เศรษฐกิจสร้างสรรค์:จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ(3)

เศรษฐกิจสร้างสรรค์:จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ(3)

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กระแสความนิยมเกาหลี(K-wave) ได้เข้ามาในประเทศไทยและยังคงไม่มีวี่แววที่จะแผ่วลงในอนาคตอันใกล้

จากจุดเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมบันเทิงได้ขยายตัวไปยังอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องสำอางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก่อให้เกิดเม็ดเงินไหลเข้าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความบังเอิญ แต่เกิดจากการมองอนาคตไปพร้อมๆ กับการนำจุดแข็งของประเทศมากำหนดนโยบายและทำการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเกาหลีใต้ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเงินปี 2540 โดยเริ่มจากการจำกัดจำนวนภาพยนตร์ต่างชาติเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมและกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีใต้อย่างจริงจัง มีการยกร่างกฎหมายขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง การจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลี อาทิ การจัดตั้ง Korea Culture and Content Agency (KOCCA) ขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการถ่ายทอดเนื้อหาความเป็นเกาหลีสู่สากล รวมถึงให้เงินกู้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม และการจัดตั้ง Korea Institute of Design Promotion (KIDP)เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ

ช่วงหลังวิกฤตการเงินเอเชียในปี 2540 รัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องหาเครื่องยนต์ใหม่มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจในระยะยาว การส่งออกวัฒนธรรมในรูปแบบของอุตสาหกรรมบันเทิงผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์จึงทวีความจริงจังมากขึ้น รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬามาเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อทำหน้าที่ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงมีการให้เงินสนับสนุนการผลิตผลงานที่น่าสนใจ

รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้กลยุทธ์การสร้าง Soft power โดยการสร้างเนื้อหาให้ผู้บริโภคเกิดความคุ้นชินกับวัฒนธรรมเกาหลีและยอมรับในสินค้าและบริการ แล้วนำไปเชื่อมโยงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวความสำเร็จของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้มีพื้นฐานหลักมาจากการสร้างกระแส K-Drama ผ่านละครชุดทางโทรทัศน์ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศสร้างรายได้ และการสร้างกระแส K-POP ผ่านดนตรีเพื่อส่งออกวัฒนธรรมร่วมสมัยและสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก

จะเห็นว่าในประเทศไทยเอง ละครและดนตรี K-Pop มีบทบาทอย่างมากในการสร้างกระแสวัฒนธรรมเกาหลีให้เป็นที่รู้จัก โดยละครโทรทัศน์ที่นับว่าเป็นการเปิดปรากฏการณ์เกาหลีฟีเวอร์ก็คือ ซีรีส์รัก 4 ฤดู ที่มีละครเรื่องแรก คือ Autumn in My Heart ที่ได้สร้างคำฮิตให้สาวๆ เรียกชายหนุ่มว่า “พี่ชายยยยย” กันอย่างติดปากทั่วเมือง ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ต่อยอดความสำเร็จของละครชุดนี้ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะนามิ สถานที่ถ่ายทำละครเรื่องนี้ มีการสร้างรูปปั้นของพระเอก นางเอก ให้แฟนละครได้ท่องเที่ยวตามรอยละคร จนเกาะนามิกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักอันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน

ตัวอย่างในการใช้ละครเพื่อส่งออกวัฒนธรรม ได้แก่ ละครเรื่องแดจังกึม ที่ไม่ได้โด่งดังไปทั่วโลก เป็นการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ในด้านต่างๆ เช่น การแต่งกาย และการกิน ซึ่งส่งผลให้อาหารเกาหลีกลายเป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคทั่วไป ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังดำเนินบทบาทในการเชื่อมโยงความสำเร็จของละครเข้ากับการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลได้ซื้อสถานที่ถ่ายทำละครแดจังกึมจาก MBCเพื่อนำมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (Korea Tourism Organization)ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเน้นการตามรอยละครแดจังกึม

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมดนตรี K-Pop เองก็เกิดจากการส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่องจริงจังของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้าง Concert halls การสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยี Visual effects หรือแม้กระทั่งการออกระเบียบกำหนดให้ร้านคาราโอเกะต้องมีรายการเพลง K-Pop เป็นหลักภาคเอกชนเองก็มีความเชื่อมั่นต่อนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงของรัฐ กลุ่มนายทุนได้เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของ K-Pop ทำให้เกิดค่ายเพลง 3 ค่ายใหญ่ที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนดนตรี K-Pop ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ศิลปินจากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมอย่างสูงในทั่วเอเชียและเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากดงบังชินกิ (TVXQ), Super Junior, Girls’ Generation, BTSจนมาถึง Black Pink

นอกจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและความร่วมมือของภาคเอกชนในการปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายของวัฒนธรรมเกาหลีก็คือ การเกิดขึ้นของ Social media และสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ทำให้ช่องทางการสร้างความรับรู้หรือความนิยมทำได้ง่ายและกระจายสู่ผู้บริโภคได้กว้างขึ้น

คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย Korea ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดคอนเสิร์ต World Tour รอบสุดท้ายของวง BTS ที่กรุงโซลว่าในช่วง 4 วันที่จัดงานก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมสูงถึง 923 ล้านวอน หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท และจะยังมีผลกระทบภายหลังคอนเสิร์ตสิ้นสุดในอีก 5 ปีข้างหน้าสูงถึง 594 ล้านวอน นอกจากนี้ ผู้เข้าชมคอนเสิร์ตที่เดินทางมาจากต่างประเทศราว 23,000 คน จะเดินทางพร้อมผู้ติดตาม ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ประมาณ 187,000 คน หรือคิดเป็น 67% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในช่วงที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2561จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยี

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

รานี อิฐรัตน์

สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง