7 วันนี้จะไม่อันตรายอีกต่อไป

7 วันนี้จะไม่อันตรายอีกต่อไป

ทราบว่าเคยมีความคิดของหลายฝ่ายจะหนุนให้เลิกการตั้งเป้า 7 วันอันตราย ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างที่คนบางคนในระบบราชการ "ช่างแยบยล"

เมื่อไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรก็ยกเลิกกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นปัญหานั้น เมื่อใดไม่มีกฎกติการะเบียบบ่งชี้ไว้ ทุกอย่างก็ดูจะง่ายขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่รัฐบาลยกเลิกบางรายการของการกระทำที่ผิดกฎหมายให้เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ทั้งการพนัน ยาเสพติด หรือแม้แต่เรื่องที่ผมเคยตำหนิการปล่อยปละละเลยให้รถราที่วิ่งผ่านโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทาง ถ.พระรามที่ 4 แล้วมีผู้ขับขี่เห็นแก่ตัว ขับรถเข้าไปบดบังรถที่เลี้ยวซ้ายผ่านตลอดมุ่งไปทาง ถ.ราชดำริ ซึ่งบางทีอาจมีรถพยาบาลที่ต้องนำส่งผู้ป่วยเร่งด่วนไปรับการรักษา

ผมเขียนผ่านคอลัมน์นี้แล้วเหมือนจะได้ผลอาจไปสะกิดต่อมสำนึกแห่งความละอายของคนที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง เขาจึงหาทางแก้ปัญหาอย่างนึกไม่ถึง คือไม่ทราบเป็นอำนาจหน้าที่ของ "กรุงเทพมหานคร" หรือหน่วยราชการใดบูรณาการการแก้ปัญหาด้วยการไปเปลี่ยนป้าย "เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด" ให้เป็นข้อความใหม่ว่า "เลี้ยวซ้ายรอสัญญาณไฟ" รถราจึงยังแออัดยัดเยียดกันหน้าโรงพยาบาลเหมือนเดิม แต่ไม่มีใครเคอะเขินเพราะถึงอยู่ซ้ายสุดก็ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

ไม่ต่างกับถนนบางเส้นที่ตีเส้นตารางหน้าบริษัทห้างร้านเอกชนอย่างถี่ยิบ ซึ่งทำให้เสียพื้นที่จราจรไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มีรถเข้าออกหน้าอาคารไม่กี่คันหรือไม่มีเลย

ผมจึงไม่อยากเห็นแนวคิดการแก้ปัญหาแบบนี้มาเกิดกับมาตรการที่ดีอยู่แล้ว แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์แต่ถ้าแก้ปัญหาได้จริงก็จะลดปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาได้อีกมาก ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศชัดเจนว่า ในช่วง 7 วันอันตรายความสูญเสียชีวิตของคนใช้รถใช้ถนนต้องเป็นศูนย์ และให้คงมาตรการนี้ไปตลอดทั้งปีไม่เพียงเฉพาะ 7 วันช่วงเทศกาลเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและพึงกระทำมานานแล้ว โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนไปพร้อมๆ กัน

ปัญหาเหล่านี้ผมจำได้ว่าพูดหรือเขียนให้ได้อ่านกันมาหลายครั้งว่า ปัญหาอุบัติภัยทางถนนเป็น "เรื่องป้องกันได้" และเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นเพราะ "ความผิดพลาดของมนุษย์" มากกว่าปัญหาเครื่องยนต์กลไก ซึ่งปัญหาเครื่องยนต์กลไกหลายครั้ง ก็มาจากความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสภาพความพร้อมของรถราที่ขับขี่ของมนุษย์นั่นเอง หากจะสรุปปัญหาทั้งมวลคงต้องนำเอาสาเหตุที่ผมเคยรวบรวมจากการทำการประเมินผลการป้องกันอุบัติภัยทางถนนแบบบูรณาการที่ทำงานวิจัยให้กับ สสส.เมื่อหลายปีก่อนมาย้ำเน้นได้ดังนี้

ประการแรก การเปิดไฟหน้ารถและให้สัญญาณไฟทุกครั้งเมื่อจะมีการหักเลี้ยว หรือกระทำการใดที่อาจเกิดอันตรายกับเพื่อนร่วมทางเพื่อบอกหรือส่งสัญญาณให้ได้รับรู้เป็นการล่วงหน้า ผมพบว่าปัญหาเหล่านี้หากถือปฏิบัติกันแล้วจะช่วยลดอุบัติภัยได้อย่างน้อยๆ ครึ่งหนึ่ง เพราะเคยเห็นรถที่ขับในลานจอดรถด้วยความประมาท เช่น ใช้ความเร็วเกินปกติ หรือมีทัศนวิสัยไม่มากพอ แต่หากเปิดไฟหน้ารถให้ได้เห็นกัน จะทำให้การมองเห็นซึ่งกันและกันขณะขับขี่เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น

ประการที่สอง เมื่อพูดถึงทัศนวิสัย ก็ต้องย้อนกลับมาเรื่องเดิม คือการใช้ฟิล์มกรองแสงที่หนาทึบเกินจำเป็น เข้าใจดีว่าในเวลานี้กฎหมายยังไม่บังคับเอาผิดกับรถที่ติดฟิล์มดำ เพราะรถของผู้มีฐานะตำแหน่ง หรืออยากทำตัวเป็นผู้มีฐานะตำแหน่งมักคิดทึกทักเองว่าการใช้ฟิล์มทึบจะทำให้สะท้อนความเป็น "วีไอพี"

แต่ในทางการป้องกันอุบัติภัยมองว่า ยิ่งฟิล์มทึบแสงมากเท่าใดจะยิ่งทำให้เกิดการ "ยั่วยุ" ให้เกิดอุบัติภัยสูงมากขึ้น ด้วยเหตุที่คนซึ่งอยู่ในรถหรือขับขี่พาหนะที่มีฟิล์มดำจะเชื่อตามหลักสังคมจิตวิทยาว่าตนเองอยู่ภายในโลกส่วนตัว ดังนั้นหากจะก่อกรรมทำเข็ญประการใดก็ไม่น่าจะมีใครรู้หรือพบเห็นตัวตนที่แท้จริงของตนเองได้ การวิวาทอันเนื่องมาจากการใช้รถใช้ถนนส่วนหนึ่งมาจากปัญหาฟิล์มดำนี้ไม่น้อย

ล่าสุดเมื่อวันคริสต์มาสบริเวณแยก ถ.เกียกกาย หน้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร เพิ่งเห็นรถกระบะคันหนึ่งติดฟิล์มดำขับชนรถจักรยานยนต์คิดหลบหนี วิ่งฝ่ามาประจันหน้ากับรถคันอื่นๆ ในเลนที่ขับสวนมาแบบไม่นึกเกรงกลัวกฎหมายหรืออันตราย คาดว่าเจ้าหน้าที่คงจับกุมตัวไปดำเนินคดีแล้ว

ประการที่สาม การขับขี่บนไหล่ทาง หรือการเปิดเลนพิเศษเป็นสิ่งที่นำไปสู่อันตรายของเพื่อนร่วมทางมานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบนทางด่วน จุดวิกฤติบริเวณจุดแยกท่าเรือคลองเตยไปถึง ถ.อาจณรงค์ ไม่ว่าจะขับมาเวลาใด อาจมีเฉพาะตีสามตีสี่เท่านั้นที่รถไม่ติด เหตุผลของความคับคั่งของการจราจรล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัวของคนขับรถราที่อาศัยช่องไหล่ทางเป็นช่องทางพิเศษมาแทรกหรือปาดซ้ายขวาเพื่อชิงความได้เปรียบ

ผู้ปฏิบัติหน้าที่คงเอือมระอาหรืออาจเกรงจะถูกตำหนิจากผู้มีตำแหน่งแห่งที่ซึ่งอาศัยเส้นทางในการสัญจร ไม่อยากตอแย ก็เร่งระบายรถ แต่เท่าที่ประเมินดูแล้ว หากรถทุกคันขับต่อกันเป็นแถวเป็นแนว ไม่ต้องมาแทรกแซงหรือเบียดเสียดบริเวณไหล่ทาง การระบายรถจะง่ายขึ้น สิ่งที่ทำได้เวลานี้คือการสลับให้รถที่วิ่งมาตัดกันตรงทางร่วมทางแยกผลัดกันวิ่งเป็นช่วงๆ

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างเล็กน้อยไม่กี่ตัวอย่างที่หากลงมือทำกันวันนี้ 7 วันจากนี้ไปจะไม่เป็น 7 วันที่อันตรายอีกต่อไป