Work-Life Balance กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

Work-Life Balance กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

อยากเชิญชวนทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้สนใจเรื่อง Work-Life Balance

คนยุคนี้ใครๆ ก็พูดถึง Work-Life Balance

OECD พึ่งเปิดเผยผลการจัดลำดับประเทศที่ประชาชนมี 'สมดุลระหว่างชีวิตการงานและส่วนตัว' หรือที่เรียกว่า Work-Life Balance ในปี 2019 ผลปรากฏว่า10 อันดับแรกของประเทศที่มี Work-Life Balance ดีสุด ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เดนมาร์ก สเปน ฝรั่งเศส ลิทัวเนีย นอร์เวย์ เบลเยียม เยอรมนี และสวีเดน ทั้งนี้จาก 40 ประเทศที่อยู่ในการสำรวจ โคลอมเบียและเม็กซิโก ได้คะแนนต่ำสุด

ในการจัดอันดับ OECD ใช้ตัวชี้วัดที่ชื่อ Better Life Index เป็นเครื่องมือในการวัดความพึงพอใจของประชาชนต่อชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ผลการสำรวจพบว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อ Work-Life Balance คือ ระยะเวลาการทำงาน ระยะเวลาทำงานยิ่งยาว Work-Life Balance ยิ่งเสียไป ในทางตรงข้าม ระยะเวลาทำงานที่สั้นกว่า ช่วยให้ Work-Life Balance ดีขึ้น

เนเธอร์แลนด์เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ คนเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่มีชั่วโมงการทำงานสั้น มีเวลาพักผ่อน นอนหลับ ทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ มาก มีลูกจ้างชาวเนเธอร์แลนด์เพียง 0.4% ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งต่ำสุดในบรรดาทุกประเทศที่อยู่ในการสำรวจ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มีถึง 11% ของลูกจ้างในกลุ่ม OECD ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

การทำงานที่ยาวนานส่งผลให้เกิดความเครียด ส่งผลต่อสุขภาพ การมี Work-Life Balance ช่วยลดความรู้สึกหมดไฟ (Burnout) ในการทำงาน ลดโอกาสเกิดโรคเครียด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่น โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร ตามมา

ความรู้สึกหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ วารสาร Harvard Business Review เปิดเผยผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า แต่ละปีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการ Burnout ของลูกจ้างสูงถึง 125,000 - 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี่เฉพาะต้นทุนด้านสุขภาพในแต่ละปี ยังไม่รวมต้นทุนความสูญเสียที่ธุรกิจได้รับ ทั้งการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ บรรยากาศการทำงานไม่ดี พนักงานลาออกบ่อย ตลอดจนไม่สามารถรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูงไว้กับองค์กรได้

การสูญเสีย Work-Life Balance ไม่ได้กระทบแต่ตัวคนทำงาน ยังกระทบความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้าง Work-Life Balance ที่ดีช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตพนักงาน ครอบครัวพนักงาน คนรอบข้างพนักงาน ในทางตรงข้าม Work-Life Balance ที่แย่ ก็บั่นทอนคุณภาพชีวิตพนักงาน ครอบครัวพนักงาน คนรอบข้างพนักงานเช่นกัน

Work-Life Balance ยังส่งผลต่อการรับสมัครงานของภาคธุรกิจ บริษัทที่ได้รับการยอมรับว่ามี Work-Life Balance ดี สามารถดึงดูดพนักงานใหม่ได้ง่าย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือยุค Millennial ที่ให้ความสำคัญกับประเด็น Work-Life

Balance ใช้ปัจจัยนี้ในการเลือกสมัครงาน จากการสำรวจของ Bank of America Merrill Lynch ปี 2017 มีวัยรุ่นอเมริกัน (Millennial) ถึง 59% ที่ประสงค์เลือกทำงานกับบริษัทหรืองานที่สอดคล้องกับไลฟสไตล์ตัวเอง

การมี Work-Life Balance นอกจากช่วยดึงดูดคนมีความสามารถให้อยากมาทำงานด้วย ยังช่วยรักษาพนักงานเก่าให้อยู่กับบริษัทต่อไป ตัวอย่างนโยบายที่บริษัทในต่างประเทศใช้เพื่อเพิ่ม Work-Life Balance เช่น เปลี่ยนนโยบายลาคลอดบุตร จากเดิมให้ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์แบบไม่ได้รับเงินเดือน ก็ปรับเพิ่มเป็น 20 สัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือน 10 สัปดาห์ และไม่รับเงินเดือนอีก 10 สัปดาห์

ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้การทำงานสะดวกและยืดหยุ่นขึ้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนเทคโนโลยีจะเป็นดาบสองคมในเรื่อง Work-Life Balance เพราะการติดต่อสื่อสารที่สะดวก 24 ชั่วโมง ทำให้แม้เป็นเวลาพักผ่อน งานการก็ยังตามมาหลอกหลอน เจ้านายตามงาน เพื่อนร่วมงานสอบถามเรื่องงาน หรือตัวเราเองที่อยากทำงานนอกเวลางาน ผลสำรวจของ Accenture ยืนยันเรื่องนี้ จากการสำรวจผู้บริหาร 4,100 คนใน 33 ประเทศ 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า เทคโนโลยีช่วยให้การทำงานมีความยืดหยุ่นขึ้น ช่วยให้ Work-Life Balance ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือราว 70% เห็นว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้งานแยกไม่ออกจากเวลาส่วนตัว ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีต้องมีระดับที่เหมาะสม ไม่ให้กระทบชีวิตส่วนตัวมากเกินไป

Work-Life Balance กลายเป็นเรื่องใหญ่ของคนยุคนี้ ส่งผลต่อทั้งคุณภาพชีวิตคนทำงาน คุณภาพชีวิตครอบครัว สุขภาพกายและใจ ทั้งส่งผลต่อประสิทธิภาพของงาน การดึงดูดแรงงานใหม่ให้มาสมัครงาน และรักษาบุคลากรศักยภาพสูงให้อยู่กับองค์กรต่อไป ภายใต้ยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเป็นดั่งดาบสองคมสำหรับ Work-Life Balance ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นความท้าทายขององค์กรและพนักงานว่าจะสร้าง Work-Life Balance อย่างไร

อยากเชิญชวนทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้สนใจเรื่อง Work-Life Balance กันครับ