว้ชัดเจน ฉะนั้น ฐานข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลเหล่านี้ต้องมีความแม่นยำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเกลือหินรองรับอยู่ด้านล่าง ความรู้และเทคโนโลยีซึ่งหน่วยงานของไทยทำได้ แต่ระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญตรงนี้”

โดย... สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)