“ผังน้ำชุมชน” เครื่องมือพัฒนาชุมชนบางสะแก

“ผังน้ำชุมชน” เครื่องมือพัฒนาชุมชนบางสะแก

จังหวัดสมุทรสงครามจัดเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะความโดดเด่นของระบบนิเวศที่หลากหลาย

ด้วยประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทำการเกษตรเช่นที่ ต.บางสะแก อ.บางคนที คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ ที่มีลักษณะเป็นสวนยกร่อง คือทั้งสวนมะพร้าว กล้วย ส้ม ลิ้นจี่ ส้มโอ และส้มแก้ว มีการขุดคลองซอย หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “ลำประโดง” เชื่อมกับคลองใหญ่เพื่อผันน้ำเข้าร่องสวน 

จากพื้นที่ ต.บางสะแก ทั้งหมด 3,409 ไร่ 5.42 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 7 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 1-2 บ้านบางสะแกใหญ่ หมู่ที่ 3 บ้านบางน้ำผึ้ง หมู่ที่ 4 บ้านบางขุน หมู่ที่ 5 บ้านคลองซื่อ หมู่ที่ 6 บ้านบางสะแกพัฒนา และหมู่ที่ 7 บ้านบางสะแกน้อย ประชากร 2,034 คน 702 ครัวเรือน มีประชากรที่อาศัยอยู่จริงเพียง 1,534 คนเท่านั้น 35.98% ของประชากรทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

แต่เพราะพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เกษตรกรจะใช้น้ำได้ตอนที่น้ำทะเลหนุนสูง คือจะใช้น้ำได้ตอนน้ำขึ้นเท่านั้น ตอนน้ำลงน้ำจะแห้งคลองใช้ไม่ได้ ประกอบกับมีคลองซอยมาก และมีปัญหาคลองในพื้นที่น้ำเข้าไม่ถึง ต่างจากการทำเกษตรโดยทั่วไปที่จะใช้น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำ หรือน้ำจากคลองส่งน้ำในเขตโครงการชลประทาน เกษตรกรก็สามารถสูบน้ำเข้ามาในพื้นที่สวนไร่นาได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ"

"โครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองและลำประโดงที่เชื่อมโยงกับการจัดทำผังเมืองระดับตำบล เพื่อวางแผนการพัฒนาอาชีพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม" ที่จะมีการศึกษาค้นหาปัจจัยและเงื่อนไขการจัดการน้ำในลำคลองและลำประโดงใน ต.บางสะแก นำมาจัดทำ “ผังน้ำระดับตำบล” ค้นหารูปแบบการจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกับการจัดทำผังเมืองระดับตำบล เพื่อวางแผนการพัฒนาอาชีพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ที่สำคัญเพื่อรื้อฟื้นคุณค่าการจัดการน้ำในลำประโดงเชื่อมโยงไปสู่การดูแลรักษาระบบนิเวศสามน้ำของคนใน ต.บางสะแก และ จ.สมุทรสงครามต่อไป

ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทำให้ทราบว่า 20 ลำคลอง 72 ลำประโดง ส่วนใหญ่เป็นลำประโดงสั้นๆ ที่ถูกปิดกั้นจากการถมที่สร้างถนน และการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ และการจัดการน้ำที่ไม่ถูกวิธี ทำให้การจัดทำแผนที่ผ่านมายังไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมและมีข้อมูลอย่างรอบด้าน ขณะที่การสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชน มีการนำเครื่องมือ GPS มาใช้ในการสำรวจเส้นลำคลอง และจัดเก็บข้อมูลของขนาดความกว้างยาวอย่างละเอียด จนได้รูปร่างของลำประโดงที่ชัดเจนขึ้น เพื่อจัดทำเป็น“ฐานข้อมูลแผนที่หรือผันน้ำชุมชน”

“ทั้ง 72 สาย ที่ผ่านมา ชุมชนได้ร่วมกันขุดลอกลำคลองและลำประโดง ผ่านกิจกรรมลงแขกต่อเนื่องกว่า 10 ปี ทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้งหมุนเวียนไปทุกหมู่บ้าน เพื่อตรวจสภาพลำคลอง ตั้งแต่ต้นคลองถึงปลายสุดของตำบล ปัจจุบันพื้นที่ ต.บางสะแก แม้จะไม่พบปัญหาน้ำแห้งคลองเหมือนในอดีต 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่เพราะน้ำคือหัวใจ เพื่อไม่ให้ชุมชนได้รับผลกระทบจากภาวะแล้ง นอกจากกิจกรรมลงแขกลงคลองที่คนในชุมชนร่วมกันทำอย่างต่อเนื่องแล้ว การจัดทำผังน้ำชุมชนจะสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อของบประมาณกับทางจังหวัดนำมาใช้การขุดลอกลำคลองในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือภาวะแล้งที่กำลังจะมาถึงต่อไป”

โดยภาวะแล้งของคนแม่กลอง หมายถึงน้ำในแม่น้ำแม่กลองไม่เข้าร่องสวน ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่กลองไม่มากพอ กรณีที่น้ำในแม่น้ำมีระดับต่ำกว่าคลองทำให้น้ำจากแม่น้ำมีแรงดันไม่พอ เมื่อน้ำไม่เข้าคลอง สวนก็จะไม่มีน้ำใช้ และ 2.ไม่มีการขุดลอก เกิดการตกตะกอนดิน ทำให้ลำคลองตื้นเขิน เมื่อท้องร่องสูงและมีผักตบชวาวัชพืชกีดขวางในลำน้ำก็ยิ่งทำให้น้ำไหลเข้าไปไม่ถึงร่องสวน ปัญหาเกิดจากขาดการละเลยดูแล จึงไม่ใช่หน้าที่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ หรือ อบต.เท่านั้น แต่รวมถึงชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมด้วย

ดังนั้น การจัดทำ “ผังน้ำชุมชน” นอกจากจะเป็นข้อมูลสนับสนุนเรื่องของงบประมาณจังหวัดแล้ว เป็นประโยชน์ในเรื่องเส้นทางท่องเที่ยวตามลำน้ำ แล้วยังคาดหวังว่าหากสามารถจัดทำผังเมืองระดับตำบลควบคู่กับการทำผังน้ำตำบลไปพร้อมๆ กันได้ จะช่วยให้คนในตำบลบางสะแก ยังคงสภาพวิถีชีวิตที่ดี สอดคล้องกับการดูแลรักษาคลองและลำประโดง รวมทั้งจะนำไปสู่การชักชวนคนรุ่นใหม่ให้คืนถิ่นกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรม นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงจากภาคการเกษตร และมีทรัพยากรน้ำที่ดี